เรียนรู้

คอยดูนะ !!! อีกหน่อย แผ่นเปลือกโลกอินเดีย-ออสเตรเลีย จะแยก เป็นแผ่นใครแผ่นมัน

จากทฤษฎีธรณีแปรสัณฐาน นักธรณีวิทยาพบว่าโลกประกอบด้วย แผ่นเปลือกโลก (tecotnic plate) ทั้งสิ้น 14 แผ่น ดังนี้ 1) แผ่นเปลือกโลกมหาสมุทร (oceanic plate) จำนวน 7 แผ่น ได้แก่ แผ่นแปซิฟิก (Pacific Plate) แผ่นทะเลฟิลิปปินส์ (Philippine-sea Plate) แผ่นนัซกา (Nazca Plate) แผ่นสโกเชีย (Scotia Plate) แผ่นฮวนเดฟูกา (Juan de Fuca Plate) แผ่นโคโคส (Cocos Plate) และ แผ่นแคริบเบียน (Caribbean Plate) 2) แผ่นเปลือกโลกทวีป (continental plate) จำนวน 7 แผ่น ได้แก่ แผ่นยูเรเชีย (Eurasian Plate) ที่ประเทศไทยของเราตั้งอยู่ แผ่นอเมริกาเหนือ (North American Plate) แผ่นอเมริกาใต้ (South American Plate) แผ่นแอฟริกา (African Plate) แผ่นแอนตาร์กติก (Antarctica Plate) แผ่นอาหรับ (Arabian Plate) และ แผ่นอินเดีย-ออสเตรเลีย (Indian-Australian Plate)

แผนที่โลกแสดงขอบเขตและการกระจายตัวของแผ่นเปลือกโลก ลูกศรแสดงทิศทางการเคลื่อนที่ และความยาวของลูกศรแสดงอัตราการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกต่างๆ (หน่วย เซนติเมตร/ปี)

แผ่นเปลือกโลกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ แผ่นแปซิฟิก รองลงมาคือแผ่นยูเรเซียและแผ่นแอฟริกาตามลำดับ ส่วนแผ่นเปลือกโลกที่เล็กที่สุด คือ แผ่นฮวนเดฟูกา

เพิ่มเติม : แผ่นเปลือกโลก และกลไกการเคลื่อนที่

อินเดีย vs ออสเตรเลีย วิ่งเร็วต่างกัน

จากการตรวจวัดและวิเคราะห์การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกด้วยเครื่อง GPS ความละเอียดสูง มีรายงานว่าปัจจุบัน แผ่นเปลือกโลกส่วนอินเดีย กำลังเคลื่อนที่ชน แผ่นยูเรเซีย ทางตอนเหนือด้วยอัตราการเคลื่อนตัว 54 มิลลิเมตรต่อปี และทำให้เกิดการยกตัวของทวีปเป็น เทือกเขาหิมาลัย อย่างไรก็ตาม ทางตอนใต้ แผ่นเปลือกโลกส่วนของออสเตรเลีย ผลการศึกษาของนักธรณีวิทยา พบว่าออสเตรเลียกำลังมุดลงไปใต้แผ่นยูเรเซีย ตาม แนวหมู่เกาะภูเขาไฟของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งผลจากการมุดตัวทำให้แผ่นเปลือกโลกส่วนออสเตรเลียนั้น กำลังเคลื่อนที่ไปทางทิศเหนือด้วยความเร็ว 69 มิลลิเมตรต่อปี นั่นหมายความว่า ปัจจุบันแผ่นเปลือกโลกอินเดีย-ออสเตรเลีย ส่วนของอินเดียเคลื่อนที่วิ่งขึ้นเหนือช้ากว่าส่วนของออสเตรเลียอยู่นิดหน่อย ทั้งนี้ก็น่าจะเพราะส่วนอินเดียวิ่งไปชนตอท่อนใหญ่ อย่างแผ่นยูเรเซียแบบจังๆ ซึ่งธรณีแปรสัณฐานในปัจจุบัน ก็จะเป็นกระบวนการชนกันของ แผ่นทวีปชนแผ่นทวีป (continent-continent collision) หรือ สิบล้อชนประสานงากับสิบล้อ ผลที่เกิดขึ้นจึงทำให้อินเดียเคลื่อนที่ได้ช้ากว่าออสเตรเลียโดยภาพรวม

ทิศทางการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกอินเดีย ที่กำลังวิ่งเข้าชนแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เกิด แนวเทือกเขาหิมาลัย (Himalaya Mountain) ที่ราบสูงทิเบต (Tibet Plateau) ตลอดจนเป็นสาเหตุทำให้รอยเลื่อนต่างๆ ที่อยู่ภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงรอยเลื่อนที่อยู่ในประเทศไทย เกิดการเลื่อนตัวอยู่ทุกวันนี้
ภูมิประเทศสามมิติแสดงมุมมองต่างๆ ของการชนกันระหว่างแผ่นเปลือกโลกอินเดียและแผ่นยูเรเซีย

แอ่งตะกอนวาตัน : หลักฐานการปริแตกของแผ่นเปลือกโลก

ผลจาก อัตราการเคลื่อนที่ ที่แตกต่างกันพอสมควร ระหว่างแผ่นเปลือกโลกส่วนอินเดียและแผ่นเปลือกโลกส่วนออสเตรเลีย ทำให้ในทุกๆ วัน ปัจจุบันนี้ แผ่นเปลือกโลกทั้งสองส่วน แข่งกันวิ่งแบบไม่สามัคคีกันไปเรื่อยๆ ส่วนออสเตรเลียก็พยายามจะวิ่งขึ้นเหนือไปหายใจรดต้นคอพื้นที่ส่วนอินเดียใกล้เข้าไปทุกทีๆ ซึ่งผลจากความไม่สามัคคีของการเคลื่อนที่ ทำให้เกิดแนวรอยแตกหรือแนวฉีกขาด หรือ รอยเลื่อน (fault) อันเนื่องมาจากการเฉือนกัน หรือ เคลื่อนที่ผ่านกัน (transform movement) ของแผ่นเปลือกโลก บริเวณทางตอนใต้ของเกาะสุมาตรา

โดยหากสังเกตทั้งจาก 1) แบบจำลองระดับสูงเชิงเลข (Digital Elevation Model, DEM) หรือ 2) ภาพถ่ายดาวเทียม (sattelite image) หรือแม้กระทั่ง 3) ภาพถ่ายดาวเทียมจากโปรแกรมกูเกิ้ลเอิร์ธ (Google Earth) ธรรมดาๆ ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน จะพบว่าบริเวณนอกชายฝั่งทางตอนใต้ของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย มีแนวเส้นหลายๆ แนวเหมือนใครเอาเข็มมาขีดข่วนพื้นผิวโลก จนเป็นริ้วรอยในแนวเหนือ-ใต้ ซึ่งในทางธรณีแปรสัณฐาน แนวเหล่านี้คือแนว รอยแตก (fracture) หรือแนว รอยเลื่อน (fault) ที่ใหญ่มาก กลางมหาสมุทรอินเดีย โดยนักธรณีวิทยาตั้งชื่อพื้นที่บริเวณนี้ว่า แอ่งตะกอนวาตัน (Wharton Basin)

แบบจำลองระดับสูงเชิงเลข (Digital Elevation Model, DEM)
พื้นที่ฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย หรือทางตอนใต้ของเกาะสุมาตรา แสดงรอยชีดๆ บริเวณแอ่งตะกอนวาตัน (Wharton Basin)

แผ่นดินไหวในวาตัน

จากการเฝ้าสังเกตแนวรอยแตกที่ควบคุมการเกิดแอ่งตะกอนวาตัน นักธรณีวิทยาพบว่าแนวเหล่านี้เคยมีการเลื่อนตัวและทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดปานกลางถึงขนาดใหญ่อยู่หลายต่อหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.1 ที่บริเวณหัวเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนิเซียในปี พ.ศ. 2547 เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนั้น ทำให้เกิดสึนามิครั้งใหญ่กระจายไปทั่วมหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม 8 ปีต่อมา ในปี พ.ศ. 2555 (ค.ศ. 2012) เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.6 บริเวณใกล้กับจุดศูนย์กลางเดิมของแผ่นดินไหวขนาด 9.1 ซึ่งด้วยขนาดที่ใกล้เคียงกับแผ่นดินไหวปี พ.ศ. 2547 ควรจะก่อให้เกิดภัยพิบัติสึนามิ มีการเตือยภัยสึนามิกันในหลายๆ ประเทศ โดยรอบมหาสมุทรอินเดีย แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น

สาเหตุก็เพราะถึงแม้จะอยู่ไกลกัน แต่ แผ่นดินไหวทั้ง 2 เหตุการณ์ เกิดจากกระบวนการทางธรณีแปรสัณฐานคนละระบบ แผ่นดินไหว 9.1 เกิดจาก เขตมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (Sumatra-Andaman Subduction Zone) และมีการเคลื่อนตัวของภูมิประเทศในแนวดิ่งอย่างทันทีทันใดในขณะที่แผ่นดินไหวขนาด 8.6 เกิดจากการเลื่อนตัวในแนวราบ (strike-slip) ของกลุ่มรอยเลื่อนใน แอ่งตะกอนวาตัน (Wharton Basin) ดังนั้นถึงแม้ว่าขนาดจะใกล้เคียงกัน แต่กลไกลการเลื่อนตัวนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จึงไม่ทำให้เกิดสึนามิขึ้น

เพิ่มเติม : ความพิเศษของ “สึนามิ” ที่คลื่นน้ำอื่นๆ ไม่มี

(ก) กลไกการเกิดแผ่นดินไหว (focal mechanism) ในบริเวณสถิติและกลไกการเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณแอ่งตะกอนวาตัน (Wharton Basin) บ่งชี้ว่ารอยเลื่อนทั้งหมดในพื้นที่นี้มีพฤติกรรมการเลื่อนตัวในแนวราบ (strike-slip fault) และไม่ก่อให้เกิดสุนามิ (ข) สถิติการเกิดแผ่นดินไหว จำนวนแผ่นดินไหวสะสม และ พลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมา จากการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่แอ่งตะกอนว่าตัน (ที่มา : Heidarzadeh และคณะ, 2017)

และนี่ก็คือเรื่องราวต่างๆ ของแนวหรือ รอยข่วนแปลกๆ กลางมหาสมุทรอินเดีย ที่เรียกว่า แอ่งตะกอนวาตัน ซึ่งก็เพราะการเลื่อนตัวของกลุ่มนอยเลื่อนในแอ่งตะกอนวาตัน จึงทำให้ในไม่ช้าสักวัน แผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลีย ในส่วนที่เป็นแผ่นอินเดียก็จะแตก และแยกออกจากแผ่นเปลือกโลกส่วนออสเตรเลีย เป็นแผ่นใหม่ของใครของมัน

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: