
จากการศึกษาฐานข้อมูลแผ่นดินไหวทั้งในระดับโลก (Aki, 1956) และระดับท้องถิ่น (Knopoff, 1964) พบว่า ฐานข้อมูลแผ่นดินไหว มักจะประกอบด้วย กลุ่มแผ่นดินไหว (earthquake cluster) ของ 1) แผ่นดินไหวนำ (foreshock) 2) แผ่นดินไหวหลัก (mainshock) และ 3) แผ่นดินไหวตาม (aftershock) โดยในทางธรณีแปรสัณฐาน แผ่นดินไหวหลักเกิดจาก แรงเค้นทางธรณีแปรสัณฐาน (tectonic stress) โดยตรง ในขณะที่แผ่นดินไหวนำเกิดจากการเตรียมตัวก่อนเกิดแผ่นดินไหวหลัก ส่วนแผ่นดินไหวตามเกิดจากความเค้นที่ถ่ายเทมาจากการเลื่อนตัวของพื้นที่หรือรอยเลื่อนเมื่อเกิดแผ่นดินไหวหลักในแต่ละเหตุการณ์ ดังนั้นก่อนนำฐานข้อมูลแผ่นดินไหวมาประเมินพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหว ที่สัมพันธ์กับกระบวนการทางธรณีแปรสัณฐาน จึงจำเป็นต้องจัดกลุ่มแผ่นดินไหว และกำจัดข้อมูลแผ่นดินไหวนำและแผ่นดินไหวตาม ออกจากฐานข้อมูลแผ่นดินไหว เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลแผ่นดินไหวหลักที่สื่อถึงพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวที่สัมพันธ์กับกระบวนการทางธรณีแปรสัณฐานอย่างแท้จริง
เพิ่มเติม : แผ่นดินไหวตาม (Aftershock)
ในทางธรณีแปรสัณฐาน แผ่นดินไหวหลักขนาดเล็กเกิดจากการเลื่อนตัวเล็กน้อยของรอยเลื่อน ความเค้นทางธรณีแปรสัณฐานที่เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนดังกล่าวจึงถ่ายเทไปในพื้นที่จำกัด และใช้เวลาสั้นเพื่อคลายความเค้น ในรูปแบบของแผ่นดินไหวตาม ส่วนในกรณีของแผ่นดินไหวหลักขนาดใหญ่ รอยเลื่อนเลื่อนตัวมาก ความเค้นที่เกิดจากการเลื่อนตัวแผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่กว้างและใช้เวลายาวนานในการคลายความเค้นทั้งหมด เช่น ในกรณีของแผ่นดินไหวหลักขนาด 9.0 Mw ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา เมื่อวันที่ 26 เดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 เกิดแผ่นดินไหวตามยาวนาน 13 สัปดาห์หลังจากเกิดแผ่นดินไหวหลัก ครอบคลุมพื้นที่จากนอกชายฝั่งทางตะวันตกของเกาะสุมาตราไปถึงหมู่เกาะนิโคบาร์
แผ่นดินไหวหลัก (mainshock) คือ แผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มแผ่นดินไหวนั้น แผ่นดินไหวนำ (foreshock) คือ แผ่นดินไหวที่เกิดก่อนแผ่นดินไหวหลัก แผ่นดินไหวตาม (aftershock) คือ แผ่นดินไหวที่เกิดตามแผ่นดินไหวหลัก


สืบเนื่องจากกระบวนการเกิดกลุ่มแผ่นดินไหว ดังที่อธิบายในข้างต้น นักแผ่นดินไหวจึงสามารถจัดกลุ่มแผ่นดินไหวในทางสถิติได้โดยพิจารณาจาก 3 เงื่อนไข คือ 1) ขนาดแผ่นดินไหว 2) ระยะทางระหว่างจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว และ 3) ความแตกต่างของเวลาเกิดแผ่นดินไหว โดยปัจจุบันแบบจำลองการจัดกลุ่มแผ่นดินไหวด้วยเงื่อนไขขนาด ระยะทางและช่วงเวลา มีการนำเสนอ 3 แบบจำลอง คือ 1) Gardner และ Knopoff (1974) 2) Gruenthal (ติดต่อส่วนตัว) และ 3) Uhrhammer (1986) (รูป ก) โดยเส้นสีต่างๆ คือ กรอบระยะทาง (หน่วย กิโลเมตร) และกรอบเวลา (หน่วย วัน) ของแต่ละแบบจำลอง ซึ่งหากแผ่นดินไหว 2 เหตุการณ์ ที่พิจารณามีความแตกต่างของระยะทางใกล้กว่าหรือต่ำกว่าเส้นสีที่กำหนดของกราฟแสดงระยะทาง และมีความแตกต่างของช่วงเวลาเกิดแผ่นดินไหวสั้นหรือต่ำกว่าเส้นสีที่กำหนดของกราฟแสดงเวลา นักแผ่นดินไหวประเมินว่าเป็นแผ่นดินไหวกลุ่มเดียวกัน และแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดในแต่ละกลุ่ม จะถูกคัดเลือกเป็นแผ่นดินไหวหลัก ซึ่งจากการศึกษางานวิจัยในอดีตเกี่ยวกับการจัดกลุ่มแผ่นดินไหวในภูมิภาคอาเซียน พบว่าแบบจำลองที่น่าเชื่อถือที่สุด คือ Gardner และ Knopoff (1974)

รูป ข แสดงผลการจัดกลุ่มแผ่นดินไหวในภูมิภาคอาเซียนแผ่นดินใหญ่ (Pailoplee และ Choowong, 2014) ตามแบบจำลองของ Gardner และ Knopoff (1974) ซึ่งผลการวิเคราะห์ข้อมูลแผ่นดินไหวทั้งหมด 29,990 เหตุการณ์ สามารถจัดกลุ่มแผ่นดินไหวได้ 1,578 กลุ่มแผ่นดินไหว และคัดกรองแผ่นดินไหวนำหรือแผ่นดินไหวตามได้ 26,264 เหตุการณ์ (87.6%) ของแผ่นดินไหวทั้งหมดที่พิจารณา และประเมินว่ามีเหตุการณ์แผ่นดินไหวหลัก 3,726 เหตุการณ์ (12.4%)
นอกจากนี้ จากแผนที่ด้านล่าง แสดงการกระจายตัวของข้อมูลแผ่นดินไหว ก่อน-หลัง การจัดกลุ่มแผ่นดินไหว และคัดเลือกแผ่นดินไหวหลัก พบว่าแผ่นดินไหวที่เกิดในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือของประเทศไทย-ลาว-พม่า ส่วนใหญ่เป็นแผ่นดินไหวหลัก ในขณะที่บริเวณเขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน ส่วนใหญ่เป็นแผ่นดินไหวนำหรือแผ่นดินไหวตามซึ่ง Pailoplee และ Choowong (2014) จึงสรุปว่าแผ่นดินไหวหลักที่เกิดในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือของประเทศไทย-ลาว-พม่า ส่วนใหญ่เป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กจึงไม่พบแผ่นดินไหวนำหรือแผ่นดินไหวตามอย่างชัดเจน ในขณะที่เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน มักจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ทำให้เกิดแผ่นดินไหวนำหรือตามเป็นจำนวนมาก

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth