สำรวจ

มัดรวมเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ที่ไทยเคยโดน

 ประสบการณ์การด้านแผ่นดินไหวในบ้านเรา จริงๆ แล้วก็มีให้เห็นเป็นระยะๆ หลายคนเคยเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อโทรทัศน์ แต่คนที่จะได้รับประสบการณ์ตรงของแรงสั่นสะเทือนนั้นคงนับหัวได้ ดังนั้นคนไทยส่วนใหญ่จึงอาจจะคิดว่าแผ่นดินไหวเป็นเรื่องไกลตัว คิดไปก็ปวดหัวเปล่าๆ ก่อนที่ความรู้สึกแบบนี้จะฝังรากหยั่งลึก แนะนำให้ลองดูแผนที่ด้านล่างกันก่อน

ข้อมูลที่แสดงในแผนที่เป็นสถิติการเกิดแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดในช่วงปี พ.ศ. 2507-2554 ซึ่งคัดลอกมาจากฐานข้อมูลแผ่นดินไหวของหน่วยงาน Incorporated Research Institutions for Seismology (IRIS) ประเทศสหรัฐอเมริกา จุดสีเทาที่แปะอยู่จนดูเหมือนแผนที่นั้นขึ้นรา คือ ตำแหน่งของแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่กว่า 4.0 ซึ่งมีมากกว่า 100,000 จุด ส่วนสี่เหลี่ยมสีเขียว คือแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่กว่า 7.0 ขณะที่สีฟ้านั้น ก็แผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่กว่า 7.0 เหมือนกัน แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดก่อน ปี พ.ศ. 2507 ซึ่งรวบรวมมาจากบทความทางวิชาการและบันทึกเอกสารในประเทศพม่า

แผนที่ประเทศไทยและเพื่อนบ้านแสดงการกระจายตัวของแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดและข้อมูลการจดบันทึกทางเอกสาร วงกลมสีแดง คือ เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งสำคัญในประเทศไทยที่อยากจะเล่าให้ฟังในบทความนี้

เมื่อดูจากการกระจายตัวของจุดสีเทาบนแผนที่ในแผนที่ด้านบนก็พอจะเดาแนวโน้มได้ว่า แผ่นดินไหวส่วนใหญ่นั้นจะเกิดเบียดเสียด ยัดเยียดอยู่ตาม เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามัน (Sumatra-Andmand Subduction Zone) ซึ่งทอดยาวจากเทือกเขาอาระกัน ทางตะวันตกของพม่า ลงสู่หมู่เกาะนิโคบาร์ และเลื้อยมาตามขอบด้านซ้ายของเกาะสุมาตรา ของประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นชุมชนแออัดแผ่นดินไหวเลยก็ว่าได้ เพราะดูแล้วแทบจะไม่มีช่องว่างให้วางแผ่นดินไหวลงไปได้อีก ยิ่งถ้าดูที่สี่เหลี่ยมเขียว ก็ยิ่งไม่ต้องสงสัยกันเลยครับว่า “ตัวนี้ตัวพ่อ” เพราะภายในระยะเวลาไม่ถึง 50 ปี (พ.ศ. 2507-2554) เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า 7.0 ในแถบนี้ มากกว่า 20 ครั้ง แถมดาวแดง (แผ่นดินไหวขนาด 9.0 พ.ศ. 2547) ก็ยังเป็นเครื่องหมายการค้าชั้นดี การันตีคุณภาพที่เขตมุดตัวของเปลือกโลกนี้ได้ตีตราฝากเอาไว้

วกเข้ามาที่บ้านเรา จากแผนที่ด้านบนจะเห็นว่าเมืองไทยยังถือว่าโชคดีที่รอยเลื่อนภายในประเทศดูจะไม่ค่อยดุร้ายเท่าไหร่นัก เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน การวางตัวของจุดสีเทาดูเบาบาง แต่ก็ยังพอมีให้เห็นบ้างในภาคเหนือและภาคตะวันตก ซึ่งเท่าที่พอจะจำได้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวสำคัญที่เกิดประชิดหรืออยู่ในผืนแผ่นดินไทยก็เห็นจะมีซักกว่า 10 ครั้ง

โดยเมื่อประมาณ 35 ปีที่แล้ว 17 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 (Prachaub, 1990) ที่ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก (หมายเลข 1 ในแผนที่) ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเกิดจากการเลื่อนตัวของ กลุ่มรอยเลื่อนเมย-ตองยี ผลจากแผ่นดินไหวในครั้งนั้น ทำให้ จังหวัดตาก ถูกปะทะด้วยความรุนแรงแผ่นดินไหวในระดับ VI ตาม มาตราเมอร์คัลลี่แปลง (รูป ก) นั่นหมายถึงระดับที่คนตกใจวิ่งออกจากบ้าน และแรงสั่นสะเทือนยังแผ่กระจายไปทั่วตลอดทั้งภาคเหนือและภาคกลางรวมไปถึงกรุงเทพฯ ซึ่งโดนหางเลขไปเบาะๆ ระดับ V เพียงพอที่จะทำให้ถ้วยชามนั้นตกแตก

แผนที่แผ่นดินไหวเท่าแสดงระดับการสั่นสะเทือนตามมาตราเมอร์คัลลี่แปลง จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย (รูปจาก Pailoplee, 2012)

อีก 8 ปีต่อมา ประเทศไทยก็โดนแผ่นดินไหวอีกครั้งเมื่อวันที่ 22 เดือนเมษายน พ.ศ. 2526 (Prachaub, 1990) คราวนี้มีขนาด 5.6 เกิดใกล้กับเขื่อนศรีนครินทร์ (หมายเลข 2 ในแผนที่) ซึ่งก็ยืนยันได้ว่า กลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ นั้นคือต้นเหตุ แรงสั่นสะเทือนระดับ IV-VI กระจายไปทั่วภาคตะวันตกและภาคกลาง (แผนที่แผ่นดินไหวเท่า รูป ข) และเป็นเหตุการณ์ที่ยังคงหลอกหลอนคนไทยอยู่จนถึงทุกวันนี้ว่า “เขื่อนของไทย ยังวั๊ยมั๊ย…พ่อทิด”

หลังจากนั้นตลอดระยะเวลา 20 ปี (พ.ศ. 2530-2550) ดูเหมือนว่าภาคเหนือจะครองความเป็นเจ้า จัดแสดงแผ่นดินไหวออกมาเป็นระยะๆ ทั้งแผ่นดินไหวขนาด 5.1 เมื่อวันที่ 11 เดือนกันยายน พ.ศ. 2537 ที่ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย จนทำให้โรงพยาบาลประจำอำเภอนั้นแตกร้าว และอีกครั้งขนาด 5.2 ปี พ.ศ. 2538 ที่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ (หมายเลข 3-4 ในแผนที่) และเกิดกระเจ๊าะกระแจ๊ะ (ขนาด 2.0-4.0) เสริมมาอีกเป็นระรอกๆ

ความเสียหายที่เกิดขึ้นในอาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลพาน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เนื่องจากแผ่นดินไหวขนาด 5.1 (http://202.28.24.131/web/6-2.htm)

ปิดท้ายก่อนอำนาจจะเปลี่ยนมือ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดแสดงแผ่นดินไหวอีกครั้งเพื่อสั่งลา วันที่ 12 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 เกิดแผ่นดินไหวด้วยขนาดพอประมาณ 5.1 (หมายเลข 5 ในแผนที่) ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจาก กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา (กรมทรัพยากรธรณี, 2549) เกิดความรุนแรงสูงสุดในระดับ VI ในพื้นที่ใกล้จุดศูนย์กลาง ทำให้ผนังบ้านเรือนร้าวใน จังหวัดเชียงใหม่ และส่งต่อไปถึง จังหวัดเชียงรายเกือบทั้งพื้นที่ที่ในระดับ II-IV (แผนที่แผ่นดินไหวเท่า รูป ค)

ในช่วงปี พ.ศ. 2549 มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ แผ่นดินไหวย้ายขุมกำลังลงสู่ปักษ์ใต้ วันที่ 8 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2549 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกิดแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งอ่าวไทย ขนาด 5.0 (กรมชลประทาน, 2549) (หมายเลข 6 ในแผนที่) ส่งความรุนแรงสูงสุดถึงระดับ V ตามแนวชายฝั่งอ่าวไทย (แผนที่แผ่นดินไหวเท่า รูป ง) ซึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ถือเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะในอดีตนักแผ่นดินไหวไทยหลายคนเชื่อว่า ในอ่าวไทยไม่น่าจะมีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวที่พอจะทำร้ายเราได้ แต่สุมาลี และคณะ (2552) ก็ยืนยันถึงตำแหน่งจุดศูนย์กลาง และยังสรุปเพิ่มเติมอีกว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนั้นเกิดจากการเลื่อนตัวตรงส่วนปลายสุดทางตอนเหนือของ กลุ่มรอยเลื่อนระนอง ซึ่งพาดผ่านตั้งแต่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงมาจนถึง จังหวัดชุมพร

หลังจาก พ.ศ. 2549 แผ่นดินไหวเริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน การแสดงส่วนใหญ่จึงตกไปอยู่แถบประเทศลาวหรือพม่าเป็นหลัก 16 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 มีศูนย์กลางในประเทศลาว (หมายเลข 7 ในแผนที่) ซึ่งเชื่อว่าเกิดบริเวณตอนกลางของ กลุ่มรอยเลื่อนน้ำมา (แนวเส้นสีเขียว หมายเลข 2 ในรูปด้านล่าง) และทำให้อาคารหลายหลังเสียหายรวมทั้งโรงเรียนเม็งรายมหาราชวิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด 6.3 เมื่อปี พ.ศ. 2550 (วงกลมแดง) และ 7.0 เมื่อปี พ.ศ. 2553 (วงกลมฟ้า) (1) กลุ่มรอยเลื่อนเม็งซิง (2) กลุ่มรอยเลื่อนน้ำมา (3) กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน

จากนั้นอีก 3 ปีถัดมา เมื่อวันที่ 25 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 (หมายเลข 8 ในแผนที่) กลุ่มรอยเลื่อนน้ำมา ได้สำแดงฤทธิ์เดชออกสู่สายตาประชาชนอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้จัดมาเต็ม 7.0 (วงกลมสีฟ้าในรูปด้านบน) พร้อมกับลูกสมุนอีกมากมายกระจายตัวตรงปลายสุดทางตอนใต้ของรอยเลื่อน ผลจากแผ่นดินไหวในครั้งนั้น สร้างความเสียหายอย่างมากต่อบ้านเรือนในพม่ามากกว่า 100 หลังคาเรือน และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 63 คน และส่งผลถึงพื้นที่ภาคเหนือของไทยที่ต้องโดนหางเลขไปด้วย เช่น โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ พบรอยแตกร้าว ถือว่าเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ใหญ่ที่สุด ที่ผมเคยเห็นกับตาในแถบบ้านใกล้เรือนเคียง

สภาพความเสียหายในประเทศพม่าจากแผ่นดินไหวขนาด 7.0 เมื่อวันที่ 25 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 (www.krqe.com)

อีกเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งสำคัญ ที่น้อยคนนักจะจำได้คือแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ใกล้กับรอยเลื่อนปัว จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 13 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2468 (หมายเลข 9 ในแผนที่) แต่ด้วยความที่เกิดในช่วงยุคอนาล็อกและเกิดห่างไกลผู้คน ทำให้แผ่นดินไหวในครั้งนั้นไม่ได้เป็นที่สนใจมากนัก และไม่มีการรายงานความเสียหายให้เห็น

ปิดท้าย ด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีระบุว่าเกิดจาก กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวกระจายไปทั่วทั้งภาคเหนือของประเทศไทยและพม่า อาคารบ้านเรือนใกล้กับจุดศูนย์กลางได้รับความเสียหายอย่างหนัก ถนนบางสายทรุดตัว และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย นอกจากนี้ประชาชนที่อยู่บนอาคารสูงในกรุงเทพฯ ก็รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ รวมถึงเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่าด้วย

สภาพความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนอันเนื่องมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

และนี่ก็เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งสำคัญที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยและเพื่อนบ้าน ที่เพียงแค่ระยะเวลาเกือบ 50 ปี ที่เริ่มมีการตรวจวัดและเก็บข้อมูลสถิติการเกิดแผ่นดินไหว ก็ยังออกฤทธิ์ออกเดชมากขนาดนี้ ดังนั้นภัยพิบัติแผ่นดินไหวกับประเทศไทย จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว การปรับตนและปฏิบัติตัวให้พร้อมรับมือกับแผ่นดินไหว จึงเป็นสิ่งที่เราควรทำ เพราะจำเป็น

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share:
Slot Toto Slot Gacor Maxwin slot thailand slot toto slot resmi slot thailand slot qris slot gacor maxwin slot gacor maxwin Slot Gacor Maxwin Slot Gacor Maxwin 2024 Situs Slot Gacor 777 Situs Slot Gacor Toto Slot Gacor 2024 Maxwin Slot Gacor Terbaik Slot Gacor 4D Slot Gacor Terpopuler slot gacor maxwin slot toto gacor scatter hitam slot thailand slot777 slot maxwin slot thailand slot toto gacor slot gacor 777 Slot Gacor Thailand slot88 maxwin slot thailand 2024