เรียนรู้

คลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surge)

คลื่นพายุซัดฝั่งเรียบเรียง : สิริรักษณ์ บุญเย็น และ สันติ ภัยหลบลี้

คลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surge) หรือที่เรียกกันว่า สตอร์ม เซิร์จ หลายคนเมื่อได้ยินคำนี้แล้วอาจจะไม่คุ้นหูมากนัก และอาจจะยังไม่รู้ถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากพายุซัดฝั่งนี้ แต่ถ้าหากบอกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีความรุนแรงไม่ต่างจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก สึนามิ (tsunami) แล้ว คงทำให้เป็นที่น่าสนใจมากขึ้นของใครหลายๆคน และมีข้อมูลที่สำคัญที่ระบุไว้ด้วยอีกว่า คลื่นพายุซัดฝั่งนั้นเป็นภัยพิบัติซึ่งถือว่ามีความเสียหายและรุนแรงกว่าสึนามิ เนื่องจากมีปัจจัยของพายุมาเกี่ยวข้องและสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยกว่าอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม คลื่นพายุซัดฝั่งนั้นก็ยังสามารถป้องกันได้ดีกว่าสึนามิ ด้วยเหตุผลที่ว่ามีระบบสัญญาณเตือนจากพายุเป็นตัวแปรสำคัญ ส่วนสึนามินั้นเป็นภัยธรรมชาติที่ยากต่อการทำนาย และหากเกิดขึ้นแล้วก็จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและฉับพลัน หากไม่มีระบบการเตือนภัยที่ทันท่วงทีอาจส่งผลให้มีเวลาไม่เพียงพอต่อการเตรียมตัวสำหรับอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย ก็สามารถนำไปสู่ความเสียหายครั้งใหญ่ได้

สภาพจริงของภัยพิบัติจากคลื่นพายุซัดฝั่ง

คลื่นพายุซัดฝั่ง คืออะไร

คลื่นพายุซัดฝั่ง หรือที่เรียกอีกอย่างว่า น้ำขึ้นหนุนจากพายุ (storm tide) คือคลื่นของมวลน้ำขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจากแรงลมของ พายุหมุนเขตร้อน (tropical cyclone) ที่มีความเร็วลมมากกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเกิดในมหาสมุทรและเคลื่อนตัวด้วยความเร็วในขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับพื้นมหาสมุทร คือมีการเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณที่ตื้นกว่า ทำให้คลื่นยกตัวสูงขึ้นกลายเป็นคลื่นขนาดใหญ่และพัดเข้าซัดชายฝั่ง

พายุหมุนเขตร้อนแบ่งตามระดับคววามรุนแรงได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ พายุดีเปรสชัน (depression) พายุโซนร้อน (tropical storm) และ พายุไต้ฝุ่น (typhoon)

อิทธิพลของคลื่นซัดฝั่งที่มีอิทธิพลต่อประเทศไทย ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากพายุหมุนเขตร้อนที่มีจุดกำเนิดแถบทะเลจีนใต้ โดยมีความเร็วลมมากกว่า 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป และมักจะเกิดในช่วงฤดูฝนของประเทศไทย ซึ่งก็คือช่วงเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนธันวาคม จากจุดกำเนิดพายุดังกล่าว พื้นที่เสี่ยงภัยของประเทศไทยต่อการเกิดพายุซัดฝั่งคือบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกฝั่งอ่าวไทย เช่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดจันทบุรีจังหวัดชลบุรี เป็นต้น

ปกติคลื่นทะเลบริเวณอ่าวไทยนั้นมักจะมีความสูงปานกลาง ซึ่งมีระดับของคลื่นประมาณ 1-2 เมตร แต่ถ้าหากมีพายุเข้ามากระทำร่วมกันกับคลื่น จะทำให้คลื่นมีการยกตัวสูงมากยิ่งขึ้นกลายเป็นคลื่นของมวลน้ำขนาดใหญ่ หากพูดถึงปัจจัยที่ทำให้บริเวณชายฝั่งเกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากคลื่นซัดฝั่งก็คือ สภาพพื้นที่ของชายฝั่งนั่นเอง หากชายฝั่งยิ่งมีความลาดชันน้อยและมีความกว้าง จะยิ่งทำให้คลื่นมีพลังในการทำลายล้างชายฝั่งมากยิ่งขึ้น

(ซ้าย) น้ำท่วมจากคลื่นพายุซัดฝั่งรัฐลุยเซียนา เนื่องจากพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา (ขวา) เปรียบเทียบก่อนและหลังเกิดเหตุการณ์คลื่นพายุซัดฝั่ง ซึ่งเกิดจากพายุเฮอริเคนแซนดี้ ซัดเข้าฝั่ง ณ เกาะสแตเทนของนิวยอร์ก จะเห็นได้ว่าท่าเรือได้รับความเสียหายและเรือถูกพัดขึ้นฝั่งเป็นจำนวนมาก

คลื่นพายุซัดฝั่งต่างกับการเกิดสึนามิอย่างไร

คลื่นพายุซัดฝั่งและสึนามินั้นถือเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทางทะเลเหมือนกัน แต่ทั้งสองปรากฏการณ์นั้นเกิดด้วยสาเหตุปัจจัยที่แตกต่างกัน คลื่นพายุซัดฝั่งนั้นเกิดจากพายุเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่เข้าซัดชายฝั่ง แต่ในขณะที่สึนามินั้นไม่ได้เกิดจากพายุ สึนามิเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การปะทุของภูเขาไฟหรือแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ในแนวดิ่งใต้ท้องทะเล เป็นต้น

ภาพจำลองการเกิดสึนามิอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศใต้น้ำ

เพิ่มเติม : ความพิเศษของ “สึนามิ” ที่คลื่นน้ำอื่นๆ ไม่มี

ฤดูกาลที่มักเกิดคลื่นพายุซัดฝั่งในประเทศไทย

ข้อมูลจากจากศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุถึงข้อมูลของช่วงที่มักเกิดคลื่นพายุซัดฝั่งว่า พายุหมุนเขตร้อนที่มีความแรงในระดับพายุโซนร้อนขึ้นไปอาจก่อตัวในบริเวณอ่าวไทยตอนล่างโดยตรง หรืออาจก่อตัวในบริเวณทะเลจีนใต้แล้วเคลื่อนตัวผ่านปลายแหลมญวนซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนามและเข้าสู่อ่าวไทย ในช่วงเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนธันวาคมซึ่งตรงกับฤดูฝนของประเทศไทย

โดยพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดคลื่นพายุขัดฝั่งได้มาก ได้แก่ บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออก คือ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา รวมทั้งภาคตะวันออก คือจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ดังนั้นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยจากคลื่นพายุซัดฝั่งควรเตรียมรับมือและเฝ้าระวัง รวมถึงติดตามข่าวสารอยู่เสมอเพราะหากเกิดภัยพิบัติขึ้นจะได้อพยพออกจากพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที

โดยพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดคลื่นพายุขัดฝั่งได้มาก ได้แก่ บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออก คือ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา รวมทั้งภาคตะวันออก คือจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ดังนั้นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยจากคลื่นพายุซัดฝั่งควรเตรียมรับมือและเฝ้าระวัง รวมถึงติดตามข่าวสารอยู่เสมอเพราะหากเกิดภัยพิบัติขึ้นจะได้อพยพออกจากพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที

คลื่นพายุซัดฝั่ง ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

  • พายุไต้ฝุ่นไอดา (Ida) เมื่อวันที่ 26 เดือนกันยายน พ.ศ. 2501 พัดเข้าประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในกรุงโตเกียว เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม สร้างความเสียหายต่อประชาชนจำนวนมาก
  • พายุโซนร้อนแฮร์เรียต (Harriet) เกิดช่วงวันที่ 25-26 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2505 มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 300 กิโลเมตร ก่อให้เกิดความเสียหายบริเวณชายฝั่งแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างรุนแรง
  • พายุหมุนไซโคลนโบลา (Bhola) ในอ่าวเบงกอล ช่วงวันที่ 12 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2513 ทำลายชายฝั่งบังคลาเทศและอินเดีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 500,000 คน
  • พายุไต้ฝุ่นเกย์ (Gay) หรือ พายุไซโคลนกาวาลี (Kavali) เกิดในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2532 พัดถล่มคาบสมุทรมาลายู และสร้างความเสียหายให้กับจังหวัดชุมพของประเทศไทยอย่างรุนแรง
  • พายุไต้ฝุ่นลินดา (Linda) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2540 โดยก่อตัวในทะเลจีนใต้ตอนล่าง สร้างความเสียหายให้กับประเทศเวียดนามอย่างหนัก เมื่อเคลื่อนตัวผ่านประเทศไทยก็ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน น้ำท่วมฉับพลัน เช่น ในพื้นที่ของจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม และราชบุรี
  • พายุเฮอร์ริเคนแคทรินา (Katrina) เมื่อวันที่ 29 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2548 ที่รัฐหลุยส์เซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อตัวในมหาสมุทรแอตแลนติก มีผู้ได้รับผลกระทบจากความเสียหายในครั้งนั้นกว่าหนึ่งล้านคนและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
  • พายุหมุนนาร์กีส (Nargis) เกิดระหว่างช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 ทำลายพื้นที่โดยรอบมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ โดยเฉพาะประเทศพม่า
  • พายุโซนร้อนปาบึก (Pabuk) เมื่อวันที่ 4 เดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ซึ่งจัดเป็นพายุโซนร้อนนอกฤดูกาล โดยนักวิชาการนิยามว่าเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ไม่ต่างจากพายุแฮร์เรียตที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ความเสียหายในครั้งนี้ส่งผลให้สายการบินหลายเที่ยวบินถูกยกเลิก ชาวประมงจำนวนมากยุติการเดินเรือรวมถึงมีต้นไม้หักโค่นเป็นจำนวนมาก

การเตรียมรับมือคลื่นพายุซัดฝั่ง

  • สร้างแนวป้องกันชายฝั่ง เช่น ปลูกป่าโกงกาง เพื่อลดแรงกระแทกของคลื่นจากพายุที่ซัดเข้าฝั่ง
  • ให้ความรู้คลื่นพายุซัดฝั่งแก่สาธารณชน ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน ชาวประมงหรือนักท่องเที่ยว ให้ทราบถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นรวมถึงวิธีการรับมือและแนวทางปฏิบัติหากเกิดภัยพิบัติ และหมั่นฝึกซ้อมเตรียมการรับมืออยู่เสมอ
  • ติดตามข่าวสารพายุหมุนเขตร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยาอยู่เสมอ หากสภาพอากาศมีแนวโน้มที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ให้เตรียมการอพยพคนและสิ่งของออกจากพื้นที่เสี่ยงไปยังที่ปลอดภัย
  • หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการศึกษาและวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เพื่อกำหนดแนวทาง มาตรการ บรรเทาและฟื้นฟูต่อประชาชนและพื้นที่ประสบภัยต่อไป
  • กักตุนสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น น้ำ อาหาร ยาและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น เพื่อเตรียมรับมือล่วงหน้า
  • เมื่อพายุเข้าควรหลีกเลี่ยงการออกนอกเคหะสถาน ไม่ควรเข้าใกล้แหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ ชายฝั่งทะเล หรือทางระบายน้ำ
  • หากเกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง ตั้งสติ หลบอยู่ในพื้นที่มั่นคง รีบวิ่งขึ้นที่สูงที่คาดว่าน้ำไม่สามารถท่วมถึงได้
  • อย่ารีบออกจากพื้นที่หลบภัยจนกว่าจะได้รับข้อมูลว่าสถานการณ์ปลอดภัยดีแล้ว
  • ควรมีเบอร์ติดต่อของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: