
ย้อนรอย แผ่นดินไหว 4.8 ปี 49 ประจวบฯ : หากนักธรณีวิทยาไม่ลงพื้นที่ไปในวันนั้น เรื่องอาจจะพัลวันไปมากกว่านี้
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2549 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.8 ในละแวกภาคใต้ตอนบนของประเทศไทยแถบจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเกิดประเด็นทางด้านวิชาการเล็กน้อยเกี่ยวกับตำแหน่งหรือจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวในครั้งนั้น เรื่องของเรื่องคือในวันนั้น เครือข่ายตรวจวัดแผ่นดินไหวระดับโลกอย่าง สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) รายงานว่าแผ่นดินไหวขนาด 4.8 มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ทางตอนใต้ของประเทศพม่า (ติดกับจังหวัดชุมพร) ขณะที่เครือข่ายตรวจวัดแผ่นดินไหวของ สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศไทย รายงานว่าแผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดบริเวณนอกชายฝั่งอ่าวไทย อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ทำไมต้องรื้อฟื้น
ถามว่าแผ่นดินไหวมันก็ผ่านไปแล้ว เสียหายก็ไม่เท่าไหร่ ปล่อยๆ ให้เรื่องมันเงียบๆ ไปไม่ได้เหรอ ? จริงๆ แล้วในหลายๆ เหตุการณ์แผ่นดินไหวมีการรายงานจุดศูนย์กลางที่คาดเคลื่อนกันไปบ้าง เราก็ไม่ถึงกับซีเรียสอะไร แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ค่อนข้างที่จะมีนัยสำคัญ ซึ่งไม่ใช่นัยเรื่องศักดิ์ศรีความน่าเชื่อถือของเครือข่ายตรวจวัด แต่เป็นนัยทางธรณีวิทยา ธรณีแปรสัณฐาน รวมทั้งนัยสำคัญถึงพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหว ของแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวแถบภาคใต้ของประเทศไทย
แล้วตกลงแผ่นดินไหวขนาด 4.8 เกิดตรงไหนกันแน่ เครือข่ายตรวจวัดระดับโลกบอกว่าเกิดฝั่งพม่าส่วนเครือข่ายเจ้าถิ่นของไทย ซึ่งก็มีสถานีตรวจวัดในบ้านเราหนาแน่นกว่ากลับบอกว่าแผ่นดินไหวเกิดที่อ่าวไทย เอาไงกันดีละทีนี้…
เพราะถ้าแผ่นดินไหวเกิดที่พม่าอย่างที่ USGS ว่า เรื่องมันก็คงจะจบในวันสองวัน สรุปได้ง่ายๆ ว่าแผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดจากกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังทางตอนใต้ของประเทศพม่าที่ทอดยาวมาจากด้านบน ซึ่งก็มีรายงานวิจัยเคยนำเสนอไว้แล้วและยืนยันว่าเป็นรอยเลื่อนมีพลัง

แต่ถ้าเชื่อในผลการวิเคราะห์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า แผ่นดินไหวนั้นเกิดนอกชายฝั่งอ่าวไทย แถวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็คงต้องคุยกันหน่อย เพราะสาเหตุการเกิดแผ่นดินไหวสามารถปรักปรำได้ถึง 3 แบบ 3 จำเลย
จำเลยที่ 1 รอยเลื่อนระนอง (Ranong Fault) ซึ่งตอนนั้น (พ.ศ. 2549) ก็ยังมีแนวคิดยึกๆ ยักๆ กันอยู่ว่ารอยเลื่อนระนอง รวมถึง รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย (Klong Marui) ยังมีพลังหรือไม่ ตายไปแล้วหรือยัง เพราะถ้าแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดที่อ่าวไทย และยืนยันได้ว่าเป็นเพราะรอยเลื่อนระนอง ก็จะทำให้ถูกสถาปนาขึ้นเป็น รอยเลื่อนมีพลังที่น่าจับตามอง !!! ขึ้นมาในทันที และแผ่นดินไหวครั้งนี้ ก็จะมีขนาดใหญ่ที่สุด เท่าที่น้องนองเคยลองมา
จำเลยที่ 2 รอยเลื่อนควบคุมแอ่งตะกอนในอ่าวไทย โดยงานวิจัยทางธรณีวิทยาในปัจจุบันรายงานว่า ในอ่าวไทยมี รอยเลื่อนปกติ (notmal fault) ที่วางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ คอยควบคุมการเปิดของแอ่งตะกอน (ดูรูปบน ค ประกอบ) อันเนื่องมาจากจากแรงดึงทางธรณีแปรสัณฐาน ทำให้พื้นทวีปถูกยืดออกจากกันและแตกเป็นท่อนๆ และมีการยุบตัวลงอย่างเป็นระบบ ซึ่งถ้าแผ่นดินไหวในครั้งนั้นเกิดจากรอยเลื่อนชุดนี้ ก็อาจจะต้องมีการประเมินเรื่องแผ่นดินไหวกันใหม่อีกครั้ง ทั้งกับพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศไทย รวมถึงอะไรๆ ที่สร้างอยู่ในอ่าวไทย โดยปริยาย

จำเลยที่ 3 โพรงใต้ดินถล่มจากการสูบและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งเป็นไปได้ แต่ก็ภาวนาว่าอย่าให้เป็น เพราะในช่วงห้วงเวลานั้นมีกระแสข่าวว่า การสูบปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ก็ทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ โดยเหตุการณ์ที่เกิดก่อนหน้าและสรุปว่า ก็เพราะคนสูบน้ำมัน คือ แผ่นดินไหวขนาด 4.2 ที่อ่าวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งถ้าแผ่นดินไหวขนาด 4.8 ที่เกิดขึ้นนี้ถูกยัดเหยียดให้เป็นเพราะแท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย ก็คงจะอยู่กันยากทั้งบริษัทไทยและเทศ ถ้าเป็นยุคนี้ #saveอ่าวไทย ก็คงขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์แน่ๆ
สถิติการเกิดแผ่นดินไหวในละแวกประจวบคีรีขันธ์และรอยเลื่อนระนอง
27-28 กันยายน พ.ศ. 2549 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.1-4.8 ในอ่าวไทย 6 ครั้ง นอกชายฝั่ง อำเภอสามร้อยยอด
8 ตุลาคม พ.ศ. 2549 แผ่นดินไหวขนาด 5.0 จำนวน 1 ครั้ง ประชาชนในหลายท้องที่รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน เช่น หัวหิน สามร้อยยอด กุยบุรี ปราณบุรี ฯลฯ
4 มิถุนายน พ.ศ. 2555 แผ่นดินไหวขนาด 4.0 อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ประชาชนในแถบนั้นรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน
การศึกษาแผ่นดินไหวในเชิงบริเวณกว้าง
เดือดร้อนไปถึงนักธรณีวิทยา ตามกรมกองต่างๆ ที่ต้องลงพื้นที่จริงเพื่อไปสำรวจ พิสูจน์ทราบและตีแผ่ความจริง โดยวิธีการศึกษาที่นักธรณีวิทยาเลือกใช้คือ การศึกษาแผ่นดินไหวในเชิงบริเวณกว้าง (macroseismic study) หรือการลงพื้นที่ไปสอบถามและสำรวจความเสียหายในแต่ละพื้นที่โดยรอบจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว จากนั้นจึงสรุปผลและสร้างเป็น แผนที่ความรุนแรงแผ่นดินไหวเท่า (isoseismal map) จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เป็นประเด็น
เพิ่มเติม : แผนที่ความรุนแรงแผ่นดินไหวเท่า : การสำรวจและประโยชน์ของแผนที่

ผลจากการสำรวจ ศึกษา และจัดทำแผนที่ความรุนแรงแผ่นดินไหวเท่า ทั้งจากทีมนักธรณีวิทยากรมชลประทาน และกรมทรัพยากรธรณี ต่างก็ออกมาในรูปแบบเดียวกันคือ ความรุนแรงแผ่นดินไหว (earthquake intensity) สูงที่สุดบริเวณริมชายฝั่งอ่าวไทยแถวเขาสามร้อยยอด และความรุนแรงดังกล่าวก็ลดหลั่นลงไปทางทิศตะวันตกสู่งฝั่งประเทศพม่า ตามลำดับ จึงยืนยันจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวในอ่าวไทย ที่ตรวจวัดได้จากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยาของไทย น่าจะถูกต้อง

ประกอบกับในเวลาต่อมา สุมาลี ทิพโยภาส (Thipyopass, 2010) ได้วิเคราะห์กลไกการเกิดแผ่นดินไหว (focal mechanism) สรุปว่าแผ่นดินไหว 4.8 ดังกล่าวเกิดจาก การเลื่อนตัวในแนวราบ (strike slip) เป็นหลัก สอดคล้องกับธรรมชาติการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนระนอง มากกว่าที่จะเป็นการเลื่อนตัวในแนวดิ่งของรอยเลื่อนที่ควบคุมแอ่งตะกอนในอ่าวไทย และการถล่มของโพรงใต้ดินจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม
รอยเลื่อนระนอง (Ranong Fault) รวมทั้ง รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย (Klong Marui) จึงถูกสถาปนาเป็น รอยเลื่อนมีพลัง (active fault) อย่างสิ้นสงสัย และหลายๆ คนก็เพิ่งได้รู้ในวันนั้นเช่นกันว่า รอยเลื่อนระนองพาดยาวต่อลงไปในอ่าวไทยจริงๆ ซึ่งนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ทีมนักธรณีวิทยาจำนวนมากทั้งจากกรมชลประทานและกรมทรัพยากรธรณี (กรมชลประทาน, 2548; กรมทรัพยากรธรณี, (2550; กรมชลประทาน, 2551; กรมชลประทาน, 2552) จึงมุ่งหน้าลงใต้ สำรวจธรณีวิทยาแผ่นดินไหวในรายละเอียดและผลที่ได้ก็อย่างที่สรุปให้เห็นในบทความ กลุ่มรอยเลื่อนระนอง-คลองมะรุ่ย เป็นหรือตาย ? จากนิยาม “รอยเลื่อนมีพลัง”
และนี่ก็คืออีกหนึ่งบทบาทสำคัญของวิชาชีพนักธรณีวิทยา และประโยชน์ของ การศึกษาแผ่นดินไหวในเชิงบริเวณกว้าง (macroseismic study) และการสร้าง แผนที่ความรุนแรงแผ่นดินไหวเท่า (isoseismal map)
อ้างอิง
- กรมชลประทาน, 2548. งานศึกษาแก้ไขและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโครงการท่าแซะ จังหวัดชุมพร ในส่วนการศึกษาค่าสำรวจคาบอุบัติซ้ำ (รอยเลื่อนระนอง). กรมชลประทาน, 113 หน้า.
- กรมชลประทาน, 2551. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองถ้ำ อำเภอเมือง จังหวัดพังงา. กรมชลประทาน, 156 หน้า.
- กรมชลประทาน, 2552. โครงการศึกษาธรณีวิทยารอยเลื่อนมีพลัง เขื่อนคลองลำรูใหญ่ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา. กรมชลประทาน, 206 หน้า.
- กรมทรัพยากรธรณี, 2549. แผนที่รอยเลื่อนมีพลังประเทศไทย. กรมทรัพยากรธรณี.
- กรมทรัพยากรธรณี, 2550. การศึกษาคาบอุบัติซ้ำในพื้นที่ที่แสดงร่องรอยการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎ์ธานี กระบี่ พังงา และภูเก็ต (รอยเลื่อนระนองและรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย). กรมทรัพยากรธรณี, 244 หน้า.
- Thipyopass, S., 2010. Paleoearthquake investigation along the Ranong Fault Zone, Souhtern Thailand. B.Sc. Thesis, Department of Geology, Chulalongkorn University.
- Rattanasriampaipong R., 2017. Potential Sources of Mercury in Southern Pattani Basin, the Gulf of Thailand. BEST Journal 9(2) : 13p. DOI: 10.13140/RG.2.2.33243.67369
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth