วิจัย

เส้นทางโบราณ ขึ้นเขาพนมรุ้ง

พนมรุ้ง – วิเคราะห์และเรียบเรียง : สุวภา ศรีสัตยเสถียร, เกชา เจริญศิริมณี และ สันติ ภัยหลบลี้

นอกเหนือจากปราสาทตาควาย ปราสาทพิมาย ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทเล็กๆ น้อยๆ อีกว่าหลักร้อย ในแถบภาคอีสานตอนล่าง ปราสาทพนมรุ้ง ถือเป็นอีกหนึ่งในแลนด์มาร์คทางศาสนาที่สำคัญของ อาณาจักรอังกอร์ (Angkor) บนพื้นแผ่นดินประเทศไทยในทางภูมิศาสตร์ ปราสาทหินพนมรุ้งตั้งอยู่ที่ ตำบลตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ตัวปราสาทตั้งอยู่บนเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นภูเขาลูกโดดมีความสูงประมาณ 250 เมตร จากพื้นที่โดยรอบ ในทางธรณีวิทยา เขาพนมรุ้งเกิดจากการประทุของภูเขาไฟใน ยุคควอเทอร์นารี (Quaternary) ซึ่งด้วยความเป็นภูเขาไฟยุคใหม่ (ในทางธรณีวิทยา หรือ ธรณีกาล) ภูเขาไฟพนมรุ้งจึงยังหลงเหลือสภาพของ ปากปล่องภูเขาไฟ (crater) ให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งปัจจุบันก็ใช้เป็นอ่างกักเก็บน้ำสำหรับของชุมชนในละแวกนั้น โดยมีตัวปราสาทหินพนมรุ้งที่ตั้งอยู่ตรงขอบของปากปล่องภูเขาไฟ

แผนที่ภูมิประเทศ (ซ้าย) จังหวัดบุรีรัมย์ (ขวา) เขาพนมรุ้ง

เส้นทางขึ้นเขาพนมรุ้ง

ปัจจุบัน เส้นทางการเดินทางเพื่อที่จะขึ้นไปสู่เขาพนมรุ้ง สามารถขึ้นได้ 2 เส้นทาง โดยยานพาหนะ ได้แก่ 1) เส้นทางขึ้นทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของภูเขา จาก ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และ 2) เส้นทางขึ้นทางทิศตะวันออก จากตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งในแนวเส้นทางหลัง คือ ขึ้นทางสระน้ำขนาดใหญ่ ทางตะวันออกของเชิงเขา หรือที่ในทางโบราณคดี เรียกว่า บาราย โดยลักษณะของเส้นทางการขึ้นของทั้งสองฝั่งในปัจจุบัน คือ เป็นถนนราดยางที่คดโค้งไปมา เพื่อสอดรับกับการขับขี่ยานพาหนะอย่างรถยนต์และจักรยานยนต์

อย่างไรก็ตามในอดีตการขึ้นเขาพนมรุ้งคงไม่ได้ใช้ยานพาหนะอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน คาดว่าน่าจะเป็นการเดินเท้าเพื่อขึ้นไปบนเขา ดังนั้นบทความงานวิจัยนี้จึงมีความประสงค์ที่จะศึกษาและสำรวจความเป็นไปได้ของแนวเส้นทางเท้าในการเดินขึ้นเขาพนมรุ้งของคนโบราณในอดีต โดยอาศัยข้อมูลภูมิประเทศ และเทคนิคการศึกษาด้าน ภูมิสารสนเทศ (GIS) เป็นหลัก

การสำรวจระยะไกล

นอกเหนือจากกระบวนการประทุของแมกมาในอดีตที่ทำให้ภูเขาพนมรุ้งเกิดขึ้นมา กระบวนการผุพัง (weathering) โดยธรรมชาติทั้งจากน้ำและแรงโน้มถ่วงก็ทำให้ในปัจจุบัน ภูมิลักษณ์ (landform) ของเขาพนมรุ้งมีลักษณะเป็นแนว สันเขา (ridge) วางตัวสลับกับ ร่องเขา (valley) กระจายตัวจากจุดศูนย์กลางของเขา พาดผ่านลงมายังเชิงเขาด้านล่าง

ซึ่งจากการแปลความหมายด้วย ภาพถ่ายดาวเทียม (Sattelite Image) และข้อมูลภูมิประเทศจาก แบบจำลองระดับสูงเชิงเลข (Digital Elevation Model, DEM) บริเวณเขาพนมรุ้ง พบว่าโดยรอบเขาพรมรุ้ง มีแนวสันเขาจำนวน 15 แนว (จุดสีแดง ในรูป ก) วางตัวสลับกับ ร่องเขาอีก 12 แนว (จุดสีเขียว) ซึ่งผู้วิจัยเชื่อว่า หากไม่ต้องการเสียแรงเสียระยะเดินขึ้นๆ ลงๆ ในระหว่างทางขึ้นเขา คนโบราณคงจะเลือกแนวใดแนวหนึ่ง (สันหรือร่อง) ในการเดินเท้าขึ้นสู่ยอดเขาพนมรุ้ง ดังนั้นเพื่อที่จะจำลองเส้นทางเดินของคนโบราณขึ้นสู่ยอดเขา ผู้วิจัยได้เลือกใช้เทคนิคการวิเคราะห์เส้นทางทางภูมิสารสนเทศ (GIS) ที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า Least Cost Path (LCP) ซึ่งเป็นแนวคิดในการเลือกเส้นทางโดยพิจารณาปัจจัยทางทางภูมิศาสตร์ในเบื้องต้น 2 ปัจจัย คือ 1) ระยะทาง (distance) และ 2) ความชัน (slope) ของเส้นทาง โดยยิ่งระยะทางยาวมาก โปรแกรมก็จะไม่เลือกเดิน และยิ่งความชันสูงก็จะไม่เลือกเดินเช่นกัน

ผลจากการวิเคราะห์เส้นทางโดยวิธี LCP ก็ได้อย่างที่เห็นในรูป ข ซึ่งจะเห็นได้ว่าหากคนโบราณต้องการที่จะเดินเท้าขึ้นเขาพนมรุ้ง ก็สามารถเลือกเดินขึ้นได้หลายเส้นทางโดยรอบเขาพนมรุ้ง ซึ่งในแต่ละเส้นก็จะมีระยะทางที่แตกต่างกันอย่างไรก็ตามหากสังเกตในรายละเอียด จะพบว่าเส้นทางทางด้านตะวันออก หรือทางด้านล่างของรูป ข และ ค จะเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุด ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ว่าในการเลือกเส้นทางที่จะเดินขึ้นเป็นประจำของคนโบราณ พวกเขาน่าจะเลือกเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ใช้บ่อยหรือเป็นประจำ ซึ่งก็สอดคล้องกับตำแหน่งของสระน้ำหรือบางรายที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบก่อนทางขึ้นที่คาดว่าจะเลือกเดิน

ภาพถ่ายดาวเทียมบริเวณเขาพระนมรุ้งแสดง (ก) ผลการวิเคราะห์ตำแหน่งสันเขาและร่องเขาโดยรอบเขาพนมรุ้ง (ข) ผลการวิเคราะห์แนวเส้นทางที่เหมาะสมในการเดินเท้าเพื่อขึ้นเขาด้วยวิธี LCP (ค) ผลการแปลภาพถ่ายดาวเทียมในรายละเอียด แสดงแนวร่องเส้นตรง ที่ตัดผ่านจากเชิงเขาสู่ยอดเขา (เส้นสีขาว) (ง) แนวภูมิประเทศจริงที่เป็นร่องเส้นตรง ตรวจพบจากภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งแปลได้ตามแนวเส้นขาวในรูป ค

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อแปลภาพถ่ายดาวเทียมในรายละเอียด (เส้นสีขาวในรูป ค และแนวร่องจริงในรูป ง) พบว่าบริเวณแนวทางขึ้นทางด้านล่างของรูปภาพเชื่อมต่อกับบางราย มีแนวเส้นตรงเหมือนเป็นร่องให้เห็นอย่างเด่นชัดในปัจจุบัน จึงสรุปความเป็นไปได้ว่าแนวเส้นทางทางด้านตะวันออก หรือ ด้านล่างของภาพ หรือ เส้นสีขาวในรูป ค น่าจะเป็นเส้นทางเดินเท้าที่คนโบราณนิยมใช้ในการเดินขึ้นเขาไปสู่ปราสาทหินพนมรุ้ง

การสำรวจภาคสนาม

เพื่อที่จะยืนยันให้แน่ใจว่าผลการแปลความหมายจากภาพถ่ายดาวเทียมและการสำรวจวิเคราะห์แนวเส้นทางเดินที่เหมาะสมโดยวิธี LCP นั้นมีความถูกต้องหรือไม่ ทีมผู้วิจัยได้เข้าสำรวจสถานที่จริงโดยเริ่มเดินจากบริเวณกลางเขา ขึ้นสู่แนวยอดเขา ในบริเวณที่พบแนวร่องเส้นตรงอย่างเด่นชัด ดังที่กล่าวไว้ในข้างต้น ซึ่งตลอดระยะทาง ในการเดินสำรวจพบว่าต้นไม้ปกคลุมอย่างนั้นแน่น แต่มีบางช่วงที่พบลักษณะพื้นที่โล่งเตียนและเศษหินที่ดูเหมือนว่าถูกวางเรียงหรือวางตัวกันยางอัดแน่น คล้ายกับว่าถูกขยับและจัดวางให้ไปอยู่ในที่ที่เหมาะสม หรือถูกเหยียบย่ำบีบอัดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งก็แปลความได้คร่าวๆ ว่าแนวสำรวจนี้น่าจะมีการเดินขึ้นลงอยู่บ่อยครั้ง แตกต่างจากพื้นที่ข้างเคียงซ้ายขวา ที่เศษหินมีการกระจัดกระจาย ระเกะระกะ สูงต่ำอย่างเป็นธรรมชาติ นอกจากนี้ยังพบก้อนหินบางก้อน ที่มีลักษณะถูกขัดหรือฝนให้มีเหลี่ยมมุมตามที่ต้องการ มากกว่าที่จะเป็นรูปทรงของหินโดยธรรมชาติในพื้นที่ บ่งชี้ว่าน่าจะมีกิจกรรมของมนุษย์เคยเกิดขึ้นในบริเวณนี้

(ซ้าย) สภาพเศษหินที่มีการอัดตัวกัน บางพื้นที่เป็นลานกว้างซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ข้างๆ ที่มีความสูงต่ำของเศษหินอย่างเป็นธรรมชาติ (ขวา) ตัวอย่างก้อนหินที่แสดงหลักฐานการฝนหรือขัดให้มีเหลี่ยมมีมุม ไม่เป็นธรรมชาติ

จุดขึ้นเขา

และหลักฐานบ่งชี้ที่ดูจะชัดเจนและมีน้ำหนักมากที่สุดในการสำรวจพื้นที่ในครั้งนี้ คือ ที่บริเวณเชิงเขาด้านล่างติดกับที่ราบในตำแหน่งที่วิธี LCP กำหนดว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการเดิน ในพื้นที่ละแวกนั้นพบเศษถ้วยชามโบราณแตกกระจัดกระจายอยู่เต็มพื้นที่ และเมื่อเดิน สำรวจเข้าไปในป่ารกทึบบริเวณเชิงเขาตอนล่างยังพบก้อน ศิลาแลง (latterite) จำนวนหนึ่ง วางตัวกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่วางตัวกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ ซึ่งในทางธรณีวิทยาพื้นที่บริเวณนี้ควรที่จะพบเฉพาะหินบะซอลต์ที่เกิดจากการประทุของภูเขาไฟเท่านั้น และไม่น่ามีปัจจัยเอื้อต่อการเกิดศิลาแลงได้ จึงเชื่อได้ว่าก้อนศิลาแลงดังกล่าว น่าจะเป็นวัสดุที่คนโบราณตั้งใจนำมาเพื่อปรับพื้นที่หรือก่อสร้างทางขึ้น เพื่อ เป็นแลนด์มาร์ค ที่จะบอกว่าเป็นตำแหน่งหรือจุดขึ้นเขาพนมรุ้งในอดีต

(ซ้าย) สระน้ำและภูมิทัศน์บริเวณเชิงเขาในตำแหน่งที่คาดว่าจะเป็นเส้นทางขึ้นโบราณ (ขวาบน) เศษภาชนะโบราณที่พบกระจัดกระจายอยู่โดยรอบสระน้ำ (ขวาล่าง) ก้อนศิลาแลงที่พบภายในป่าบริเวณต้นเชิงเขาในตำแหน่งที่วิเคราะห์ LCP ว่าน่าจะเป็นเส้นทางเดินขึ้นเขาพนมรุ้ง

จาก 1) ผลการแปลความภูมิลักษณ์ (สันเขา-ร่องเขา) จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลภูมิประเทศ 2) ผลการวิเคราะห์เส้นทางที่เหมาะสมในการเดินขึ้นเขาด้วยวิธี LCP 3) แนวร่องตรงจากรายละเอียดการแปลความ 4) หลักฐานการกดอัดของหินในแนวคาดหมาย 5) ตำแหน่งของเศษภาชนะที่พบในที่ราบติดเชิงเขา และ 6) ก้อนศิลาแลงที่พบบริเวณต้นเชิงเขา ทำให้ทีมผู้วิจัยสรุปการศึกษาวิจัยว่า

คนโบราณเดินขึ้นเขาพนมรุ้งเป็นแนวเส้นตรง โดยนิยมขึ้นจากทางทิศตะวันออกของเขา ซึ่งเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุด และสอดคล้องกับตำแหน่งของ บาราย ที่มีการขุดไว้

Share: