
11 มีนาคม พ.ศ. 2554 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 นอกชายฝั่งแปซิฟิกทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น ทั้งแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวและภัยพิบัติสึนามิทำให้พื้นที่โดยรอบจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวและชายฝั่งแปซิฟิกของญี่ปุ่นได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงตลอดทั้งแนว มีผู้เสียชีวิตประมาณ 16,000 คน บาดเจ็บ 6,000 คน และสูญหายอีกกว่า 4,500 คน
นอกจากนี้ ผลจากสึนามิยังทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่อยู่ริมทะเล เมืองฟุกุชิม่าได้รับความเสียหายอย่างหนัก สร้างความหวาดกลัวให้กับทั้งคนญี่ปุ่นและชาวโลก กัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลออกสู่ภายนอกมีโอกาสสูงที่จะฟุ้งกระจายแบบไร้การควบคุม เหมือนกับเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ประเทศรัสเซียเมื่อปี พ.ศ. 2529

“ฟุกุชิม่าฟิฟตี้ (Fukushima 50)” เป็นคำที่ชาวญี่ปุ่นใช้เรียก ทีมเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่าไดอิจิ (Fukushima Daiichi Nuclear Power Plant) จำนวน 50 คน ซึ่งยืนยันจะปฏิบัติหน้าที่ต่อในขณะที่เกิดไฟไหม้ขึ้นที่เตาปฏิกรณ์ หลังจากเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ได้ 4 วัน และหลังจากนั้นในวันถัดมาก็มีเจ้าหน้าที่เสนอตัวมาสมทบเพิ่มเติมอีกเรื่อยๆ จนถึง 580 คน

ฟุกุชิม่าฟิฟตี้มีภารกิจสำคัญคือ การรักษาสภาพเตาปฏิกรณ์ไม่ให้เสียหายจนเกินการควบคุม โดยเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องสวมชุดที่รัดกุม ใส่เครื่องช่วยหายใจ และเข้าไปทำงานภายในโรงไฟฟ้าที่ปนเปื้อนด้วยกัมมันตภาพรังสีระดับสูง
ถึงแม้เจ้าหน้าที่ทุกคนจะรู้ดีว่าชีวิตนี้คงมีโอกาสน้อยมากที่จะแก่ตาย เพราะมากกว่า 70% ที่จะต้องป่วยเป็นมะเร็งในอนาคต แต่พวกเขาก็ยังต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ด้วยกันอย่างไม่ย่อท้อ เพียงแค่หวังว่าจะสามารถแก้ไขสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้กลับมาเป็นปกติได้ โดยเร็วที่สุด

หนึ่งในเจ้าหน้าที่ของทีมฟุกุชิม่าฟิฟตี้ กล่าวว่า “พวกเขาคือกลุ่มคนในยุคที่ยอมให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้ นั่นหมายถึงพวกเขาคือกลุ่มคนที่ปล่อยให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ดังนั้นพวกเขาจะต้องรับผิดชอบให้ถึงที่สุด”
ปัจจุบันไม่มีใครรู้ว่าสมาชิกในทีมฟุกุชิม่าฟิฟตี้ นั้นเป็นใครกันบ้าง แต่ในสายตาของคนญี่ปุ่นเขาคือลูกหลานของ “คะมิคะเซะ” ที่เคยแสดงความกล้าเพื่อทำหน้าที่อย่างสมเกียรติในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นแบบอย่างมาแล้วในอดีต ชาวญี่ปุ่นทุกคนจึงต่างยกยองให้พวกเขาเป็นดั่ง “วีรบุรุษ” ซึ่งผมเชื่อว่าชาวโลกก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน

อันที่จริง ถ้าในตอนนั้นเป็นยุคที่โซเชียลเฟื่องฟูเหมือนตอนนี้ ฟุกุชิม่าฟิฟตี้ก็คงคล้ายๆ หรือไม่ต่างอะไรกับกรณีของถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน เพราะคงมีคนคอยเฝ้าให้กำลังใจเอาใจช่วยกันอยู่ไม่ขาดผ่านทางโซเชียล แต่หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนั้นผ่านไป ข่าวของโรงไฟฟ้าก็เริ่มเลือนหายไปพร้อมกับกาลเวลา สายตาของชาวโลกเริ่มหันไปจับจ้อง มองหาสิ่งอื่นที่น่าสนใจและใหม่กว่า แต่ทุกวันนี้ ฟุกุชิม่าฟิฟตี้ก็ยังคงทำงานอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืนอย่างไม่ลดละ ในโอกาสที่ได้เขียนบทความนี้ ผมจึงอยากจะขอแสดงความเคารพต่อความกล้าที่งดงามของทีม “ฟุกุชิม่าฟิฟตี้ ” …และอยากให้พวกเราร่วมส่งกำลังใจไปถึงพวกเขาด้วยกัน

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth