แผ่นดินไหว

แบบฝึกหัด 5 การเปลี่ยนแปลงอัตราการเกิดแผ่นดินไหว

วัตถุประสงค์การเรียนรู้

  • เพื่อเข้าใจธรรมชาติการเกิดแผ่นดินไหวและนัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงอัตราการเกิดแผ่นดินไหว
  • เพื่อทราบพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคตในภูมิภาคอาเซียน จากการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงอัตราการเกิดแผ่นดินไหว

เนื้อหา

  • การเปลี่ยนแปลงอัตราการเกิดแผ่นดินไหว (Seismicity Rate Change)
  • เกาะสุมาตรา-อันดามัน (Sumatra-Andaman Island)
  • แนวหมู่เกาะประเทศอินโดนีเซีย (Indonesian Island Chain)
  • รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault)
  • ภาคเหนือของประเทศไทย (Northern Thailand)
  • ภาคตะวันตกของประเทศไทย (Western Thailand)

ในภาวะปกติ แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวใดๆ จะมีอัตราการเกิดแผ่นดินไหวโดยรวมคงที่ อย่างไรก็ตามจากการทดสอบทั้งในห้องปฏิบัติการและพื้นที่จริงพบว่า อัตราการเกิดแผ่นดินไหวจะลดลงก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ เรียกว่า ภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว (seismic quiescence) ดังนั้นการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงอัตราการเกิดแผ่นดินไหวจึงสามารถประยุกต์ใช้เป็นสัญญาณบอกเหตุก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้

ขอให้เมามันส์ไปกับแรงสั่นของแผ่นดินไหวนะครับ ?

คำอธิบาย: ตอบคำถามต่อไปนี้โดยใช้ คำสำคัญ เป็นแนวทางประกอบในการตอบคำถาม

1) อธิบายแนวคิดเขตช่วงว่างแผ่นดินไหว (seismic gap) (ศึกษาเพิ่มเติมใน สันติ ภัยลบลี้, 2555a)

คำสำคัญ: เขตช่วงว่างแผ่นดินไหว; ความเค้นทางธรณีแปรสัณฐาน; ภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว; แผ่นดินไหวขนาดใหญ่

2) อธิบายหลักการประยุกต์ใช้การเปลี่ยนแปลงการเกิดแผ่นดินไหวในการประเมินพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคต

คำสำคัญ: เขตช่วงว่างแผ่นดินไหว; ภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว; กราฟจำนวนแผ่นดินไหวสะสม; กราฟเป็นแนวนอน

3) กำหนดช่วงเวลาของภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหวจากกราฟจำนวนแผ่นดินไหวสะสม ซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลแผ่นดินไหวรอบจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw ที่เกิดตามเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (Sukrungsri และ Pailoplee, 2016)

(ก) 9.0 Mw, 26/12/2004(ข) 8.6 Mw, 28/03/2005(ค) 7.2 Mw, 24/07/2005
   

แนวทางการตอบคำถาม

1) อธิบายแนวคิดเขตช่วงว่างแผ่นดินไหว (seismic gap) (ศึกษาเพิ่มเติมใน สันติ ภัยลบลี้, 2555a)

เขตช่วงว่างแผ่นดินไหว (seismic gap) คือ แนวคิดการประเมินพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคต โดยนักแผ่นดินไหวตั้งสมมุติฐานว่าในแต่ละแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวควรจะได้รับความเค้นทางธรณีแปรสัณฐานโดยรวมเท่ากัน ดังนั้นทุกพื้นที่ย่อยบนแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวจึงมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวด้วยพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหว (อัตราการเกิดหรือขนาดแผ่นดินไหว) ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตามจากการศึกษาแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวต่างๆ นักแผ่นดินไหวพบบางพื้นที่ในแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวซึ่งไม่เกิดแผ่นดินไหวหรือมีอัตราการเกิดแผ่นดินไหวต่ำกว่าพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งนักแผ่นดินไหวประเมินว่าภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหวดังกล่าว อาจเกิดจากการยึดติดกันของรอยเลื่อนและสะสมความเค้นทางธรณีแปรสัณฐานมากขึ้น จึงมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้อนาคต โดยพื้นที่ดังกล่าว เรียกว่า เขตช่วงว่างแผ่นดินไหว (seismic gap)

คำสำคัญ: เขตช่วงว่างแผ่นดินไหว; ความเค้นทางธรณีแปรสัณฐาน; ภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว; แผ่นดินไหวขนาดใหญ่

2) อธิบายหลักการประยุกต์ใช้การเปลี่ยนแปลงการเกิดแผ่นดินไหวในการประเมินพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคต

จากแนวคิดเขตช่วงว่างแผ่นดินไหว นักแผ่นดินไหว (Ohtake และคณะ, 1977; Habermann, 1983; Wyss, 1985) อธิบายว่าก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ อัตราการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ดังกล่าวจะลดลง เรียกว่า ภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว (seismic quiescence) โดยในทางปฏิบัติหากนำข้อมูลแผ่นดินไหวจากแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวใดๆ มาสร้างกราฟจำนวนแผ่นดินไหวสะสม (cumulative number) จะพบว่าในภาวะปกติจำนวนแผ่นดินไหวสะสมจะมีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างคงที่หรือกราฟมีลักษณะเป็นเส้นตรงเฉียงขึ้น (นักแผ่นดินไหวประเมินว่าอัตราการเกิดแผ่นดินไหวโดยรวมในพื้นที่ใดๆ จะคงที่ เนื่องจากกระบวนการทางธรณีแปรสัณฐานซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการเกิดแผ่นดินไหวจะไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาสั้นๆ ของข้อมูลแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวที่ในปัจจุบัน) อย่างไรก็ตามในกรณีของการขาดหายไปของแผ่นดินไหวในบางช่วงเวลา กราฟจำนวนแผ่นดินไหวสะสมจะมีลักษณะเป็นแนวนอนซึ่งในทางวิทยาคลื่นไหวสะเทือน หมายถึง ภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว ดังที่อธิบายในข้างต้น ซึ่งอาจเป็นสัญญาณบอกเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้

คำสำคัญ: เขตช่วงว่างแผ่นดินไหว; ภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว; กราฟจำนวนแผ่นดินไหวสะสม; กราฟเป็นแนวนอน

3) กำหนดช่วงเวลาของภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหวจากกราฟจำนวนแผ่นดินไหวสะสม ซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลแผ่นดินไหวรอบจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw ที่เกิดตามเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน

(ก) 9.0 Mw, 26/12/2004(ข) 8.6 Mw, 28/03/2005(ค) 7.2 Mw, 24/07/2005

ค้นคว้าเพิ่มเติม

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: