เรียบเรียงโดย : ภวัต วัฒนจารีกูล และ สันติ ภัยหลบลี้

ไฟป่า (wildfire) ตามคำจำกัดความของ Brown และ Davis (1973) คือ ไฟที่ปราศจากการควบคุม ลุกลามอย่างอิสระจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเศษซากต้นไม้และวัชพืชที่แห้งตาย รวมถึงพืชสดที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยไฟป่าแตกต่างจากอัคคีภัยประเภทอื่นๆ คือไฟป่าจะกินพื้นที่กว้าง ลุกลามรวดเร็ว และคาดเดาการเกิดได้ยาก ซึ่งไฟป่าจะเกิดขึ้นได้ต้องมีครบทั้ง 3 ปัจจัย ที่เอื้อต่อการเกิดไฟ หากขาดปัจจัยใดๆ ไฟป่าจะไม่เกิดขึ้นหรือหากเกิดจะดับในเวลาอันสั้น ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัย เรียกว่า สามเหลี่ยมแห่งไฟ (fire triangle) ได้แก่

(ซ้าย) สามเหลี่ยมแห่งไฟ (ขวา) ประเภทของไฟป่า
  1. เชื้อเพลิง คือ อินทรียสารทุกชนิดที่ติดไฟได้ ทั้งต้นไม้ กิ่ง ก้าน ตอ กอ รวมไปถึง ดินอินทรีย์ (peat soil) และ ชั้นถ่านหินที่อยู่ใต้ผิวดิน (coal seam)
  2. ออกซิเจน หมายถึง ก๊าซที่เป็นองค์ประกอบหลักของอากาศโดยทั่วไป ซึ่งโดยปกติในป่าจะมีออกซิเจนกระจายอยู่อย่างสม่ำเสมอ แต่อาจผันแปรได้บ้างตามความเร็วและทิศทางลม
  3. ความร้อน คือ แหล่งกำเนิดความร้อนโดยแบ่งได้ 2 ประเภท คือ แหล่งความร้อนตามธรรมชาติ เช่น 1) ฟ้าผ่า ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดไฟป่าตามธรรมชาติ 2) การเสียดสีกันของกิ่งไม้ พบได้ในผืนป่าที่มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นและมีสภาพอากาศร้อน และ 3) ภูเขาไฟปะทุ ซึ่งการเกิดไฟป่ามักจะเป็นผลที่ตามมาหลังจากการปะทุของภูเขาไฟ

นอกจากนี้แหล่งความร้อนที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ ได้แก่

  • การเก็บของป่า ซึ่งมักจะมีการจุดไฟเผาให้พื้นป่าโล่งเพื่อความสะดวก หรือให้แสงสว่างในระหว่างการเดินผ่านป่าในเวลากลางคืน
  • การเผาไร่ เกษตรกรบางกลุ่มมักจะเผาไร่เพื่อกำจัดวัชพืชและเศษพืชหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกในฤดูถัดไป ซึ่งการเผาไร่ในบางครั้งทำให้ลุกลามจนเกิดไฟป่า
  • การปศุสัตว์ บางครั้งมีการลอบจุดไฟเผาป่าให้โล่ง เพื่อให้เกิดทุ่งหญ้าสำหรับเป็นแหล่งอาหารสัตว์
  • การล่าสัตว์ โดยจุดไฟไล่ให้สัตว์หนีออกจากที่ซ่อน หรือจุดไฟเพื่อให้แมลงบินหนีไฟ นกชนิดต่าง ๆ จะบินมากินแมลง แล้วดักยิงนก หรือจุดไฟเผาทุ่งหญ้า เพื่อให้หญ้าใหม่แตกระบัด ล่อให้สัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น กระทิง กวาง กระต่าย มากินหญ้า แล้วดักรอยิงสัตว์

ซึ่งจากงานวิจัยของ Balch และคณะ (2017) บ่งชี้ว่าสาเหตุการเกิดไฟป่าในประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี ค.ศ. 1992-2012 โดยส่วนใหญ่เป็นไฟป่าที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมมนุษย์ทั้งสิ้น

แผนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแสดงปริมาณและการกระจายตัวของไฟป่าที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ในช่วงปี ค.ศ. 1992-2012 (Balch และคณะ, 2017)

ประเภทของไฟป่า

หากพิจารณาระดับการเผาไหม้ในแนวดิ่งของต้นไม้เป็นเกณฑ์ Brown และ Davis (1973) แบ่งประเภทของไฟป่า ดังนี้

1) ไฟใต้ดิน (ground fire) คือ ไฟป่าที่เกิดจากไฟไหม้อินทรียวัตถุบนพื้นผิวดินและต่อมาลุกลามลงไปถึงใต้ดิน มักเกิดในป่าที่มีอัตราการย่อยสลายอินทรียวัตถุต่ำ ทำให้มีอินทรียวัตถุสะสมเป็นชั้นหนาอยู่บนผิวดิน การไหม้มีลักษณะเป็นเปลวไฟ มีควันน้อย สร้างความเสียหายให้แก่รากต้นไม้ ไฟใต้ดินจำแนกได้ 2 ประเภท คือ

  • ไฟใต้ดินสมบูรณ์แบบ (true ground fire) ไฟไหม้เฉพาะชั้นใต้ดินอย่างเดียว แทบไม่มีเปลวไฟและควันปรากฏขึ้นบนผิวดิน อยู่ในพื้นที่อาจไม่ทราบได้ว่าเกิดเหตุไฟไหม้
  • ไฟกึ่งผิวดินกึ่งใต้ดิน (semi-ground fire) ไฟไหม้ให้เห็นทั้งบนพื้นผิว และมีการไหม้ในส่วนชั้นอินทรียวัตถุที่อยู่ใต้ดิน
ไฟใต้ดิน (ground fire)

2) ไฟผิวดิน (surface fire) คือ ไฟที่ไหม้ลุกลามไปตามผิวดิน โดยเผาไหม้เชื้อเพลิงบนพื้นป่า ได้แก่ ใบไม้ กิ่งก้านไม้แห้ง เป็นไฟป่าทั่วไปที่พบได้แทบทุกที่ทั่วโลก รวมถึงไฟป่าส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไฟผิวดินไม่ทำให้ต้นไม้ใหญ่ตายทันที่ แต่มักจะทำให้การเจริญเติบโตของต้นไม้ลดลง คุณภาพของเนื้อไม้ลดลง ความแข็งแรงของต้นไม้ลดลง

ไฟผิวดิน (surface fire)

3) ไฟเรือนยอด (crown fire) คือ ไฟที่ไหม้ลุกลามจากยอดของต้นไม้หรือไม้พุ่มต้นหนึ่งไปยังยอดของต้นไม้หรือไม้พุ่มอีกต้นหนึ่ง มักเกิดบริเวณป่าสนในเขตหนาว ซึ่งไฟป่าประเภทนี้มีอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมากที่สุด เพราะยอดไฟสูงทำให้เสี่ยงต่อการถูกไฟคอก ไฟเรือนยอดแบ่งย่อยได้เป็น 2 ประเภท คือ

ไฟเรือนยอด (crown fire)
  • ไฟเรือนยอดที่ต้องอาศัยไฟผิวดินเป็นสื่อ (dependent crown fire) คือ ไฟเรือนยอดที่ต้องอาศัยไฟที่ลุกลามไปตามผิวดินเป็นตัวนำเปลวไฟขึ้นไปสู่เรือนยอดต้นไม้ มักเกิดในบริเวณที่ต้นไม้ไม่หนาแน่น
  • ไฟเรือนยอดที่ไม่ต้องอาศัยไฟผิวดินเป็นสื่อ (running crown fire) เกิดในป่าที่มีต้นไม้ที่ติดไฟได้ง่ายและมีเรือนยอดแน่นทึบติดกัน เช่นในป่าสนเขตอบอุ่น การลุกลามจะเป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงจากเรือนยอดหนึ่งไปสู่อีกเรือนยอดหนึ่งที่อยู่ข้างเคียงได้โดยตรง จึงเกิดการลุกลามไปตามเรือนยอดอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ลูกไฟจากเรือนยอดจะตกลงบนพื้นป่า ก่อให้เกิดไฟผิวดินร่วมด้วย

นอกจากนี้ไฟป่ายังสามารถจำแนกตามบริเวณการไหม้และทิศทางลมได้ 7 ส่วน ได้แก่

  • หัวไฟ (head) เป็นส่วนไฟป่าที่ลุกลามได้เร็วและมีเปลวไฟยาวมากที่สุด มักลุกลามไปตามความลาดชันของพื้นที่และทิศทางลม จึงเป็นส่วนที่รุนแรงและอันตรายมากที่สุด
  • หางไฟ (rear) เป็นส่วนของไฟที่ไหม้ไปทางตรงกันข้ามกับหัวไฟหรือสวนกับทิศทางลม ทำให้เป็นไฟที่ลุกลามช้าและดับได้ง่าย
  • ปีกไฟ (flanks) เป็นส่วนที่ลุกลามขยายออกด้านข้างของหัวไฟ มักลุกลามตามหัวไฟ มีความรุนแรงน้อยกว่าหัวไฟ แต่รุนแรงมากกว่าหางไฟ
  • นิ้วไฟ (finger) เป็นส่วนที่ลุกลามแนวแคบ ๆ โดยยื่นออกไปจากตัวไฟหลัก
  • ขอบไฟ (edge) เป็นขอบเขตของไฟป่านั้น ๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นช่วงที่ไฟกำลังลุกไหม้ หรือดับแล้ว
  • ง่ามไฟ (bay) เป็นส่วนของขอบไฟที่อยู่ระหว่างนิ้วไฟ มีการลุกลามช้ากว่านิ้วไฟ
  • ลูกไฟ (spot fire) เป็นส่วนที่ไหม้ลุกนำหัวไฟ สามารถทำให้เกิดไฟป่าใหม่อีกระลอกได้
การแบ่งบริเวณไฟป่าจากรูปร่างและทิศทางลม (ที่มา : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร)

ปัจจัยส่งผลต่อพฤติกรรมไฟป่า

พฤติกรรมไฟป่า (wildland fire behavior) คือ ลักษณะการลุกลามและขยายตัวของไฟป่าภายหลังจากการสันดาป ซึ่งจะเป็นไปตามสภาวะแวดล้อมในขณะนั้น ทำให้ไฟป่าที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างกันไป ซี่งปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมไฟป่านั้นมี 3 ปัจจัยหลัก คือ

1) ชื้อเพลิง (fuel) ได้แก่ ใบไม้แห้ง กิ่งก้าน หญ้าแห้ง และท่อนไม้ เป็นต้น โดยลักษณะเชื้อเพลิงที่ส่งผลต่อพฤติกรรมไฟป่า ได้แก่

  • ขนาดเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงขนาดใหญ่จะเผาไหม้ช้ากว่าเชื้อเพลิงขนาดเล็ก เชื้อเพลิงขนาดเล็กจึงส่งผลให้ไฟไหม้และไฟลามได้เร็วกว่าเชื้อเพลิงขนาดใหญ่
  • ปริมาณเชื้อเพลิงและความหนาแน่น เชื้อเพลิงมีปริมาณมากจะเกิดไฟที่มีความรุนแรงมากกว่ากรณีที่มีเชื้อเพลิงน้อย
  • ความชื้นของเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงมีความชื้นสูงจะติดไฟยากกว่าชื้อเพลิงที่มีความชื้นต่ำ ซึ่งจากงานวิจัยของ Heikkila และคณะ (1993) พบว่าความชื้นเชื้อเพลิงส่งผลต่อการลุกลามของไฟป่า 3 กรณี คือ
    • ความชื้นต่ำกว่า 5% ไฟป่าที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดเชื้อเพลิงขนาดใหญ่หรือเล็ก อัตราการลุกลามจะเท่ากัน
    • ความชื้นระหว่าง 5%-15% ไฟป่าจากเชื้อเพลิงขนาดเล็กจะลุกลามเร็วกว่าไฟป่าจากเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ และ
    • ความชื้นมากกว่า 15% ไฟป่าที่ไหม้เชื้อเพลิงขนาดใหญ่จะยังคงลุกไหม้และลุกลามต่อไปได้ ในขณะที่ไฟที่ไหม้เชื้อเพลิงขนาดเล็กจะดับลงด้วยตัวเอง

2) สภาพอากาศ (weather) การเกิดไฟป่ามีปัจจัยด้านสภาพอากาศเกี่ยวข้อง ดังนี้

  • ปริมาณหยาดน้ำฟ้า (precipitation) จากงานวิจัยของ Chen และคณะ (2014) บ่งชี้ว่าสภาวะแห้งแล้ง หรืออัตราการตกของฝนต่ำ ส่งเสริมให้เกิดไฟป่าในมณฑลยูนนานเพิ่มมากขึ้น
  • ความชื้นสัมพัทธ์ (relative humidity) ความชื้นสัมพัทธ์สูงจะเกิดการติดไฟยากกว่าสภาวะที่ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ
  • อุณหภูมิ (temperature) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาวะความชื้น และเป็นตัวที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนที่ของลมซึ่งเป็นตัวเติมเชื้ออกซิเจนให้กับไฟป่า
  • ลม (wind) เป็นตัวเติมออกซิเจนให้กับไฟป่า ทำให้ไฟป่าเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น

3) สภาพภูมิประเทศ (topography) สภาพภูมิประเทศส่งผลต่อพฤติกรรมไฟป่า ดังนี้

  • ความชัน (slope) จากงานวิจัยของ Butler และคณะ (2007) บ่งชี้ว่า ความชันและความหนาแน่นของเชื้อเพลิง มีผลต่อการลุกลามของไฟป่า โดยค่าความหนาแน่นใช้ค่า Packing Ratio ซึ่งหมายถึง ปริมาตรของเชื้อเพลิงต่อปริมาตรของชั้นพลังงาน (fuel bed) โดยสามารถแบ่งกรณีได้ ดังนี้
    • Packing Ratio 0.005 การเผาไหม้แทบจะไม่เกิดขึ้น ยกเว้นความชันมากกว่า 31 องศา
    • Packing Ratio 0.01-0.03 ความชันไม่เกิน 10 องศา หากเกิดการเผาไหม้อัตราการลุกลามของไฟจะคงที่
    • Packing Ratio 0.01-0.03 ความชัน 10-25 องศา หากเกิดการเผาไหม้อัตราการลุกลามของไฟจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
    • Packing Ratio 0.01-0.03 ความชันตั้งแต่ 25-31 องศา หากเกิดการเผาไหม้อัตราการลุกลามของไฟจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก
  • ทิศด้านลาด หรือ ทิศทางของความลาดชัน (aspect) ทิศด้านลาดทิศใต้และทิศตะวันตก จะได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ในช่วงเวลาบ่าย เชื้อเพลิงจะแห้งกว่า ทำให้ไฟลุกลามได้เร็วกว่าไฟที่เกิดทางทิศด้านลาดทิศเหนือและทิศตะวันออก ซึ่งได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ในช่วงเวลาเช้า
ตัวอย่างปัจจัยด้านภูมิประเทศที่ส่งผลต่อพฤติกรรมไฟป่าในจังหวัดเพชรบูรณ์ (ซ้าย) ความชัน (ขวา) ทิศด้านลาด

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: