เรียนรู้

มหายุคพาลีโอโซอิก – เมื่อสิ่งมีชีวิตเริ่มรุกขึ้นบก

มหายุคพาลีโอโซอิก (Paleozoic era) ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ 545-245 ล้านปี คิดเป็นประมาณ 7% ของประวัติศาสตร์โลก สิ่งมีชีวิตในมหายุคพาลีโอโซอิกตอนต้นโดยส่วนใหญ่เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยจำกัดอยู่เฉพาะในทะเล เช่น ปะการัง ไครนอยด์ ไทรโลไบต์ ส่วนมหายุคพาลีโอโซอิกตอนกลาง สิ่งมีชีวิตมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก แมลงและพืชเคลื่อนที่สู่แผ่นดิน เกิดพืช เช่น เฟิร์นและต้นไม้ที่ไม่มีเมล็ด ในขณะที่มหายุคพาลีโอโซอิกตอนปลาย สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำและสัตว์เลื้อยคลานเริ่มมีวิวัฒนาการมากขึ้น โดยนักวิทยาศาสตร์แบ่งย่อยมหายุคพาลีโอโซอิกออกเป็น 6 ยุค

1) ยุคแคมเบรียน

ยุคแคมเบรียน (Cambrian Period) ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ 545-490 ล้านปี เป็นยุคแรกของมหายุคพาลีโอโซอิก พบสิ่งมีชีวิต เช่น แบคทีเรีย สาหร่าย และสัตว์มีกระดอง ได้แก่ ไทรโลไบต์ (trilobite) หอยฝาเดียว (gastropod) หอยสองฝา (brachiopod) ฟองน้ำ และหอยทาก ซึ่งทั้งหมดอาศัยอยู่ในทะเล ยังไม่มีสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนบก

ฟอสซิลไทรโลไบต์ในยุคแคมเบรียน

2) ยุคออร์โดวิเชียน

ยุคออร์โดวิเชียน (Ordovician Period) ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ 490-443 ล้านปี โดยปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จำนวนสโตรมาโตไลต์ ลดลง เกิดสิ่งมีชีวิต เช่น ปะการัง ไบรโอซัว (bryozoans) และปลาหมึก สัตว์ทะเลแพร่พันธุ์ขึ้นสู่บริเวณน้ำตื้น เกิดสัตว์มีกระดูกสันหลังครั้งแรกคือ ปลาไม่มีขากรรไกร เกิดสปอร์ของพืชบกขึ้นครั้งแรก

ปลาไม่มีขากรรไกร (ที่มา : http://ayay.co.uk)

ในช่วงกลางยุคออร์โดวิเชียน กอนด์วานาแลนด์ (Gondwanaland) เคลื่อนที่ไปใกล้ขั้วโลกใต้ ในช่วงกลางยุคออร์โดวิเชียน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศถูกจับไว้บนพื้นทวีปในรูปของหินคาร์บอเนตและถ่านหิน ทำให้ไม่มีปรากฏการณ์เรือนกระจก และมีธารน้ำแข็งปกคลุมอยู่ทั่วโลก จะเห็นได้จากหลักฐานของตะกอนธารน้ำแข็ง และรอยครูดถูของธารน้ำแข็งบนหิน ระดับน้ำทะเลลดลงหรือถอยร่นเนื่องจากน้ำส่วนใหญ่กลายเป็นน้ำแข็ง และเกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบางส่วน

ตัวอย่างร่องรอยขัดสีบนหิน (glacial striation) ที่ถูกขัดสีจากเม็ดตะกอนเล็กๆ ที่อยู่ใต้ชั้นธารน้ำแข็ง พบในอุทยานแห่งชาติเมาท์เรนเนียร์ รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ดูเหมือนกับว่าหินถูกขัดด้วยกระดาษทราย (ที่มา : www.wikipedia.org)

มหายุคพาลีโอโซอิก เป็นยุคเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิตทั้งในมหาสมุทรและบนบก

3) ยุคไซลูเรียน

ยุคไซลูเรียน (Silurian Period) ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ 443-417 ล้านปี มีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น เนื่องจากเป็นการฟื้นฟูมาจากการสูญพันธุ์ในช่วงปลายยุคออร์โดวิเชียน เกิดสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึกซึ่งอาศัยสารละลายทางเคมีจากภูเขาไฟใต้ทะเลเป็นธาตุอาหารหลัก เกิดปลามีขากรรไกร และพบสัตว์บกเป็นครั้งแรก บนบกมีพืชที่ขยายพันธุ์ด้วยสปอร์

(บน) ปลามีขากรรไกร (ล่าง) พืชที่ขยายพันธุ์ด้วยสปอร์ ในยุคไซลูเรียน (ที่มา : www.angelfire.com; http://samnoblemuseum.ou.edu)

4) ยุคดีโวเนียน

ยุคดีโวเนียน (Devonian Period) ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ 417-354 ล้านปี เป็นยุคของปลาดึกดำบรรพ์ ปลามีเหงือกแพร่พันธุ์เป็นจำนวนมาก เกิดปลามีกระดอง ปลาฉลาม แอมโมไนต์ (ammonite) และพบแมลงเป็นครั้งแรก บนบกเริ่มมีพืชที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและมีป่าเกิดขึ้น

(ซ้าย) แอมโมไนต์ (ขวา) ฉลาม ในยุคดีโวเนียน (ที่มา : www.coinsweekly.com; www.lazerhorse.org)

5) ยุคคาร์บอนิเฟอรัส

ยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous Period) ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ 354-295 ล้านปี เป็นยุคของป่าเฟิร์นขนาดยักษ์ปกคลุมห้วย หนอง คลองบึง ซึ่งกลายเป็นแหล่งถ่านหินที่สำคัญในปัจจุบัน มีการแพร่พันธุ์ของแมลง และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เริ่มมีวิวัฒนาการของสัตว์เลื้อยคลาน เกิดพืชตระกูลสน

ป่าปัจจุันทีมีสภาพแวดล้อมคล้ายกับป่าเฟิร์นที่ลุ่มต่ำชื้นแฉะในยุคคาร์บอนิเฟอรัส (ที่มา : www.nature.org)

6) ยุคเพอร์เมียน

ยุคเพอร์เมียน (Permian Period) เป็นยุคสุดท้ายของมหายุคพาลีโอโซอิก ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ 295-250 ล้านปี แผ่นเปลือกโลกทวีปรวมตัวกันเป็นทวีปขนาดใหญ่ เรียกว่า มหาทวีปพันเจีย (Pangaea supercontinent) ในทะเลมีแนวประการังและไบโอซัวร์ บนบกเกิดการแพร่พันธุ์ของสัตว์เลื้อยคลานที่มีลักษณะคล้ายกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ฟอแรมมินิเฟอร่า (ฟิวซูลินิด) ถือเป็นฟอสซิลดัชนีที่สำคัญในยุคนี้

(ซ้าย) ฟิวซูลินิดขนาดเท่าเม็ดข้าวสาร ซึ่งมีชีวิตอยู่ในยุคเพอร์เมียน (ขวา) ภาพขยายใต้กล้องจุลทรรศน์แสดงโครงสร้างภายในของฟิวซูลินิด (ที่มา : www.wikimedia.org; Villa และ Posada, 2009)

ในช่วงปลายยุคเพอร์เมียน เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ขึ้นบนโลก ทำให้ 70% ของสายพันธุ์สัตว์ทั้งหมดบนแผ่นดิน และ 90% ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตทางทะเล เสียชีวิตและสูญพัญธ์ไป ถือเป็นการปิดช่วงสุดท้ายของมหายุคพาลีโอโซอิกลงอย่า่งสมบูรณ์

การสูญพันธุ์ยุคเพอร์เมียน-ยุคไทรแอสซิก

การสูญพันธุ์ยุคเพอร์เมียน-ยุคไทรแอสซิก (Permian-Triassic หรือ P-T Extinction) เกิดขึ้นในช่วงประมาณ 250 ล้านปี ที่ผ่านมา โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่า 70-90% ของสัตว์ที่อาศัยอยู่บนบกและในทะเลนั้นได้สูญพันธุ์ไป ในขณะที่มีสัตว์เลื้อยคลานบางส่วนยังอยู่รอด ซึ่งสาเหตุของการสูญพันธุ์ในครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสันนิษฐานไว้หลายสาเหตุ

1) ธรณีแปรสัณฐาน

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ทิศทางและอัตราการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผลจากกระบวนการธรณีแปรสัณฐานส่งผลต่อสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตในรูปแบบต่างๆ เช่น การเคลื่อนที่ออกจากกันของแผ่นเปลือกโลกในบริเวณ สันเขากลางมหาสมุทร (mid-oceanic ridge) ด้วยความเร็วสูงทำให้สันเขามีขนาดใหญ่และพื้นมหาสมุทรสูง ระดับน้ำทะเลจึงสูงขึ้น ในขณะที่แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ออกจากกันด้วยความเร็วต่ำ สันเขามีขนาดเล็ก พื้นมหาสมุทรต่ำ และระดับน้ำทะเลลดลง ซึ่งในช่วงปลายยุคเพอร์เมียน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าระดับน้ำทะเลลดลงประมาณ 200 เมตร จากปัจจุบัน มหาสมุทรตื้นเขินทั่วโลก จึงเกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในทะเลเป็นส่วนใหญ่

แบบจำลองความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการแยกตัวของสันเขากลางมหาสมุทรและระดับน้ำทะเล (ที่มา : www.slideplayer.com)

2) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

นอกจากนี้ในยุคเพอร์เมียนตอนปลาย-ยุคไทรแอสซิกตอนต้น (260-240 ล้านปี) เกิดการรวมกันของแผ่นเปลือกโลกต่างๆ ที่เรียกว่า มหาทวีปแพนเจีย (Pangaea Supercontinent) ทำให้พื้นที่โดยส่วนใหญ่ที่อยู่ภายในแผ่นเปลือกโลกทวีปห่างไกลจากมหาสมุทรและมีความแห้งแล้งสูง ความหลากหลายของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตจึงลดลงโดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนบก แต่หลังจากนั้นเมื่อ 200 ล้านปี ที่ผ่านมา มหาทวีปพันเจียเริ่มแยกตัวออกจากกันทำให้มีการเพิ่มขึ้นของแนวชายฝั่ง และลดพื้นที่ภายในทวีปที่แห้งแล้ง ทำให้จำนวนสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ตัวอย่างในปัจจุบันของทวีปออสเตรเลีย ซึ่งเป็นทวีปขนาดใหญ่ พื้นที่กลางทวีปจึงไม่ได้รับความชื้นจากมหาสมุทรและแห้งแล้ง

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุดของโลก คือ การสูญพันธุ์ยุคเพอร์เมียน-ยุคไทรแอสซิก

3) การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของน้ำในมหาสมุทร

เนื่องจากปลายยุคเพอร์เมียนเป็นช่วงการสิ้นสุดยุคน้ำแข็งที่ยาวนาน ทำให้ไม่มีความแตกต่างของอุณหภูมิในแต่ละพื้นที่ของโลก น้ำบริเวณขั้วโลกมีการหมุนเวียนช้าลง โดยน้ำที่ขั้วโลกอบอุ่นเกินไปจึงจมตัวลง มีการสลายตัวของอินทรียวัตถุที่พื้นมหาสมุทร ทำให้เกิดสภาวะปริมาณออกซิเจนต่ำกว่าปกติบริเวณท้องน้ำ ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตในทะเลโดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำลึกสูญพันธุ์ อีกทั้งเกิดการกลับตัวของชั้นน้ำในมหาสมุทร ทำให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำเสียชีวิตได้เช่นกัน นอกจากนี้การหลอมละลายของธารน้ำแข็งทำให้น้ำทะเลปนกับน้ำจืด ทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลบางส่วนสูญพันธุ์ได้

แบบจำลองการหมุนเวียนของกระแสน้ำพื้นผิวในมหาสมุทรในปัจจุบัน

4) กิจกรรมภูเขาไฟ

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าในอดีตเคยมีการปะทุของภูเขาไฟจำนวนมากและเกิดการไหลหลากของมวลแมกมาบะซอลต์ปริมาณมหาศาลปกคลุมโลกครอบคลุมพื้นที่หลายล้านตารางกิโลเมตร เช่นลาวาไหลหลากในไซบีเรียจากการปะทุของภูเขาไฟ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3 ล้านตารางกิโลเมตร ภายในช่วงเวลา 1 ล้านปี ในช่วงปลายยุคเพอร์เมียน หรือเมื่อประมาณ 250 ล้านปี ที่ผ่านมา โดยมีการปลดปล่อยความร้อน ไอน้ำ มีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งทำให้เกิด ปรากฏการณ์เรือนกระจก (greenhouse effect) เป็นเวลานาน ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นและเกิด ฝนกรด (acid rain) มหาสมุทรมีสภาพเป็นกรด

ชั้นหินบะซอลต์แสดงการไหลหลากของลาวาจำนวนมากในไซบีเรีย (ที่มา : www.howstuffworks.com)

อีกทั้งการปะทุของภูเขาไฟบนแผ่นเปลือกโลกทวีปส่งผลต่อโดยตรงต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากหนาวมากในช่วงแรกเนื่องจากถูกปกคลุมด้วยเถ้าภูเขาไฟจากการปะทุ ทำให้แสงอาทิตย์ส่งไม่ถึงพื้นผิวโลก และต่อมาสภาพอากาศกลายเป็นอบอุ่นเนื่องจากก๊าซเรือนกระจกจากเถ้าที่ปกคลุมดังกล่าว พืชหลายชนิดล้มตาย ทำให้สัตว์ขาดแคลนอาหารและเกิดการลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว

ผลกระทบจากภัยพิบัติเถ้าหล่น ภูเขาไฟพินาตูโบประทุ พ.ศ. 2534 เมฆของเถ้าภูเขาไฟกว้าง 400 กิโลเมตร สะสมบนหลังคาน้ำหนักเถ้าทำให้โครงสร้างถล่ม เถ้าหล่นในพื้นที่เกษตร ผลิตผลการเกษตรเสียหาย

ซึ่งจากสาเหตุต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ปริมาณสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในยุคเพอร์เมียนลดลงและสูญพันธุ์เป็นจำนวนมาก และมีไดโนเสาร์ (dinosuar) ในมหายุคมีโซโซอิกเข้ามาแทนที่ ถือเป็นการปิดยุคเพอร์เมียน ที่เวลา 250 ล้านปีก่อน

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: