สำรวจ

เขาสามมุข : ควอตซ์ . ไดค์ . ไซต์ . เวิลด์คลาส

ถ้าเอ่ยชื่อ เขาสามมุข เขื่อว่าชาวเมืองชลฯ คนภาคตะวันออก หรือแม้แต่คนไทยค่อนประเทศ คงจะพอคุ้นหูหรือไม่ก็รู้จักกันเป็นอย่างดี ส่วนจะเคยหรือไม่เคยไป จะไปให้อาหารลิง นั่งนิ่งๆ ที่จุดชมวิวบนเขา หรือมาไหว้ขอพรศาลเจ้าแม่สามมุข ก็ตามแต่โอกาสของแต่ละคน ซึ่งหากดูเผินๆ หรือขับรถวนเล่นเพลินๆ ทุกคนก็คงจะคิดว่าเขาสามมุขก็แค่เขาทั่วๆ ไป ไม่ได้มีอะไรพิเศษ แต่ในทางธรณีวิทยา เขาสามมุขถือได้ว่าเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญจุดหนึ่งที่ไม่ควรพลาด ทำไมน่ะเหรอ !!! ก็เพราะว่า แทบทั่วทั้งเขาสามมุขนั้น คือ ไดค์ (dike) ที่มีขนาดใหญ่พอสมควร

ภูมิศาสตร์เขาสามมุข

ในทางภูมิศาสตร์ เขาสามมุขตั้งอยู่ที่ตําบลแสนสุข อําเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เป็นภูเขารูปทรงรี ทอดยาวประมาณ 1.3 กิโลเมตร แต่หน้ากว้างอยู่ที่ 200-300 เมตร (เรียวรี) วางตัวอยู่ในแนว ตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงตาย (NW-SE) ริมชายฝั่งทะเลของจังหวัดชลบุรี ซึ่งในทาง ธรณีวิทยาทางทางทะเล (marine geology) เขาสามมุขถือเป็น หัวหาด (headland) ที่เป็นตัวควบคุมระบบการทำงานหรือรูปร่างของชายฝั่งแถบอ่างศีลาทางตอนเหนือและหาดบางแสน หาดวอนนภา ทางตอนใต้

ภาพมุมสูงแสดงตำแหน่งและรูปร่างของเขาสามมุข แนวสันเขา ขาวๆ ด้านบน คือ แนวควอตซ์ไดค์ ขนาบด้วยหินแปร ที่แปรสภาพจากความร้อนที่ถ่ายมาจากไดค์

อภิมหาผนังแทรกชั้นตามขวาง

จากการสำรวจภูเขาต่างๆ แทบจะทั่วทั้งโลก หมู่มวลนักธรณีวิทยาทั้งไทยและเทศต่างสรุปได้ว่าโลกมี ลีลาในการสร้างภูเขา 6 แบบ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือภูเขาที่เกิดจากกระบวนการทางภูเขาไฟ ไม่ว่าจะเป็นแมกมาที่ปะทุขึ้นมาเป็นภูเขาไฟ หรือจะเป็นแบบที่แมกมาแทรกดันขึ้นมาค้างเติ่งอยู่ใต้ดิน เย็นตัวและแข็งตัวกลายเป็นหินฝังอยู่ใต้พื้นโลก ทำให้เกิด โครงสร้างของมวลหินอัคนีบาดาลรูปแบบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น 1) หินอัคนีมวลไพศาล (batholith) 2) ลำหินอัคนี (stock) 3) พนังแทรกชั้นตามยาว (sill) 4) พนังแทรกชั้นตามขวาง (dike) 3) โครงสร้างรูปเห็ด (laccolith) และ 4) โครงสร้างรูปฝักบัว (lopolith) (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความเรื่อง รู้จัก 14 เศษซาก จากการปะทุและแทรกดันของแมกมา)

การเกิดภูมิลักษณ์จากการแทรกดันของแมกมา (Press และ Siever, 1982)

ซึ่งในส่วนของเขาสามมุขนั้น ก็คือภูเขาที่เป็นการแทรกดันของแมกมาในรูปแบบของ พนังแทรกชั้นตามขวาง (dike) หรือที่นิยมเรียกทับศัพท์ในแวดวงธรณีวิทยาว่า ไดค์ ซึ่งก็คือ โครงสร้างที่เกิดจากการแทรกดันของแมกมาในแนวตั้งฉากหรือขวางกับแนวระนาบของหินเดิม หรือหินท้องที่ที่มีอยู่ก่อนแล้ว และเมื่อเวลาผ่านไป ความแข็งที่แตกต่างกันระหว่างหินท้องที่เดิมและหินที่เกิดจากแมกมาแทรกดัน ทำให้ชั้นหินเดิมนั้นผุพังแต่ยังคงเหลือส่วนของหินที่เกิดจากแมกมาโผล่อยู่บนผิวโลก (ดูรูปที่ 2 ของรูปด้านบนประกอบ)

แน่นอนถ้ามองในแง่กระบวนการทางธรณีวิทยา เขาสามมุขก็เป็นแค่หนึ่งในหลายๆ รูปแบบที่โลกใช้สร้างภูเขาขึ้นมา แต่ประเด็นมันมีอยู่ว่า โดยปกติทั่วไปการเกิดไดค์นั้นส่วนใหญ่จะเป็นกระบวนการสุดท้ายของการฉีดอัดแมกมาขึ้นมาบนโลก ทำให้สเกลหรือขนาดของไดค์ที่พบเห็นทั่วไปจะเป็นแบบไดค์เล็กๆ น้อยๆ ไดค์กระจุ๋มกระจิ่ม เพราะก็อย่างว่า นี่คือปลายทางของแมกมาที่จะขึ้นมาได้ ปริมาณ ปริมาตร ของเนื้อแมกมาที่เหลืออยู่จึงมีน้อย แต่กับเขาสามมุขนั้น สันเขาสามมุขคือผนังแทรกชั้นตามขวาง และมีขนาบข้างอยู่บ้างด้วยหินที่ถูก แปรสภาพ (metamorphose) จากไดค์ที่แทรกเข้ามา ซึ่งหินแปรที่พบได้บนเขาสามมุกก็ได้แก่ หินไนส์ หินชีสต์ เป็นต้น และนั่นหมายความว่าไดค์เขาสามมุข คือ อภิมหาผนังแทรกชั้นตามขวาง หรือ โคตะระไดค์ ที่มีขนาดใหญ่ไม่ธรรมดา

คละเคล้าของไดค์ที่มีอยู่ในที่ต่างๆ ทั่วโลก จะเห็นว่าโดยส่วนใหญ่จะเป็นไดค์ในระดับเล็กๆ เป็นกระหย่อมๆ

ถ้าลองไล่ๆ สำรวจดูบนโลกใบนี้ การที่จะพบเห็นไดค์ใหญ่ๆ ในระดับที่เขาสามมุกเป็น แทบจะไม่ค่อยมีให้เห็น ซึ่งที่จะพอรู้จักกันบ้างในแวดวงธรณีวิทยาก็ได้แก่ ภูเขาชิปร๊อก (Shiprock) ในรัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งแสดงส่วนที่หลงเหลือจากกระบวนการทางภูเขาไฟ 2 ส่วน คือ ส่วนของคอภูเขาไฟ (volcanic neck) และพนังแทรกชั้นตามขวาง (dike) หรือจะเป็นแนวไดค์ที่ทอดยาวมาจากภูเขาสเปนิส พีค (Spanish Peaks) ในรัฐโคโลราโด แต่ก็ดูเหมือนว่ายังจะเล็กกว่าเขาสามมุขของไทยเรา ดังนั้นไม่รู้ว่าใครจะว่ายังไง แต่ผู้เขียนก็กล้ากล่าวอ้างได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า เขาสามมุข คือ ไดค์ . ไซต์ . เวิลด์คลาส ที่นักธรณีวิทยาทั้งไทยและเทศควรหาโอกาสไปเยือนสักครั้ง

(ซ้าย) ภูเขาชิปร๊อก (ขวาบน-ล่าง) ภูเขาสเปนิส พีค (ที่มา : https://spanishpeakscountry.com)

ควอตซ์เพียว สมชื่อสามมุข

ความมหัศจรรย์อีกอันหนึ่งในมุมมองของผู้เขียน คือ หินที่เราเห็นบนเขาสามมุขแทบจะทั้งเขาเป็นแร่ควอตซ์เกือบทั้งหมด ซึ่งกว่าจะรวมกันเป็นภูเขาซักลูก โดยปกติต้องประกอบด้วยหินหลากหลายชนิด หรือบางเขาอาจจะมีหินชนิดเดียว แต่หินนั้นก็มักจะประกอบด้วยแร่หลากหลายแร่ แต่ที่เขาสามมุขนั้นค่อนข้างจะแตกต่าง เพราะอย่างที่บอกไปเขาแทบทั้งเขาเป็นแร่ควอตซ์เพียว นั่นหมายความว่า ก่อนจะขึ้นมาแช่ตัว เย็นและแข็งกลายเป็นหิน แมกมาที่ขึ้นมาต้องผ่านการคัดสรรอย่างยิ่งยวดเป็นอย่างดี

ตัวอย่างก้อนควอตซ์เพียวๆ จากต่างประเทศ เหมาะอย่างยิ่งที่จะนำไปทำกระจก โดยไม่ต้องไปกอบทรายสะอาดๆ มาล้าง มาหลอม

ท้าวความกันนิดนึงครับว่า แมกมาปฐมภูมิ (premitive magma) หรือ แมกมาตั้งต้นเริ่มแรกก่อนจะออกเดินทางจากแหล่งกำเนิด จะประกอบไปด้วยแร่หลากหลายชนิด ทั้ง แร่สีเข้ม (mafic mineral) เช่น แร่โอลิวีน แร่ไพรอคซีน และ แร่สีจาง (felsic mineral) เช่น แร่มัสโคไวท์ และแร่ควอตซ์

ซึ่งถ้าเราพิจารณาตาม ชุดปฏิกิริยาของโบเวน (Bowen’s reaction series) ซึ่งเป็นชุดปฏิกิริยาที่ใช้อธิบายลำดับขั้นของ การตกผลึกลำดับส่วน (fractional crystallization) ของแร่ชนิดต่างๆ ตามอุณหภูมิที่ลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นเมื่อแมกมาตั้งต้นเริ่มทะยานพุ่งขึ้นมาบนพื้นผิว ด้วยคุณสมบัติของอุณหภูมิการตกผลึกที่ต่ำที่สุด จะทำให้แร่ควอตซ์จะเป็นแร่สุดท้ายที่จะหลงเหลืออยู่ ในขณะที่แร่อื่นๆ ตกผลึกแข็งตัวเป็นหินติดอยู่ระหว่างทางที่แทรกดันขึ้นมา เหมือนกับการคั้นน้ำกะทิซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเหลือเพียงน้ำสุดท้ายที่เจือจางสุดๆ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เขาสามมุข คือ น้ำสุดท้ายและเป็นปลายทางของแมกมานับตั้งแต่เดินทางขึ้นมาจากใต้โลก

แผนภูมิแสดงกระบวนการตกผลึกลำดับส่วนแมกมาตามหลักคิดของ ชุดปฏิกิริยาของโบเวน

ขมวดเน้นๆ กันอีกซักทีว่า โดยปกติแล้วแร่ควอตซ์ซึ่งเป็นน้ำสุดท้ายของแมกมา กว่าจะถีบตัวเองขึ้นมาได้ ก็แทบจะเหลือน้อยเต็มที ส่วนใหญ่ก็จะฉีดแทรกไปตามชั้นหินขึ้นมาเป็นไดค์กระจุ๋มกระจิ๋ม แต่ในกรณีของเขาสามมุขที่เป็นไดค์ขนาดใหญ่มาก นั่นพอจะอนุมานหรือแปลความคร่าวๆ ได้ว่า ในอดีตตอนนั้นกระเปาะแมกมาใต้พื้นที่ชลบุรีหรือภาคตะวันออกของไทยนี้ น่าจะมีเยอะหรือว่ามีขนาดใหญ่ไม่ธรรมดา จนทำให้น้ำสุดท้ายที่หลงเหลือมายังมีมากขนาดนี้ และนี่ก็คือทั้งหมดทั้งมวลเกี่ยวกับธรณีวิทยาของเขาสามมุขที่ผู้เขียนอยากจะมาเล่าสู่กันฟัง

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: