แผ่นดินไหว

แบบฝึกหัด 1 แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวในอาเซียน

วัตถุประสงค์การเรียนรู้

  • เพื่อเข้าใจสภาพแวดล้อมการเกิดแผ่นดินไหวที่สัมพันธ์กับกระบวนการทางธรณีแปรสัณฐานในภูมิภาคอาเซียน
  • เพื่อจำแนกแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวในภูมิภาคอาเซียน
  • เพื่อทราบพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวของแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวในภูมิภาคอาเซียน

เนื้อหา

  • เขตมุดตัวของเปลือกโลก (Subduction Zone)
  • รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault)
  • ภาคเหนือของประเทศไทย (Northern Thailand)
  • ภาคตะวันตกของประเทศไทย (Western Thailand)
  • ภาคใต้ของประเทศไทย (Southern Thailand)

ผลจากการเคลื่อนที่และกระทบกระทั่งกันระหว่างแผ่นเปลือกโลก 3 แผ่น คือ แผ่นยูเรเซีย แผ่นอินโด-ออสเตรเลียและแผ่นทะเลฟิลิปปินส์ ทำให้เกิดเขตมุดตัวของเปลือกโลก (subduction zone) และรอยเลื่อน (fault) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวมากมาย กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆของภูมิภาคอาเซียน

ขอให้เมามันส์ไปกับแรงสั่นของแผ่นดินไหวนะครับ ?

คำอธิบาย: ตอบคำถามต่อไปนี้โดยใช้ คำสำคัญ เป็นแนวทางประกอบในการตอบคำถาม

1) เขตมุดตัวของเปลือกโลก (subduction zone) ใดในภูมิภาคอาเซียนที่อาจส่งผลกระทบด้านภัยพิบัติสึนามิต่อประเทศไทย และอธิบายโอกาสเกิดสึนามิตามแนวชายฝั่งของประเทศไทยจากเขตมุดตัวของเปลือกโลกดังกล่าว

คำสำคัญ: เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน; ร่องลึกก้นสมุทรมะนิลา; ทะเลอันดามัน; อ่าวไทย
ค้นคว้าเพิ่มเติม: Jankaew และคณะ (2007; 2008) และ Ruangrassamee และ Saelem (2009)

2) อธิบายสภาพแวดล้อมการเกิดแผ่นดินไหวที่สัมพันธ์กับกระบวนการทางธรณีแปรสัณฐาน (seismotectonic setting) และพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหว (earthquake activity) ของ รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ตอนกลางของประเทศพม่า

คำสำคัญ: กลุ่มรอยเลื่อนตามแนวราบ; แผ่นเปลือกโลกย่อยซุนดา; แผ่นเปลือกโลกย่อยพม่า; แผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลีย; แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย; ขนาดแผ่นดินไหว; ระดับความรุนแรงแผ่นดินไหว
ค้นคว้าเพิ่มเติม: -

3) จำแนก เขตกำเนิดแผ่นดินไหว (seismic source zone) ของแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย

คำสำคัญ: ภาคเหนือของประเทศไทย-เดียนเบียนฟู; ภาคตะวันตกของประเทศไทย; ภาคใต้ของประเทศไทย; กลุ่มรอยเลื่อนตามแนวราบ; แอ่งตะกอนลุ่มต่ำสลับกับแนวเทือกเขาสูง (intermountain basin)
ค้นคว้าเพิ่มเติม: Pailoplee และ Choowong (2013)

แนวทางการตอบคำถาม

1) เขตมุดตัวของเปลือกโลก (subduction zone) ใดในภูมิภาคอาเซียนที่อาจส่งผลกระทบด้านภัยพิบัติสึนามิต่อประเทศไทย และอธิบายโอกาสเกิดสึนามิตามแนวชายฝั่งของประเทศไทยจากเขตมุดตัวของเปลือกโลกดังกล่าว (ศึกษาเพิ่มเติมจาก Jankaew และคณะ (2007; 2008) และ Ruangrassamee และ Saelem (2009))

1) เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (Sumatra-Andaman Subduction Zone) เกิดจากการมุดตัวของเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลีย (Indo-Australian Plate) ที่มุดตัวลงไปใต้แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย (Eurasian Plate) มีโอกาสสร้างสึนามิและส่งผลกระทบต่อแนวชายฝั่งด้านทะเลอันดามันของประเทศไทยโดยตรง ซึ่งจากเหตุการณ์สึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวขนาด 9.0  เมื่อวันที่ 26 เดือนธันวาคม ค.ศ) 2004 ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ทำให้เกิดสึนามิเข้าปะทะชายฝั่งรอบมหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย โดยมีคลื่นสูงที่สุดประมาณ 12 เมตร บริเวณหาดคึกคัก จังหวัดพังงา

นอกจากนี้ Tuttle และคณะ (2007) และ Jankaew และคณะ (2007; 2008) พบหลักฐานการสะสมตัวของชั้นตะกอนทรายที่ถูกพัดพามากับสึนามิที่เคยเกิดขึ้นในอดีตในพื้นที่ใกล้ชายหาดด้านตะวันตกของเกาะพระทอง จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าก่อนเหตุการณ์สึนามิครั้งล่าสุดในปี ค.ศ) 2004 ชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทยเคยได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสึนามิอีก 3 เหตุการณ์ ซึ่งจากผลการกำหนดอายุด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ Prendergast และคณะ (2012) สรุปว่าอายุการสะสมตัวของชั้นตะกอนทรายดังกล่าวอยู่ในช่วงเวลา 380±50 ปี 990±130 ปี 1,410±190 ปี และ 2,100±260 ปี ที่ผ่านมา

2) ร่องลึกก้นสมุทรมะนิลา (Manila Trench) เกิดจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลกทะเลฟิลิปปินส์ (Philippine Sea Plate) และแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย (Eurasian Plate) ซึ่งหากพิจารณาตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ร่องลึกก้นสมุทรมะนิลามีโอกาสสร้างสึนามิที่ส่งผลกระทบต่อแนวชายฝั่งอ่าวไทยโดย Ruangrassamee และ Saelem (2009) อธิบายว่าหากจำลองการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.0-9.0  ตามร่องลึกก้นสมุทรมะนิลา สามารถสร้างสึนามิเดินทางผ่านทะเลจีนใต้และเข้าสู่อ่าวไทย โดยใช้เวลาประมาณ 13 และ 19 ชั่วโมง หลังจากเกิดแผ่นดินไหว ในการเข้าปะทะแนวชายฝั่งทางภาคใต้ของประเทศไทยและกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ และผลการประเมินความสูงของคลื่นพบว่าสามารถเกิดสึนามิสูงที่สุด 65 เซนติเมตร บริเวณชายฝั่งของจังหวัดนราธิวาส

2) อธิบายสภาพแวดล้อมการเกิดแผ่นดินไหวที่สัมพันธ์กับกระบวนการทางธรณีแปรสัณฐาน (seismotectonic setting) และพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหว (earthquake activity) ของรอยเลื่อนสะกาย

รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) มีความยาวประมาณ 1,200 กิโลเมตร วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ พาดผ่านตอนกลางของประเทศพม่า ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกย่อยในอดีต 2 แผ่น คือ แผ่นซุนดา (Sunda Plate) และแผ่นพม่า (Burma Plate) (Curray, 2005) ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย โดยผลจากการเคลื่อนที่ชนและมุดกันระหว่างแผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลียและแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย ทำให้รอยเลื่อนสะกายมีการเลื่อนตัวตามแนวราบด้วยความเร็วประมาณ 1.8 เซนติเมตร/ปี (Socquet และคณะ, 2006)

ฐานข้อมูลแผ่นดินไหวบ่งชี้ว่ารอยเลื่อนสะกายมีอัตราการเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กหรือปานกลางที่ต่ำ แต่บันทึกแผ่นดินไหวในอดีตพบว่ารอยเลื่อนสะกายเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0  ประมาณ 20 เหตุการณ์ ในช่วงปี ค.ศ) 1429-1991 (Swe, 2006; Kundu และ Gahalaut, 2012) ในส่วนของภัยพิบัติแผ่นดินไหวเนื่องจากรอยเลื่อนสะกาย Pailoplee (2012) รวบรวมและประมวลผลแผนที่แสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของความรุนแรงแผ่นดินไหวในพื้นที่ต่างๆ เนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนสะกาย พบว่าประเทศพม่าเคยได้รับความรุนแรงแผ่นดินไหวระดับ IX และประเทศไทยเคยได้รับความรุนแรงแผ่นดินไหวระดับ III และ VII ในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือของประเทศไทย ตามลำดับ

3) จำแนกเขตกำเนิดแผ่นดินไหว (seismic source zone) ของแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย (ศึกษาเพิ่มเติมจาก Pailoplee และ Choowong (2013))

1) โซน J: ภาคเหนือของประเทศไทย-เดียนเบียนฟู (Northern Thailand-Dein Bein Phu) เป็นเขตกำเนิดแผ่นดินไหวที่ประกอบด้วย 1) กลุ่มรอยเลื่อนตามแนวราบในบริเวณชายแดนภาคเหนือของประเทศไทย-พม่า เช่น รอยเลื่อนแม่จัน น้ำมา เม็งซิง และรอยเลื่อนเดียนเบียนฟู เป็นต้น และ 2) กลุ่มรอยเลื่อนปกติที่เกิดตามขอบแอ่งตะกอนลุ่มต่ำสลับกับแนวเทือกเขาสูง (intermountain basin) เช่น รอยเลื่อนลำปาง-เถิน และรอยเลื่อนแพร่ เป็นต้น

2) โซน G: ภาคตะวันตกของประเทศไทย (Western Thailand) เป็นกลุ่มรอยเลื่อนตามแนวราบที่วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ พาดผ่านบริเวณชายแดนภาคตะวันตกของประเทศไทย-พม่า เช่น รอยเลื่อนพานหลวง ผาปูน เมย-ตองยี ศรีสวัสดิ์และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ เป็นต้น

3) โซน H: ภาคใต้ของประเทศไทย (Southern Thailand) เป็นกลุ่มรอยเลื่อนตามแนวราบที่วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ พาดผ่านหลายจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย ได้แก่ รอยเลื่อนระนองและรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย

ค้นคว้าเพิ่มเติม

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: