สำรวจ

วงแหวนปะการังจิ๋ว-ชีวิตเล็กๆ ที่แอบบันทึกแผ่นดินไหวใหญ่ๆ

พับขากางเกงรอกันได้เลยครับ เพราะบทความนี้ผมกำลังจะพาพวกเราไปลุยน้ำซักครึ่งแข้ง เดินเลียบริมฝั่งทะเลไปสืบหาหลักฐานการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในอดีต ก่อนอื่นต้องท้าวความก่อนว่า โดยปกติเวลาเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่บริเวณเขตมุดตัวของเปลือกโลก สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนั้นคือ การยกตัวและยุบตัวของบางพื้นที่ในละแวกใกล้ๆ ซึ่งถ้าพวกเราอยากรู้กลไกการยกและยุบแบบหนำใจ ผมแนะนำให้อ่านบทความนี้ “ การปรับระดับพื้นโลก-ภัยพิบัติระยะยาวจากแผ่นดินไหว” ซึ่งผลจากการยกตัวและยุบตัวของพื้นที่ใกล้ๆกับแผ่นดินไหว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในรายละเอียด และมีการเก็บหลักฐานซ่อนไว้ในสิ่งต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวให้เข้ากับการยกและยุบในแต่ละครั้ง

ผลการปรับระดับของพื้นโลกอย่างทันทีทันใด บริเวณเกาะซิมิวลู (Simeulue) ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย หลังจากแผ่นดินไหวขนาด 9.0 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547

วงแหวนปะการังจิ๋ว (microatoll) เป็นปะการังชนิดหนึ่งที่มีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณริมชายฝั่งทะเล สาเหตุที่เรียกว่า วงแหวนปะการังจิ๋ว ก็เพราะว่ารูปร่างของปะการังชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกับ “วงแหวนปะการัง (atoll)” ที่เกิดอยู่รอบๆ ภูเขาไฟกลางมหาสมุทร

หลุมน้ำเงิน (Great Blue Hole) ประเทศเบลิซ คือ วงแหวนปะการังที่เกิดรอบภูเขาไฟใต้ทะเลและปัจจุบันตัวภูเขาไฟทรุดตัวลง (ที่มา : www.belizehub.com)

โดยนิสัยแล้ว วงแหวนปะการังจิ๋วต้องการน้ำมาหล่อเลี้ยงตัวเองอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการเจริญเติบโตของปะการังจึงต้องอยู่ในระดับไม่เกินผิวน้ำ จากรูปจะเห็นว่าการจะเจริญเติบโตในช่วงแรก ปะการังจะโตตามปกติ คือมีการพอกแบบรอบด้าน ทั้งด้านข้างและด้นบนจากของเดิมภายใต้ผิวน้ำ ซึ่งเมื่อความสูงของปะการังแตะผิวน้ำ ปะการังจะเจริญเติบโตโดยพอกเฉพาะด้านข้างเท่านั้นและมีโอกาสขยายข้างไปเรื่อยๆ

วิวัฒนาการและรูปแบบการเจริญเติบโตของปะการังที่สัมพันธ์กับระดับน้ำทะเล เส้นทึบหมายถึง ชั้นปะการังที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนเส้นประหมายถึง ชั้นปะการังที่ตายไปแล้ว (Zachariasen และคณะ, 2000)

แต่เมื่อมีเหตุการณ์จร ที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล เช่นการยกหรือยุบของแผ่นดิน ปะการังก็ยังเจริญเติบโตได้เหมือนเดิมแต่จะล้อไปกับระดับน้ำใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ถ้าระดับน้ำตื้นขึ้น ปะการังก็จะโตด้านข้างที่ต่ำกว่าระดับข้างเดิม ทำให้มีรูปร่างเหมือนกับหมวกปีก นักวิทยาศาสตร์จึงเรียกว่า ปะการังจิ๋วแบบหมวกปีก (hat microatoll) ส่วนถ้าระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น (หรือฐานปะการังลึกลง) ปะการังก็จะสร้างทั้งด้านข้างและด้านบนทำให้มีลักษณะเหมือนถ้วยเรียกว่า ปะการังจิ๋วแบบถ้วย (cup microatoll)

จากนิสัยการเจริญเติบโตของวงแหวนปะการังจิ๋ว ที่ล้อไปกับการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล หรือการยกและยุบตัวของพื้นที่ในละแวกนั้น นักธรณีวิทยาอาศัยหลักการดังกล่าว มาสืบหาหลักฐานการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในอดีต

วงแหวนปะการังจิ๋วที่ดูเหมาะสม จะถูกตัดผ่าซีกด้วยเลื่อยยนต์ไฟฟ้า ซึ่งตัวอย่างที่ตัดมาได้จะสามารถมองเห็นพัฒนาการการเจริญเติบโตหรือการพอกตัวของปะการังได้อย่างชัดเจน คล้ายกับการพอกของหินงอกหินย้อยในถ้ำ นอกจากการเจริญเติบโตหรือพอกของปะการังซึ่งเป็นไปตามเวลาแล้ว หลักฐานการเติบโตแบบหมวกปีกและแบบถ้วยของปะการังจิ๋ว ก็จะถูกเก็บไว้ในตัวอย่างปะการังเช่นกัน ซึ่งเมื่อนักธรณีวิทยานำตัวอย่างในแต่ละช่วงเวลาไปกำหนดอายุ ผนวกกับตำแหน่งการเป็นหมวกปีกหรือถ้วยซึ่งแสดงการยกหรือยุบของพื้นที่ นักธรณีวิทยาก็สามารถบอกได้ว่า ในช่วงเวลาใดเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่บ้าง

สภาพการเก็บตัวอย่างวงแหวนปะการังจิ๋วเพื่อใช้ในการศึกษาประวัติการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในแถบเกาะสุมาตรา

ตัวอย่างเช่น ผลจากการศึกษาปะการังจิ๋วในหมู่เกาะอันดามัน Zachariasen และคณะ (1999; 2000) ประสบความสำเร็จที่จะบอกชาวโลกว่า เขตมุดตัวของเปลือกโลกสุมาตรา-อันดามันนั้น เคยมีการยก-ยุบมาแล้วหลายต่อหลายครั้งในอดีต โดยมีอัตราการยก-ยุบอยู่ในช่วง 4-10 มิลลิเมตรต่อปี 

นอกจากนี้ในพื้นที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ผลการศึกษาของ Meltzner และคณะ (S24A-02) พบว่าบริเวณเกาะสุมาตรามีประวัติ ของการทรงๆ ทรุดๆ ของปะการังจิ๋วอย่างน้อย 7 ครั้งในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1746-1935 (พ.ศ. 2289-2478) นั่นก็หมายความว่า แผ่นดินไหวขนาด 9.0 ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ไม่ใช่แผ่นดินไหวใหญ่ๆ ครั้งแรก ที่ชาวมหาสมุทรอินเดียเคยได้พบ

ผลการวิเคราะห์ประวัติการยกและยุบตัวของพื้นที่บริเวณเกาะสุมาตรา จากตัวอย่างวงแหวนปะการังจิ๋ว (Meltzner และคณะ, S24A-02)

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: