เรียนรู้

ภูมิอากาศและระบบภูมิอากาศ

ระบบภูมิอากาศ

ภูมิอากาศ (climate) คือ สภาพอากาศโดยเฉลี่ยของพื้นที่ใดๆ ตลอดช่วงเวลาอย่างน้อย 30 ปี ซึ่งมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ทั้งอุณหภูมิ ความชื้น ความกดอากาศ หยาดน้ำฟ้า (ฝน ลูกเห็บ หิมะ) ตลอดจนปริมาณอนุภาคในบรรยากาศ ซึ่งภูมิอากาศของพื้นที่ใดๆ เกิดจาก ระบบภูมิอากาศ (climate system) ซึ่งเป็นร่ะบบที่บูรณาการส่วนทีสัมพันธ์กัน 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) บรรยากาศ (atmosphere) 2) อุทกบรรยากาศ (hydrosphere) 3) หิมะภาค (cryosphere) 4) ธรณีภาค (lithosphere) และ 5) ชีวภาค (biosphere) โดยผลจากความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ วลาดิเมียร์ เคิปเปน (Köppen W) นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ได้จำแนกภูมิอากาศของโลกโดยใช้อุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละเดือน และปริมาณน้ำฝนทั้งปีเป็นเกณฑ์ออกเป็น 6 กลุ่ม เรียกว่า การจำแนกภูมิอากาศโดยวิธีเคิปเปน (Koppen)

แผนที่โลกแสดงการจำแนกภูมิอากาศโดยวิธีเคิปเปน ตามความแตกต่างของอุณหภูมิและปริมาณหยาดน้ำฟ้าในแต่ละเดือนตลอดทั้งปี (ที่มา : http://hanschen.org/koppen/)

ภูมิอากาศ (climatology) ศึกษาความแตกต่างในแนวราบ แตกต่างจากบรรยากาศ (atmosphere) ซึ่งเป็นสภาพอากาศที่ปกคลุมโลกอยู่ทั่วไป และแบ่งออกได้ตามช่วงความสูงจากผิวโลก

กลุ่ม A: ภูมิอากาศร้อนชื้น (tropical climate)

ฝนตก >150 เซนติเมตร ปริมาณหยาดน้ำฟ้าสูงกว่าการระเหยและไม่มีฤดูหนาว อุณหภูมิเฉลี่ยทุกเดือน >18°C อุณหภูมิระหว่างกลางวัน-กลางคืนสูง (22°C-32°C) อยู่ระหว่างละติจูด 25°N- 25°S ได้แก่ ลุ่มน้ำอเมซอนในประเทศบราซิล ลุ่มน้ำคองโกในตอนกลางของทวีปแอฟริกา และทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แบ่งย่อยเป็น 3 แบบ คือ 1)  แบบป่าดิบชื้น (Af) อากาศชื้น ฝนตก อุณหภูมิสูง ตลอดปี ฝน > 60 มิลลิเมตร ตลอดปี 2)  ภูมิอากาศร้อนชื้นแถบมรสุม (Am) ชื้นและปริมาณฝนตามมรสุม 3) แบบทุ่งหญ้าสะวันนา (Aw) อากาศชื้นกับแล้งสลับกันชัดเจน มีทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง

กลุ่ม A: ภูมิอากาศร้อนชื้นแถบศูนย์สูตร (ก) แบบป่าดิบชื้น (Af) (ข) ภูมิอากาศร้อนชื้นแถบมรสุม (Am) (ค) แบบทุ่งหญ้าสะวันนา (Aw)

กลุ่ม B: ภูมิอากาศแห้ง (dry climate)

อากาศแห้ง ปริมาณการระเหยสูงกว่าหยาดน้ำฟ้า ทำให้ท้องฟ้าโปร่ง กลางวันมีอุณหภูมิ >38°C (50° ในช่วงฤดูร้อน) กลางคืนอาจจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง (-15°C ในช่วงฤดูหนาว) ปริมาณน้ำฝนในรอบปี < 5 เซนติเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างละติจูดที่ 20°-30° เหนือและใต้ โดยมากจะเป็นทะเลทราย ได้แก่ ทะเลทรายซาฮาร่าในทวีปแอฟริกาตอนเหนือ ทะเลทรายโกบีในประเทศจีน ซึ่งเกิดจากมวลอากาศแห้งปะทะกันแล้วจมตัวลง แบ่งย่อยเป็น 2 ประเภท คือ 1) ภูมิอากาศกึ่งแห้งแล้ง หรือ ทุ่งหญ้าสเตปป์ (steppe climate) หรือ S และ 2) ภูมิอากาศทะเลทราย (desert climate) หรือ W เมื่อรวมแล้วจะได้เป็น Bs เขตภูมิอากาศกึ่งแห้งแล้ง และ Bw เขตภูมิอากาศทะเลทราย

กลุ่ม B: ภูมิอากาศแห้ง (ซ้าย) Bs เขตภูมิอากาศกึ่งแห้งแล้ง หรือ ทุ่งหญ้าสเตปป์ (ขวา) Bw เขตภูมิอากาศทะเลทราย

กลุ่ม C: ภูมิอากาศอบอุ่น (warm temperate climate )

เป็นบริเวณที่ฤดูร้อนและฤดูหนาวมีอุณหภูมิไม่แตกต่างกันมาก เพราะว่ามีอากาศชื้นตลอดทั้งปีเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ใกล้ทะเลและมหาสมุทร อุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนที่หนาวที่สุดอยู่ระหว่าง -3 oC-18oC และมีอย่างน้อยหนึ่งเดือนที่มีอุณหภูมิ >10 oC แบ่งย่อยเป็น 2 ประเภท คือ 1) ภูมิอากาศแถบเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean climate) พืชพรรณเป็นพุ่มเตี้ย มักเกิดไฟป่าในช่วงฤดูร้อนและมีฝนตกเล็กน้อยในช่วงฤดูหนาว พื้นที่อยู่รอบฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตอนใต้และเหนือของทวีปยุโรป และ 2) ภูมิอากาศแถบอบอุ่น (temperate climate) มีฤดูกาลแตกต่างชัดเจน ปริมาณน้ำฝนในรอบปี 500-1,500 มม. พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างละติจูดที่ 25°-40° เหนือ เช่น ยุโรปตอนกลาง และภาคตะวันออกของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน

กลุ่ม C: ภูมิอากาศอบอุ่น (ก) ภูมิอากาศแถบเมดิเตอร์เรเนียน และ (ข) ภูมิอากาศแถบอบอุ่น

กลุ่ม D: ภูมิอากาศชื้นภาคพื้นทวีป (humid continental climate)

ลมพัดมาจากมหาสมุทรนำความชื้นเข้ามาสู่ภาคพื้นทวีปซึ่งอยู่ตอนใน เนื่องจากอยู่ในเขตละติจูดสูง อากาศจึงหนาวเย็นในช่วงฤดูร้อน (อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่อบอุ่นที่สุด >10°C) และมีสภาพอากาศรุนแรงในช่วงฤดูหนาว อากาศหยาวเย็นปกคลุมนานถึง 9 เดือน (อุณหภูมิเฉลี่ยของเดือนที่หนาวที่สุด < -3°C) ซึ่งทำให้น้ำแข็งจับตัวภายในดิน ต้นไม้เจริญเติบโตช้า พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างละติจูดที่ 40°-60°เหนือ ของทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย ภูมิอากาศแบบนี้แบ่งย่อยได้เป็น 2 ประเภท คือ 1) อุณหภูมิต่ำความชื้นตลอดปี (Df) ฝนตกทั้งฤดูร้อนและหนาว อากาศชื้นตลอดปี และ 2) อุณหภูมิต่ำ แล้งฤดูหนาว (Dw) ฝนตกฤดูร้อน ฤดูหนาวอากาศเย็นและไม่มีฝน

กลุ่ม D: ภูมิอากาศชื้นภาคพื้นทวีป

ภูมิอากาศชื้นภาคพื้นทวีปไม่มีในเขตซีกโลกใต้ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของละติจูดนี้ในซีกโลกใต้ เป็นมหาสมุทร ไม่มีพื้นทวีปขนาดใหญ่

กลุ่ม E: ภูมิอากาศขั้วโลก (polar climate)

มีอากาศแห้ง ลมแรง และหนาวเย็นตลอดทั้งปี ฤดูร้อนมีอุณหภูมิสูงกว่าจุดน้ำแข็งเพียงแค่ 2-4 เดือน (< 10°C) มีฤดูหนาวที่ยาวนาน และมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่เหนือเส้นอาร์คติกเซอร์เคิล (66.5° เหนือ) ขึ้นไป และใต้เส้นแอนตาร์คติกเซอร์เคิล (66.5° ใต้) ลงมา บริเวณใกล้กับขั้วโลกเช่น เกาะกรีนแลนด์และทวีปแอนตาร์กติกมีแผ่นน้ำแข็งถาวรหนาหลายร้อยเมตรปกคลุม พื้นมหาสมุทรเต็มไปด้วยภูเขาน้ำแข็ง พื้นทวีปในส่วนที่ห่างไกลจากขั้วโลก น้ำในดินแข็งตัวอย่างถาวร พืชส่วนใหญ่ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ แบ่งย่อยได้ 2 ประเภท คือ 1) ภูมิอากาศทุนดรา (Et) ส่วนใหญ่อยู่ทางซีกโลกเหนือ ไม่ค่อยมีต้นไม้ ฤดูหนาวอากาศรุนแรง ฤดูร้อนจะเย็น ช่วงอุณหภูมิรายปีจะแตกต่างกันมาก และ 2) ภูมิอากาศหมวกน้ำแข็ง (ice cap) (Ef) ไม่มีอุณหภูมิรายเดือนเฉลี่ยที่ >0 องศาเซลเซียส เพราะเป็นน้ำแข็งหรือหิมะถาวร

กลุ่ม E: ภูมิอากาศขั้วโลก (ก) ภูมิอากาศทุนดรา (Et) (ข) ภูมิอากาศหมวกน้ำแข็ง (Ef)

กลุ่ม F: ภูมิอากาศแถบภูเขาสูง (highland climate)

หรือ ภูมิอากาศแนวตั้ง เป็นลักษณะภูมิอากาศหลายแบบรวมกัน ขึ้นอยู่กับระดับสูงของพื้นที่ บนยอดเขาสูงมีความหนาวเย็นคล้ายคลึงกับภูมิอากาศขั้วโลก สภาพลมฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ภูมิอากาศแบบนี้ปกคลุมพื้นที่เล็กๆ ตามเทือกเขาสูงของโลก เช่น เทือกเขาหิมาลัยในทวีปเอเชีย และเทือกเขาแอนดิสในทวีปอเมริกาใต้ ชนิดของพืชพรรณตามไหล่เขา เปลี่ยนไปตามสภาพภูมิอากาศซึ่งแตกต่างกันทุกๆ ระยะสูงที่เพิ่มขึ้น 300 เมตร เช่น บริเวณตีนเขาอาจเป็นไม้ผลัดใบ สูงขึ้นมาเป็นป่าสน ยอดเขาปกคลุมด้วยธารน้ำแข็ง

กลุ่ม F: ภูมิอากาศแถบภูเขาสูง (ก) ตีนเขาเป็นไม้ผลัดใบ (ข) สูงขึ้นไหล่เขาเป็นป่าสน (ค) ยอดเขาปกคลุมด้วยธารน้ำแข็ง

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: