เรียนรู้

5 ลางสังหรณ์ ก่อนเกิดแผ่นดินไหว

การทำนายระยะสั้น (short-term prediction) เป็นการคาดการณ์การมาของแผ่นดินไหวในระดับวัน-เดือน ก่อนเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งก็อย่างที่รู้กันว่ากลไกการเกิดแผ่นดินไหวนั้นซับซ้อนมากและกว่าจะเกิดแผ่นดินไหวแต่ละครั้งต้องมีส่วนผสมที่ลงตัว ทั้งเวลาการเก็บพลังงานที่เพียงพอ ชนิดของหินที่จะเป็นตัวบอกว่าแผ่นดินนั้นล๊อคกันได้นานแค่ไหน และอื่นๆ อีกจิปาถะ ถ้าต้องคิดเป็นสมการความสัมพันธ์ ก็คงต้องยาวเหยียด 3-4 หน้ากระดาษ ด้วยเหตุของความซับซ้อนนี้ ในบางครั้งนักแผ่นดินไหววิทยาจึงพยายามมองหา สัญญาณบอกเหตุ (precursor) หรือ ลางสังหรณ์ รูปแบบต่างๆ ก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหว อารมณ์ก็ประมาณว่า ไม่รู้ว่าเกิดมาได้ยังไง แต่ก่อนเกิดได้เห็นปรากฏการณ์แปลกๆ ก็สงสัยได้ว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้น่าจะสื่อว่าแผ่นดินไหวกำลังจะมา ลองมาดูกันครับว่า ลางบอกเหตุที่ว่ามีอะไรบ้าง

1) พฤติกรรมผิดปกติของสัตว์

พฤติกรรมผิดปกติของสัตว์ (animal sensory) มีการพูดถึงมานานแล้วตั้งแต่สมัย 373 ปีก่อนคริสตกาล ชาวกรีซบอกว่าเคยเห็นหนู พังพอน งู และตะขาบ วิ่งพล่านอยู่หลายวันก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหวตามมาหลังจากนั้น 1-2 สัปดาห์ แต่ในตอนนั้นก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมมันต้องตื่นตกใจ หรือเกี่ยวอะไรกับแผ่นดินไหว

ปัจจุบันหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศจีนและญี่ปุ่น พบว่ามีสัตว์หลายชนิดที่มักแสดงพฤติกรรมผิดปกติก่อนเกิดแผ่นดินไหว เช่น วัว ควายวิ่งเปิงขึ้นที่สูง แพะไม่ยอมกินอาหาร หมาแมววิ่งหน้าตาตื่นออกไปที่โลงแจ้ง หมูร้องเสียงแปลกๆ ไก่กระโดดพุ่งชนเล้าและพยายามจะออกจากสุ่ม ปลาว่ายน้ำไปมาอย่างไร้จุดหมาย สัตว์ที่เคยอยู่ในรูหนีออกมา แมลงบินรวมกันเป็นฝูงในบริเวณที่ชื้นแฉะใกล้ฝั่งทะเล ฝูงไส้เดือนชอนไชออกมาตามพื้นดิน เหล่านี้ล้วนเป็นพฤติกรรมของสัตว์ ที่นักแผ่นดินไหวเคยสังเกตเห็นก่อนเกิดแผ่นดินไหวในอดีต

สรุปพฤติกรรมประหลาดของสัตว์ที่แสดงออกก่อนเกิดแผ่นดินไหว (Stein และ Wysession, 2002)

ถ้าคิดด้วยเหตุผลง่ายๆ ก็น่าเชื่อว่า สาเหตุที่ทำให้สัตว์แตกตื่นออกอาการขนาดนั้น น่าจะเป็นเพราะสัตว์มีประสาทสัมผัสที่ดี รับแรงสั่นสะเทือนจาก คลื่นปฐมภูมิ (primary wave หรือ P wave) ซึ่งเป็นคลื่นที่มีแรงสั่นสะเทือนน้อยแต่วิ่งได้เร็วที่สุดและไปถึงที่ต่างๆ ก่อนใครเพื่อน ดังนั้นก่อนที่คนจะถูกทำร้ายด้วยคลื่นขนาดใหญ่อย่างคลื่นทุติยภูมิหรือคลื่นพื้นผิว สัตว์ก็อาจจะแสดงอาการหงิงๆ ออกมาก่อนได้ แต่ก็คงก่อนที่แผ่นดินไหวจะมาแค่ 2-3 นาที ไม่เกินกว่านั้น เพราะสูตรสำเร็จการวิ่งของคลื่นคือ หลังจากคลื่นปฐมภูมิมาไม่นาน ก็ต้องมีคลื่นไหวสะเทือนจัดมาเป็นชุดๆ แต่คำถามคาใจคือ แล้วทำไมหลายต่อหลายครั้ง สัตว์พวกนี้ถึงได้ออกอาการดิ้นพล่านก่อนเกิดแผ่นดินไหวเป็นวันหรือสัปดาห์ ซึ่งไม่น่าจะเป็นเพราะการได้รับคลื่นปฐมภูมิแน่ๆ

แนวคิดที่เชื่อว่าสัตว์สามารถเตือนภัยเราได้ก่อนเป็นสัปดาห์ ก็เพราะว่าสัตว์ต่างๆ น่าจะมีโสตประสาทพิเศษที่รับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพบางอย่างก่อนเกิดแผ่นดินไหว เช่น การเอียงของพื้น การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำใต้ดิน หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพแม่เหล็กของโลกในแถบนั้น ซึ่งตัวแปรเหล่านี้น่าจะเป็นคำตอบได้ดีกว่าคลื่นปฐมภูมิ ในกรณีที่สัตว์แสดงออกมาก่อนเป็นสัปดาห์ๆ

การอพยพของไส้เดือนก่อนเกิดแผ่นดินไหวชิชิ ที่ไต้หวันในปี พ.ศ. 2542 (ที่มา : www.e-pisco.jp)

พวกเราอาจจะคิดว่าสัตว์พวกนี้นั้นเคยเจอแผ่นดินไหวมาก่อนหรืออย่างไร ทำไมถึงได้รู้ว่าอีกไม่นานจะเกิดแผ่นดินไหว แน่นอนว่าสัตว์ส่วนใหญ่มีช่วงชีวิตที่สั้นเกินไปที่จะมีประสบการณ์และจดจำเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้ แต่นักแผ่นดินไหวก็เชื่อว่าพฤติกรรมของสัตว์ที่ตอบสนองต่อแผ่นดินไหวนั้น เป็นพฤติกรรมที่สืบทอดทางพันธุกรรมมาจากบรรพบุรุษ จึงไม่มีปัญหาว่าจะต้องเคยเจอมาก่อนถึงจะตอบสนองได้ คล้ายกับภาษาการบินของผึ้งซึ่งไม่ต้องการการเรียนรู้มาก่อนก็บินได้

อย่างไรเสีย ข้อด้อยของการอาศัยสัตว์เป็นที่พึ่งนั้นก็ยังมี เช่น ความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของพฤติกรรมและอารมณ์ของสัตว์ เพราะเราก็ไม่ได้รู้กระจ่างว่าสัญญาณอะไรมันไปกระตุกต่อมไหนของสัตว์แต่ละชนิด ดังนั้นจึงเห็นอยู่เนืองๆ ว่าทั้งคนและสัตว์ก็ต้องสังเวยแผ่นดินไหวไปพร้อมๆ พอๆ กัน หรืออีกกรณีเรื่องการใช้คลื่นปฐมภูมิเป็นตัวบอกเหตุ นักแผ่นดินไหวพบว่าหลายครั้งที่ดูเหมือนสัตว์ก็อยากจะวิ่งออกมา หรืออยากจะตะโกนบอกเราว่าแผ่นดินไหวใหญ่กำลังจะมา คลื่นปฐมภูมิมันมาแล้ว แต่สัตว์โดยเฉพาะพวกที่อยู่ในรู ในหลุม ถ้าอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว รูหรือหลุมนั้นอาจจะถล่มปิดทับสัตว์ สละชีพไปก่อนแล้วก็เป็นได้

แน่นอนว่าการพึ่งสัตว์มันไม่แน่นอน แต่ถ้ามองในแง่ดี แทบทุกบ้านก็มีสัตว์เป็นเพื่อน ในยามวิกฤตแผ่นดินไหว ก็ถือว่าสัตว์พวกนี้ให้คุณมากกว่าให้โทษ ผมว่าอย่างน้อยก็ดีกว่าไม่มีอะไรให้พึ่งเลย

2) แสงแผ่นดินไหว

แสงแผ่นดินไหว (earthquake light) สมัยก่อนที่จะมีเทคโนโลยีเกี่ยวกับไฟฟ้า แสงไฟลึกลับมักถูกเชื่อมโยงกับแผ่นดินไหว มีพยานมากมายกล่าวอ้างถึงปรากฏการณ์แสงไฟประหลาดที่มักจะมาพร้อมกับแผ่นดินไหว เช่น Musha (1931) พบบันทึกที่บอกว่า มีคนเห็นแสงไฟคล้ายแฟลตและได้ยินเสียงเหมือนฟ้าร้องก่อนเกิดแผ่นดินไหวอีสุ (Izu earthquake) ในวันที่ 26 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2473

อีกกรณีในปี พ.ศ. 2294 ชาวประโมงออกไปหาปลาทะเลในช่วงหัวค่ำ เมื่อแล่นเรือออกจากฝั่งไปประมาณ 30 กิโลเมตร พวกเขาสังเกตเห็นแสงสีแดงบนท้องฟ้าเหนือหมู่บ้านที่เขาอาศัยอยู่ ชาวประมงจึงรีบกลับไปยังหมู่บ้านเพราะกลัวว่าจะเกิดไฟไหม้ แต่ก็ไม่พบอะไร ต่อมาในเวลาเที่ยงคืนของวันเดียวกัน เกิดเสียงดังเหมือนปืนใหญ่ ภูเขาแยกออกเป็นสองฝั่ง ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนั้น มีผู้หญิงรอดชีวิตเพียงคนเดียว ซึ่งก็คือผู้ที่เล่าเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ยังมีพยานหลายคนที่เห็นฟ้าแลบแปลกๆ และเห็นลูกไฟเคลื่อนไหวไปในรูปทรงต่างๆ ในช่วงเวลาของการเกิดแผ่นดินไหวเซ็นโกจิ (Zenkoji) ในปี พ.ศ. 2390 ต่อมาก็มีการเก็บภาพของปรากฏการณ์เรืองแสงในอีกพื้นที่ซึ่งใกล้กับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวมาซึชิโร่ (Matsushiro) (Yasui, 1968) ในปี พ.ศ. 2508-2510 ดังนั้นในเวลาต่อมา Daigo (1985) จึงสรุปว่า แสงไฟสีแดงบนท้องฟ้าที่เหมือนกับไฟไหม้ป่าตอนกลางคืน เป็นเหมือนสัญญาณการมาของแผ่นดินไหวใหญ่หรือสึนามิในพื้นที่ใกล้เคียง

แสงแผ่นดินไหวยามค่ำคืน ก่อนเกิดแผ่นดินไหวมาซึชิโร่ พ.ศ. 2510 (Yasui, 1968)

ด้วยปรากฏการณ์ประหลาดจากคำบอกเล่าที่หนาหู นักวิทยาศาสตร์จึงเริ่มให้ความสนใจถึงปรากฏการณ์แสงประหลาดที่เกิดขึ้นก่อนหรือระหว่างเกิดแผ่นดินไหว Derr (1973) และนักวิทยาศาสตร์อีกหลายกลุ่ม ได้ทดลองในห้องปฏิบัติ และสรุปในเชิงวิทยาศาสตร์ว่า แสงจากแผ่นดินไหวน่าจะเกิดจากการบดขยี้ของหินในช่วงก่อนหรือระหว่างการเกิดแผ่นดินไหว ดังนั้นแสงจากแผ่นดินไหวจึงเป็นอีกหนึ่งสัญญาณทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยเตือนคนก่อนเกิดแผ่นดินไหวได้

3) เมฆและกลุ่มควันแผ่นดินไหว

เมฆและกลุ่มควันแผ่นดินไหว (earthquake cloud and flog) ในอดีตมีประสบการณ์มากมายที่เล่ากันปากต่อปากว่า เมฆบางรูปร่างมีความเกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว บันทึกที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับเมฆแผ่นดินไหวพบในอียิปต์และญี่ปุ่น ซึ่งรายงานคล้ายกันว่า บริเวณศูนย์กลางแผ่นดินไหวมักจะมีเมฆหรือกลุ่มควันหนาแน่น ทั้งๆ ที่บริเวณรอบข้างนั้นมีสภาพอากาศสดใส นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2302 ประเทศญี่ปุ่นยังได้เผยแพร่บทความวิชาการเพื่ออธิบายถึงรูปแบบของเมฆที่สัมพันธ์กับสภาพอากาศหรือแผ่นดินไหว เช่น (รูปซ้าย) อาจมีพายุฝนหนักในพื้นที่หรืออาจเกิดแผ่นดินไหวภายใน 3 วันหลังจากเกิดเมฆแบบนี้ (รูปกลาง) ฟ้าร้องภายใน 4 ชั่วโมง หรือถ้าเมฆแบบนี้ปรากฏระหว่างเดือนกันยายน-เดือนเมษายน มักเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ และ (รูปขวา) จะเกิดฝนฟ้าคะนองอย่างสาหัสหรือแผ่นดินไหวใหญ่

รูปแบบเมฆที่สัมพันธ์กับแผ่นดินไหว (Kamei, 2000)

ประสบการณ์ของชาวบ้านก็เป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าเมฆบางอย่างสัมพันธ์กับแผ่นดินไหว เช่น ที่เกาะซาโดะ (Sado) ในทะเลญี่ปุ่น ซึ่งมีชื่อเสียงเกี่ยวกับการทำเหมืองทอง ชาวเหมืองรู้ว่าถ้ามีเมฆหรือกลุ่มควันประหลาด แสดงว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในไม่ช้า ซึ่งความรู้นี้ก็ใช้ได้ผล เพราะจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.6 ในปี พ.ศ. 2345 (Musha, 1932) ชาวเหมืองทุกคนรอด

ปัจจุบันนักแผ่นดินไหวก็พอจะรู้เลาๆ ว่า เมฆพวกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความบังเอิญ มันมีความสัมพันธ์กับแผ่นดินไหวจริงๆ แต่ความสัมพันธ์นั้นก็เดาเอาว่า น่าจะเกิดจากก๊าซบางอย่างที่รั่วไหลมาตามรอยแตก ระหว่างที่รอยเลื่อนกำลังเริ่มเคลื่อนตัว หรืออาจจะเป็นเพราะสภาพทางแม่เหล็กไฟฟ้าที่ปั่นป่วนในบริเวณนั้นระหว่างที่มีการขัดสีกันของหิน ผมก็หมดปัญญาที่จะสรุปเป็นสูตรสำเร็จหรือเกณฑ์ตายตัวได้ว่าเห็นเมฆแบบไหนแล้วแผ่นดินไหวจะมา เอาเป็นว่าขออนุญาตรวบรวมรูปฝากเอาไว้ เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ให้พวกเราระวังไว้บ้างถ้าเจอเมฆแบบนี้ ซึ่งรูปด้านล่างเป็นบางส่วนที่นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งได้ถ่ายเอาไว้ในช่วงเวลาก่อนหรือระหว่างเกิดแผ่นดินไหวเหตุการณ์ต่างๆ ในรัฐรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งพอจะแยกความแตกต่างได้บ้าง ดังนี้

  • เมฆเส้น (Line shape) เกิดขึ้นมาเฉยๆ เหมือนกับควันเครื่องบินไอพ่น หลังจากนั้นเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.7 เมื่อวันที่ 17 เดือนมกราคม พ.ศ. 2537
  • เมฆคลื่น (Wave shape) เกิดขึ้นก่อนที่จะมีแผ่นดินไหวขนาด 6.8 เมื่อวันที่ 19 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย
  • เมฆขนนก (Feather shape) พบก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 เมื่อวันที่ 27 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2537 นอกชายฝั่งรัฐโอเรกอน และ
  • เมฆแผ่กระจาย (Radiation shape) เกิดขึ้นก่อนที่จะมีแผ่นดินไหวขนาด 4.4 เมื่อวันที่ 14 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2539
 เมฆรูปแบบต่างๆ ที่ถ่ายได้ก่อนเกิดแผ่นดินไหว ในรัฐแคลิฟอร์เนีย (ที่มา : www.GISdevelopment.net)

4) การเปลี่ยนแปลงน้ำใต้ดิน

การเปลี่ยนแปลงน้ำใต้ดิน (ground water change) เป็นอีกหนึ่งลางบอกเหตุที่นักแผ่นดินไหวพบและนิยมใช้ในปัจจุบัน นักแผ่นดินไหวชาวจีนเคยรายงานเอาไว้ว่า ก่อนเกิดแผ่นดินไหวได้สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างของน้ำในบ่อบาดาล ใกล้ๆ กับศูนย์กลางแผ่นดินไหว เช่น น้ำขุ่นขึ้น มีการหมุนวนของน้ำ ระดับน้ำเปลี่ยนแปลง มีฟองอากาศ และมีรสขม

อีกตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำใต้ดิน คือ ผลการตรวจวัดระดับน้ำจากบ่อบาดาล 188 บ่อ ในไต้หวัน ช่วงก่อนและหลังแผ่นดินไหวชิชิ วันที่ 21 เดือนกันยายน พ.ศ. 2542 (Chen และคณะ, 2012) ส่วนกรณีแผ่นดินไหวขนาด 6.1 ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็พบว่าระดับน้ำในบ่อบาดาลใกล้กับเมืองปาร์คฟิลด์ (Parkfield) เพิ่มสูงขึ้นก่อนเกิดแผ่นดินไหว

ผลการรวบรวมข้อมูลจากหลายๆ กรณีศึกษาที่ผ่านมา พบว่าแนวโน้มทั่วไปก่อนเกิดแผ่นดินไหว จะพบระดับน้ำลดลงในช่วงเวลาหลักเดือนหรือปี โดยน้ำจะลดเร็วขึ้นในช่วง 2-4 สัปดาห์ก่อนเกิดแผ่นดินไหว และหลังจากนั้นจะมีการเพิ่มระดับน้ำอย่างรวดเร็วก่อนเกิดแผ่นดินไหวประมาณ 2-3 วัน หรือภายใน 24 ชั่วโมง

การเปลี่ยนแปลงของสัญญาณต่างๆ (ซ้ายบน) ระดับน้ำใต้ดินระหว่างเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.1 รัฐแคลิฟอร์เนีย  สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2528 (ซ้ายล่าง) ความเช้มข้นของก๊าซเรดอน ก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.2 พ.ศ. 2538 เมืองโกเบ ญี่ปุ่น (ขวา) ก๊าซฮีเลียม ก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.9 เมืองโลมาพริตา สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2532

นอกจากระดับน้ำที่กวัดแกว่ง นักแผ่นดินไหวยังพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในเชิงความเข้มข้นทางเคมีอื่นๆ ร่วมด้วยในระหว่างหรือก่อนเกิดแผ่นดินไหว เช่น ก๊าซฮีเลียม ไฮโดรเจน คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ หรือมีเทนที่ปนอยู่ในน้ำ (Monnin และ Seidel, 1992; Etiope และ Martinelli, 2002)

ความผิดปกติต่างๆ ดังกล่าว คือ สัญญาณบอกเหตุ (precursor) ที่บ่งบอกว่าแผ่นดินไหวมีโอกาสเกิดขึ้น แต่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นทุกครั้งที่เกิดความผิดปกติ

5) สัญญาณทางอวกาศ

สัญญาณทางอวกาศ (atmospheric change) หลังจากศตวรรษที่ 21 นักวิทยาศาสตร์พยายามที่จะนำเอาเทคโนโลยีทางอวกาศมาประยุกต์ใช้กับการศึกษาแผ่นดินไหว จะเห็นได้จากการส่งดาวเทียม QuakeSat สัญชาติอเมริกัน ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2546 โดยมีภารกิจเพื่อศึกษาว่ามีปัจจัยทางอวกาศด้านใดบ้างที่วัดได้จากเครื่องรับสัญญาณจากดาวเทียม และบอกถึงการเกิดแผ่นดินไหวได้ ผลจากการสำรวจพบคุณสมบัติที่น่าสนใจอยู่หลายตัวแปร เช่น การเปลี่ยนแปลงความถี่ของสัญญาณทางอวกาศ อุณหภูมิ อัตราการควบแน่นของอนุภาค และการเปลี่ยนแปลงของมวลไออนเฉลี่ย ซึ่งตัวแปรที่ผมฝอยๆ มานี้คงจะไกลตัวพวกเราไปหน่อย แต่เอาเป็นว่านักแผ่นดินไหวพบว่าการเปลี่ยนแปลงพวกนี้ มีให้เห็นในช่วงระยะเวลา 1-5 วัน ก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหว

(ซ้าย) ดาวเทียม QuakeSat เพื่อศึกษาปัจจัยทางอวกาศที่เป็นสัญญาณบอกเหตุแผ่นดินไหว (ขวา) การเปลี่ยนความถี่ของสัญญาณอวกาศ อุณหภูมิ อัตราการควบแน่น มวลไออนเฉลี่ย ซึ่งมักพบ 1-5 วัน ก่อนเกิดแผ่นดินไหว

นอกจากนี้ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงหรือการแกว่งของตัวแปรอีกหลายต่อหลายอย่างที่นักแผ่นดินไหวดูแล้วว่าน่าจะเอามาใช้เป็นลางหรือสัญญาณบอกเหตุได้ เช่น ความเอียงเทของสภาพพื้นที่ในแถบนั้น เนื่องจากก่อนเกิดแผ่นดินไหวจะมีการปรับเปลี่ยนสภาพพื้นที่อย่างผิดปกติ ซึ่งนักแผ่นดินไหวบางกลุ่มก็นั่งเฝ้าตรวจวัดความเอียงหรือการเลื่อนของแผ่นดินอย่างเงียบๆ ในบริเวณที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว

วิธีการตรวจวัดการเอียงเทหรือการเหลื่อมกันของรอยเลื่อนด้วยแสงเลเซอร์

บางครั้งก็เอาเครื่องมือที่มีความพิเศษเฉพาะตัว ไปติดตั้งใกล้ๆ รอยเลื่อนเพื่อตรวจวัดปริมาณของก๊าซเรดอน ก๊าซฮีเลียม ซึ่งมักจะมีความเข้มข้นสูงในบริเวณรอยเลื่อน และมีการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้น ในช่วงสัปดาห์หรือเดือนก่อนเกิดแผ่นดินไหว (Chyi และคณะ, 2002; Planinic และคณะ, 2004)

การเปลี่ยนแปลงค่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Field) ก็เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่ใช้ได้ เพราะการเคลื่อนที่ของมวลอย่างรุนแรงจนทำให้เกิดแผ่นดินไหวนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสนามไฟฟ้าใต้โลกในชั่วขณะได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลก ก่อนเกิด แผ่นดินไหวขนาด 5.0 ในไต้หวัน หรือการตรวจพบความผิดปกติของสนามไฟฟ้าก่อนเกิดแผ่นดินไหวโลมา พริตาในปี พ.ศ. 2532 เป็นต้น หรือถ้าให้นักแผ่นดินไหวพวกที่หมกมุ่นในสถิติ ก็ใช้วิธีการดูการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเกิดแผ่นดินไหว หรือ การเปลี่ยนแปลงของอัตราส่วนของความเร็วคลื่นปฐมภูมิและทุติยภูมิ ก็พูดกันได้ ก็ว่ากันไป

ปิดท้ายก่อนจบ ถึงแม้ว่าการทำนายแผ่นดินไหวให้ถูกต้องแม่นยำจะยังดูห่างไกล เพราะลางบอกเหตุนั้นไม่ได้แสดงให้เห็นทุกครั้งก่อนเกิดแผ่นดินไหว และใช่ว่าเจอลางบอกเหตุแล้วจะเกิดแผ่นดินไหวทุกครั้งไป อย่างไรก็ตาม นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวของความพยายามจากนักแผ่นดินไหวที่น่ายกย่อง ถ้ามีน้ำชาอยู่ใกล้มือ ผมก็อยากจะขอคารวะซักจอกสองจอง

“เพราะอย่างน้อย…พวกพี่ๆ นักแผ่นดินไหว ก็ไม่ได้ปล่อยให้ชีวิตพวกเราลอยไปตามยถากรรม”

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: