
ถ้ายึดตามหลักทาง ธรณีแปรสัณฐาน (tectonic) ส่วนนอกสุดของโลกคือ เปลือกโลก (crust) โดยในช่วง 200 ล้านปีก่อน มีแค่แผ่นเปลือกโลกแผ่นใหญ่เพียงแผ่นเดียวที่เรียกว่า มหาทวีปแพนเจีย (Pangaea Supercontinent) แต่ต่อมาแพนเจียเริ่มแตกและแยกออกจากกัน เคลื่อนที่ไปตามที่ต่างๆ ของโลก อย่างที่เราเห็นทวีปต่างๆ ในปัจจุบัน คำถามที่น่าสนใจคือ แผ่นเปลือกโลกเดิมๆ ที่เคยเป็นเนื้อเดียวกัน อยู่ดีๆ จะแตกออกจากกันได้ยังไง แล้วเวลาแตกแตกกันแบบไหน ถึงได้รูปร่างของแผ่นเปลือกโลกหรือทวีปออกมาอย่างที่เห็น

กระบวนการปริแตกและแยกออกจากกันของแผ่นเปลือกโลกในทางธรณีแปรสัณฐานเราเรียกว่า การเคลื่อนที่ออกจากกัน (divergent movement) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สไตล์ของปฏิสัมพันธ์ระหว่างแผ่นเปลือกโลกที่เป็นไปได้บนโลกใบนี้ โดยจากกรณีศึกษาที่พบกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของโลกในปัจจุบัน นักธรณีวิทยาได้จัดแบ่งวิวัฒนาการการเคลื่อนที่ออกจากกันของแผ่นเปลือกโลกเป็น 4 ระยะ
ผลจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกที่แตกต่างกันทั้งความเร็วและทิศทาง ทำให้แผ่นเปลือกโลกในแต่ละแผ่นกระทบกระทั่งกันและกันได้ 3 รูปแบบ คือ 1) การเคลื่อนที่ออกจากกัน (divergent movement) 2) การเคลื่อนที่เข้าหากัน (convergent movement) 3) การเคลื่อนที่ผ่านกัน (transform movement)

ระยะที่ 1 : เปลือกโลกทวีปยกตัว
เป็นช่วงแรกที่แมกมาลอยตัวขึ้นมาสัมผัสและหลอมละลายแผ่นเปลือกโลกทวีปดั้งเดิม ทำให้แผ่นเปลือกโลกบางลง และในบางพื้นที่อาจเกิดภูเขาไฟแทรกตามแนวแตกร่วมด้วย ลักษณะทางธรณีแปรสัณฐานแบบนี้พบชัดเจนที่ อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน (Yellow Stone National Park) บนเทือกเขาร็อคกี้ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากการศึกษาวิจัยทางธรณีวิทยา พบว่าลึกลงไปในโลกบริเวณใต้อุทยาน มีกระเปาะแมกมาขนาดใหญ่มาก กำลังแทรกดันแผ่นเปลือกโลกอยู่ ทำให้มีกิจกรรมเกี่ยวกับภูเขาไฟและน้ำพุร้อนเกิดขึ้นจำนวนมากในบริเวณอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน

ระยะที่ 2 : เปลือกโลกทวีปแตกร้าว
แผ่นเปลือกโลกเริ่มปริแตกและแยกออกจากกัน ซึ่งโดยธรรมชาติการแตกในช่วงแรกหลังจากถูกแมกมาแทรกดันนั้น แผ่นเปลือกโลกจะแตกออกเป็น 3 แฉกที่สมมาตรกันเหมือนกับการปริแตกของขนมถ้วยฟูไหว้เจ้าหรือยี่ห้อของรถเบนซ์ โดยข้อนข้างจะเป็นสูตรสำเร็จตายตัวของโลกใบนี้
ต่อมาแมกมาจะเลือกแทรกดันเพียง 2 แกนที่มีความอ่อนไหวมากกว่า ทำให้เกิดวิวัฒนาการเปิดแอ่ง ส่วนแกนที่เหลือจะหยุดการพัฒนา กลายเป็น แอ่งรอยเลื่อนปกติ (aulacogen) โดยลักษณะภูมิประเทศที่ชัดเจนที่สุดในบริเวณนี้คือ เทือกเขาและแอ่งขนาดใหญ่ขนานกับแนวรอยแยกของแผ่นเปลือกโลก บางพื้นที่อาจมีภูเขาไฟแทรกสลับอยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้ ซึ่งพื้นที่ซึ่งแสดงการแยกตัวระยะนี้ ได้แก่ ร่องทรุดแอฟริกาตะวันออก (East African Rift)

ระยะที่ 3 : เปลือกโลกมหาสมุทรเริ่มเกิด
แผ่นเปลือกโลกเริ่มแยกออกจากกันมากขึ้น และเกิดเป็นแอ่งตะกอนที่เปิดกว้าง ซึ่งฐานด้านล่างของแอ่งตะกอนเริ่มเกิดเป็นแผ่นเปลือกโลกมหาสสุทรใหม่อย่างเต็มตัว ซึ่งเป็นหินบะซอลต์ ในบางกรณีมีน้ำทะเลรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่กลายเป็นทะเลแคบๆ ในบริเวณแอ่ง เช่น ทะเลแดง (Red Sea) และ อ่าวเอเดน (Gulf of Aden)

ระยะที่ 4 : พื้นมหาสมุทรแผ่กว้าง
เป็นระยะที่สมบูรณ์ที่สุดของการเคลื่อนที่ออกจากกันของแผ่นเปลือกโลก โดยแผ่นเปลือกโลกทวีปเดิมแยกออกจากกันและมีการสร้างแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรขึ้นใหม่ ตัวอย่างของการแยกตัวในระยะนี้ ได้แก่ สันเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก (Mid-Atlantic Ridge) สันเขากลางมหาสมุทรอินเดีย (Mid-Indian Ridge) และ เนินเขามหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก (East Pacific Rise)


เล่ามาถึงตรงนี้ พวกเราหลายคนอาจจะกำลังคิดอยู่ในใจว่า โม้หรือเปล่า ฟลุ๊คหรือเปล่า บังเอิญหรือเปล่า ก็ถ้าเราลองเอาแผนที่โลกมากางดู จะเห็นว่าการแตกแบบยี่ห้อเบนซ์ ไม่ได้มีให้เห็นเฉพาะในทวีปแอฟริกาที่ผมได้ยกตัวอย่างไป ในหลายๆ พื้นที่ของโลกก็มีให้เห็นคล้ายๆ กัน

สรุปว่าเวลาเปลือกโลกจะแตก เปลือกโลกจะ 1) โป่งขึ้น 2) แตกออกเป็น 3 แฉก แขนข้างหนึ่งอ่อนแรงและตายไป 3) อีกสองแขนที่เหลือก็พัฒนาแยกตัวออกจากกันไปเรื่อยๆ 4) กลายเป็นพื้นมหาสมุทรแผ่กว้างอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน วนเวียนกันไปอย่างนี้เป็นวัฏจักร
และนี่ก็คือสูตรสำเร็จของโลกในการจะแบ่งย่อยแผ่นเปลือกโลกออกเป็นชิ้นเล็กๆ
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth