เรียนรู้

ทะเลทรายไม่ได้ร้อนเสมอไป แถมยังเกิดได้หลายแบบ

โลกมี พื้นที่แห้งแล้ง (arid area) กระจายอยู่ทั่วทุกทวีป โดยนักวิทยาศาสตร์ได้จำแนกสภาพแวดล้อมแห้งแล้งออกเป็น 2 ระดับ คือ

1) ทุ่งหญ้าสเตปป์ (steppe) หมายถึง พื้นที่กึ่งแห้งแล้ง (semiarid area) ฝนตกโดยเฉลี่ย 25-50 เซนติเมตร โดยส่วนใหญ่อยู่ตามรอยต่อระหว่างทะเลทรายและพื้นที่ปกติ และมีโอกาสพัฒนาเป็นทะเลทรายได้หากมีปัจจัยสนับสนุนการแห้งแล้งเพิ่มสูงขึ้น

2) ทะเลทราย (desert) หมายถึง พื้นที่แห้งแล้งอย่างรุนแรง มีฝนตกโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 25 เซนติเมตร มีอัตราการระเหยสูง และไม่มีธารน้ำถาวร ซึ่งกระบวนการเกิดทะเลทราย (desertification) มีสาเหตุมาจากทั้งธรรมชาติ เช่น ปรากฏการณ์โลกร้อน (global warming) การลดระดับของน้ำใต้ดิน และจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การทำปศุสัตว์มากเกินไป ตลอดจนการขยายพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์

(ซ้าย) ทุ่งหญ้าสเตปป์ (ขวา) ทะเลทราย
แผนที่โลกแสดงการกระจายตัวของสภาพแวดล้อมแห้งแล้ง

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์จำแนกทะเลทรายตามรูปแบบการเกิดออกเป็น 6 รูปแบบ

1) ทะเลทรายแถบละติจูดต่ำ

ทะเลทรายละติจูดต่ำ (low-latitude desert) คือ ทะเลทรายที่อยู่ในช่วงละติจูดต่ำกว่า 30 องศา ซึ่งเนื่องจากในบริเวณละติจูด 0-10 องศา มีอุณหภูมิสูง ทำให้มวลอากาศอุ่นและชื้นลอยตัวขึ้น เกิดการระเหยของน้ำ ในขณะที่บริเวณ ละติจูด 10-30 องศา อากาศเย็นและแห้งจมตัวลง และไหลไปแทนที่อากาศอุ่นและชื้นที่ลอยตัวขึ้นไป กลายเป็นกระแสการหมุนวนของมวลอากาศ พัดพาเอาความชื้นออกไป และพัฒนาเป็นทะเลทราย เช่น ทะเลทรายอาหรับ (Arabian) ในซาอุดีอาระเบีย และ ทะเลทรายซาฮารา (Sahara) ในทวีปแอฟริกา

ภาคตัดขวางพื้นผิวโลกแสดงแบบจำลองการเคลื่อนที่ของลมตามแนวตั้ง และพื้นที่เหมาะสมที่เกิดทะเลทราย (ที่มา : www.wikiwand.com)

2) ทะเลทรายลึกเข้าไปในทวีป

ทะเลทรายในทวีป (deep inside desert) คือ ทะเลทรายที่อยู่ภายในทวีปซึ่งห่างไกลจากฝั่ง จึงไม่ได้รับอากาศชื้นจากมหาสมุทร เช่น ทะเลทรายโกบี (Gobi) ในประเทศจีน ทะเลทรายในทวีปออสเตรเลีย

ตัวอย่างในปัจจุบันของทวีปออสเตรเลียซึ่งเป็นทวีปขนาดใหญ่ พื้นที่กลางทวีปจึงไม่ได้รับความชื้นจากมหาสมุทรและแห้งแล้ง (สีน้ำตาล)

3) ทะเลทรายใต้เขตเงาฝน

ทะเลทรายเขตเงาฝน (rain shadow desert) คือ ทะเลทรายที่เกิดจากมวลอากาศชื้นไม่สามารถพัดผ่านเทือกเขาสูง เกิดการควบแน่นด้านหน้าเขา ทำให้ด้านหลังนั้นมีเพียงอากาศแห้งและไม่มีฝนตก จนพัฒนาเป็นทะเลทราย เช่น ทะเลทรายโมฮาวี (Mojave) ในประเทศสหรัฐอเมริกา

แบบจำลองแสดงการเกิดทะเลทรายเขตเงาฝน

4) ทะเลทรายริมชายฝั่ง

ทะเลทรายชายฝั่ง (coastal desert) คือ ทะเลทรายที่เกิดตามแนวชายฝั่งที่มีกระแสน้ำเย็นในมหาสมุทรไหลผ่าน โดยน้ำเย็นจะดูดซับความร้อนและชื้นบนแผ่นดิน ทำให้ฝนตกน้อย แห้งแล้ง และพัฒนาเป็นทะเลทราย เช่น ทะเลทรายอาตากามา (Atacama) ในเขตชายฝั่งของแปรูและประเทศชิลี ซึ่งถือเป็นพื้นที่ซึ่งแห้งแล้งที่สุดในโลก

แบบจำลองแสดงการเกิดทะเลทรายริมชายฝั่ง
แบบจำลองการหมุนเวียนของกระแสน้ำพื้นผิวในมหาสมุทร

5) ทะเลทรายแถบขั้วโลก

ทะเลทรายขั้วโลก (polar desert) คือ ทะเลทรายที่เกิดบริเวณละติจูดสูงกว่า 60 องศา ซึ่งหนาวเย็นเกินกว่าที่อากาศจะกักเก็บความชื้นไว้ได้ เช่น ทะเลทรายในแอนตาร์กติกและกรีนแลนด์ เป็นต้น

การมีอยู่ของทะเลทรายในบริเวณขั้วโลก บ่งชี้ว่าการเกิดทะเลทรายไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับอุณหภูมิ แต่ขึ้นอยู่กับระดับความแห้งแล้งเป็นหลัก

ตัวอย่างสภาพแวดล้อมทะเลทรายต่างๆ ของโลก

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: