วัตถุประสงค์การเรียนรู้
- เพื่อเข้าใจนัยสำคัญของภาวะเงียบสงบและภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหว
- เพื่อทราบพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในภูมิภาคอาเซียนจากการวิเคราะห์คะแนน RTL
เนื้อหา
- ระเบียบวิธีพื้นที่-เวลา-ความยาวรอยเลื่อน (RTL Algorithm)
- เกาะสุมาตรา-อันดามัน (Sumatra-Andaman Island)
- รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault)
- ภาคเหนือของประเทศไทย (Northern Thailand)
- ภาคตะวันตกของประเทศไทย (Western Thailand)
ระเบียบวิธีพื้นที่-เวลา-ความยาวรอยเลื่อน (RTL Algorithm) เป็นอีกหนึ่งวิธีการทางสถิติที่ใช้ตรวจวัดภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว โดยการให้คะแนนตัวแปรที่เกี่ยวข้อง 3 ตัวแปร จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นรอบพื้นที่ศึกษาและประมวลผลออกมาในรูปแบบของคะแนน RTL (RTL score)
ขอให้เมามันส์ไปกับแรงสั่นของแผ่นดินไหวนะครับ 😊
คำอธิบาย: ตอบคำถามต่อไปนี้โดยใช้ คำสำคัญ เป็นแนวทางประกอบในการตอบคำถาม
1) อธิบายกลไกการเกิดภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว (seismic quiescence) และภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหว (seismic activation)
คำสำคัญ: การทดสอบบีบอัดตัวอย่างหิน; จำนวนเสียงปริแตก; ภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว; ภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหว
2) อธิบายหลักการให้คะแนนของตัวแปรต่างๆ ที่พิจารณาในระเบียบวิธีพื้นที่-เวลา-ความยาวรอยเลื่อน
คำสำคัญ: ระยะทาง; เวลา; ความยาวรอยแตกของรอยเลื่อน; ขนาดแผ่นดินไหว
3) จากการวิเคราะห์ด้วยระเบียบวิธีพื้นที่-เวลา-ความยาวรอยเลื่อน พื้นที่ใดในบริเวณเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน ที่มีโอกาสเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคต (ศึกษาเพิ่มเติมใน Sukrungsri และ Pailoplee, 2015)
คำสำคัญ: เมืองซิตตเว; ทางตะวันตกของประเทศพม่า; ตอนเหนือของหมู่เกาะนิโคบาร์; เมืองอาเจะห์; ตอนเหนือสุดของเกาะสุมาตรา; นอกชายฝั่งทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา
แนวทางการตอบคำถาม
1) อธิบายกลไกการเกิดภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว (seismic quiescence) และภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหว (seismic activation)
จากการจำลองและทดสอบการเกิดแผ่นดินไหวจากการบีบอัดตัวอย่างหิน Sobolev (1995) พบว่าเมื่อเริ่มบีบอัดหิน จำนวนการเกิดเสียงเนื่องจากการปริแตกของหินจะเพิ่มขึ้นเมื่อเพิ่มแรงบีบอัดมากขึ้น อย่างไรก็ตามจำนวนเสียงปริแตกจะลดลงในเวลาต่อมาเนื่องจากรอยแตกของหินเริ่มเข้าสู่ภาวะสมดุล จนกระทั่งในช่วงระยะสุดท้ายจะพบการเพิ่มขึ้นของการปริแตกของหินและเกิดเสียงเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากนั้นหินปริแตกอย่างรุนแรงและแตกหักในเวลาต่อมา ซึ่ง Sobolev (1995) สรุปว่าหากพื้นที่ใดๆ ได้รับความเค้นทางธรณีแปรสัณฐานเพิ่มขึ้นอัตราการเกิดแผ่นดินไหวจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เรียกว่า ภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว (seismic quiescence) และหลังจากนั้นอัตราการเกิดแผ่นดินไหวจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เรียกว่า ภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหว (seismic activation) ก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในเวลาต่อมา
คำสำคัญ: การทดสอบบีบอัดตัวอย่างหิน; จำนวนเสียงปริแตก; ภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว; ภาวะกระตุ้นแผ่นดินไหว
2) อธิบายหลักการให้คะแนนของตัวแปรต่างๆ ที่พิจารณาในระเบียบวิธีพื้นที่-เวลา-ความยาวรอยเลื่อน
2.1) R(x,y,z,t) คือ ฟังก์ชั่นความสัมพันธ์ระหว่างระยะทางจากพื้นที่ย่อยถึงจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่พิจารณา ซึ่งมีคะแนนมากเมื่อพื้นที่ย่อยและจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ใกล้เคียงกัน
2.2) T(x,y,z,t) คือ ฟังก์ชั่นความสัมพันธ์ระหว่างช่วงเวลาที่ต้องการวิเคราะห์คะแนน RTL และเวลาเกิดแผ่นดินไหวที่พิจารณา ซึ่งมีคะแนนมากหากเวลาเกิดแผ่นดินไหวใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่ต้องการวิเคราะห์คะแนน RTL
2.3) L(x,y,z,t) คือ ฟังก์ชั่นแสดงความยาวรอยแตกของรอยเลื่อน ซึ่งมีคะแนนมากเมื่อความยาวรอยแตกของรอยเลื่อนมีความยาวมาก โดยความยาวของการปริแตกดังกล่าวจะสัมพันธ์กับขนาดแผ่นดินไหว
คำสำคัญ: ระยะทาง; เวลา; ความยาวรอยแตกของรอยเลื่อน; ขนาดแผ่นดินไหว
3) จากการวิเคราะห์ด้วยระเบียบวิธีพื้นที่-เวลา-ความยาวรอยเลื่อน พื้นที่ใดในบริเวณเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน ที่มีโอกาสเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคต (ศึกษาเพิ่มเติมใน Sukrungsri และ Pailoplee, 2015)
Sukrungsri และ Pailoplee (2015) วิเคราะห์คะแนน RTL ตามเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน จากข้อมูลแผ่นดินไหวที่เกิดในช่วงปี ค.ศ) 2010-2014 ซึ่งผลการวิเคราะห์ตรวจพบ 4 พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคต ได้แก่ 1) เมืองซิตตเว ทางตะวันตกของประเทศพม่า 2) ตอนเหนือของหมู่เกาะนิโคบาร์ 3) เมืองอาเจะห์ ตอนเหนือสุดของเกาะสุมาตรา และ 4) นอกชายฝั่งทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา
คำสำคัญ: เมืองซิตตเว; ทางตะวันตกของประเทศพม่า; ตอนเหนือของหมู่เกาะนิโคบาร์; เมืองอาเจะห์; ตอนเหนือสุดของเกาะสุมาตรา; นอกชายฝั่งทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา
ค้นคว้าเพิ่มเติม
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth