เรียบเรียง : ศิริลักษณ์ หล่อชื่นวงศ์ และ สันติ ภัยหลบลี้
พายุหมุนเขตร้อน (tropical cyclone) คือ พายุ ที่ก่อตัวในมหาสมุทรเขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อน (ละติจูด 30oN – 30oS) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงกว่า 26.5 oC ส่วนใหญ่มักเกิดช่วง ปลายฤดูร้อนของแต่ละซีกโลก เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลช่วงต้นฤดูจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มแตะระดับที่สูงกว่า 26.5 oC ในช่วงปลายฤดูร้อน น้ำในมหาสมุทรระเหยและลอยตัวขึ้น ทำให้เกิดศูนย์กลาง ความกดอากาศต่ำ (L) ส่งผลให้พื้นที่โดยรอบกลายเป็นพื้นที่ ความกดอากาศสูง (กว่า) (H) จึงมีลมแรงพัดเข้าสู่ศูนย์กลางด้วยความเร็วมากกว่า 115 กิโลเมตร ขณะเดียวกันศูนย์กลางความกดอากาศต่ำจะยกตัวสูงขึ้น และเย็นลงด้วยอัตราอะเดียเบติก (อุณหภูมิลดลงเมื่อความสูงเพิ่มขึ้น) ทำให้เกิด เมฆ (clouds) และ หยาดน้ำฟ้า (pecipitation) ซึ่งในพื้นที่เปิดโล่ง ที่มีระบบการหมุนเวียนที่ดี เช่น กลางมหาสมุทร อาจทำให้ฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้างและคลื่นลมแรง พายุหมุนจะมีความรุนแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอัตราการลดลงของความกดอากาศ หากความกดอากาศลดลงอย่างรวดเร็วจะเกิดพายุหมุนที่รุนแรง
พายุหมุนเขตร้อน มักจะมีเวลาและพื้นที่เกิดแน่นอน เช่น บริเวณชายชั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ แถบอ่าวเบงกอลและบริเวณทะเลอาหรับ มักเกิดในช่วงเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน ในขณะที่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกใต้และมหาสมุทรอินเดียใต้ จะเกิดในช่วงเดือนตุลาคม-เมษายน
องค์ประกอบพายุหมุนเขตร้อน
โดยปกติพายุหมุนเขตร้อน สามารถมีเส้นผ่าศูนย์กลางได้มากกว่า 100 กิโลเมตร และมีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางสูงกว่า 117 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งพายุหนึ่งลูกจะมีองค์ประกอบหลัก 2 ส่วน ดังนี้
- ตาพายุ (eye storm) คือ ศูนย์กลางพายุเป็นบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำมากที่สุด เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-50 กิโลเมตร ตาพายุจะเงียบสงบ ไม่มีลม ท้องฟ้าโปร่ง ไม่มีฝน อาจพบเมฆประเภท เซอรัส (Cirus, Ci) ซึ่งเป็นเมฆชั้นสูง
- แขนพายุ (arm storm) เป็นส่วนที่มีความเร็วลมสูง มีเมฆก่อตัวแนวตั้งประเภท คิวมูลัส (Cumulus Cloud, Cu) หรือ เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus Cloud, Cb) ที่มีฝนอยู่ด้วยก่อให้เกิดฝนฟ้าคะนองอย่างรุนแรง
วงจรชีวิตพายุหมุนเขตร้อน
โดยทั่วไปพายุหมุนเขตร้อนมีวงจรชีวิตไม่เท่ากัน พายุบางลูกสามารถอยู่ได้ยาวนานเป็นวันถึงสัปดาห์ แต่บางลูกเกิดขึ้นเพียง 2-3 ชั่วโมงก็สลายตัว ซึ่งหากพายุหมุนเขตร้อนพัฒนาความรุนแรงเป็นระดับไต้ฝุ่น นักวิทยาศาสตร์สามารถแบ่งวิวัฒนาการของพายุได้ 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะก่อตัว เริ่มก่อตัวจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณเหนือน่านน้ำมหาสมุทร ผิวน้ำมีกระแสลมวนเข้าหาศูนย์กลางใน ทิศทางทวนเข็มนาฬิกา ในซีกโลกเหนือ เรียกว่า ไซโคลน (cyclone) และ ทิศทางตามเข็มนาฬิกา ในซีกใต้ เรียกว่า แอนติไซโคลน (anticyclone) กลุ่มเมฆเริ่มก่อตัว มีลมแรงขึ้น ฝนตกมากขึ้น ความกดอากาศค่อยๆ ลดลง
- ระยะก่อนเติบโตเต็มที่ ความกดอากาศบริเวณพายุลดลงเรื่อยๆ พายุเพิ่มกำลังแรงระดับไต้ฝุ่น เริ่มมองเห็นตาพายุจากภาพถ่ายทางอากาศได้อย่างชัดเจน ลักษโดยรอบตาพายุมีลมแรง มีเมฆก่อตัวแนวตั้งประเภท มีเมฆก่อตัวแนวตั้งประเภท คิวมูลัส (Cumulus Cloud, Cu) หรือ เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus Cloud, Cb) ส่วนบริเวณตาพายุมีลมสงบ อากาศแจ่มใส พบเมฆจำพวก เซอรัส (Cirus, Ci) ซึ่งเป็นเมฆชั้นสูง ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกทิศทางการเคลื่อนที่ของพายุ
- ระยะเติบโตเต็มที่ มีลักษณะทั่วไปเป็นแบบ ระยะก่อนเจริญเติบโต แต่เมื่อมีการพัฒนาถึงจุดอิ่มตัวเต็มที่ ความกดอากาศและความเร็วลมสูงสุดของพายุจะคงที่ ไม่ลดต่ำลง
- ระยะสลายตัว พายุเริ่มอ่อนกำลังลง เนื่องจากอากาศเย็นเข้ามาปกคลุม หรือเคลื่อนผ่านเข้าน่านน้ำที่เย็นจัด หรือเคลื่อนขึ้นฝั่งปะทะกับสิ่งกีดขวางบนแผ่นดิน ทำให้พายุลดความรุนแรงลง ความกดอากาศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่หากพายุเคลื่อนตัวเข้าสู่ปัจจัยที่เหมาะสมต่อการพัฒนา พายุก็สามารถพัฒนาขึ้นใหม่อีกได้
เพิ่มเติม : เมฆ . หมอก . น้ำค้าง
ระดับความรุนแรงพายุหมุนเขตร้อน
ความรุนแรงพายุขึ้นกับอัตราลดความกดอากาศ โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) WMO (1995) ได้แบ่งชนิดของพายุหมุนเขตร้อนตามความรุนแรงของลมใกล้ศูนย์กลางของพายุไว้เป็น 3 ประเภท คือ
- พายุไต้ฝุ่น (Typhoon) ลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ≥ 64 นอต (≥ 118 กิโลเมตร/ชั่วโมง) พายุไต้ฝุ่นที่เกิดขึ้นแต่ละลูกจะมีการตั้งชื่อเฉพาะ เช่น พายุไต้ฝุ่นเกย์ และพายุไต้ฝุ่นแองเจลา เป็นต้น และหากมีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางบริเวณพื้นผิว ≥ 130 นอต (241 กิโลเมตร/ชั่วโมง) เรียกว่า ซุปเปอร์ไต้ฝุ่น (Supper Typhoon)
- พายุโซนร้อน (Tropical Storm) ลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 34-64 นอต (63-118 กิโลเมตร/ชั่วโมง) มีกำลังปานกลาง มีฝนตกหนัก
- พายุดีเปรสชัน (Depression) ลดลงมาจากพายุโซนร้อน ลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง < 34 นอต (< 63 กิโลเมตร/ชั่วโมง) เป็นพายุอ่อนๆ ก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองหรือฝนตกหนัก พายุในระดับนี้จะไม่ตั้งชื่อ และเรียกรวมว่า พายุดีเปรสชั่น
พายุหมุนเขตร้อนสามารถเปลี่ยนแปลงอัตราความเร็วของลมได้ เช่น พายุดีเปรสชั่นเมื่อมีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางเพิ่มขึ้นจะกลายเป็นพายุโซนร้อนหรือพายุไต้ฝุ่น ในขณะเดียวกันเมื่อพายุไต้ฝุ่นลดความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางลงจะกลายเป็นพายุโซนร้อนหรือพายุดีเปรสชั่น หรืออาจลดกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ แล้วจึงสลายตัวไปในที่สุด
การเรียกชื่อพายุ
พายุหมุนเขตร้อนมีชื่อเรียกต่างๆ กันตามแหล่งกำเนิด หากเกิดในมหาสมุทรแปซิฟิก และทะเลจีนใต้ เรียกว่า ใต้ฝุ่น (Typhoon) หากเกิดในอ่าวเบงกอล และทะเลอาหรับ เรียกว่า พายุไซโคลน (Cyclone) หากเกิดในแอตแลนติก และทะเลแคริบเบียน เรียกว่า พายุเฮอร์ริเคน (Hurricane) หากเกิดในทะเลประเทศฟิลิปปินส์ เรียกว่า พายุบาเกียว (Baguio) แต่ถ้าพายุหมุนเขตร้อนเกิดบริเวณทะเลติมอร์แล้วเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ก่อนที่จะเปลี่ยนเส้นทางเป็นตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่ภาคเหนือของประเทศออสเตรเลีย จะเรียกว่า พายุวิลลี-วิลลี (Willy-Willy)
ระดับความรุนแรง (เสียหาย) จากพายุ
ระดับความรุนแรงของพายุหมุนเขตร้อนแบ่งย่อยเป็น 5 ระดับ ตามมาตรา มาตราเฮอร์ริเคนแซฟเฟอร์-ซิมป์สัน (Saffir-Simpson Hurricane Wind Scale) ซึ่งประเมินจากการตรวจวัดความเร็วลม ความเสียหายและอุทกภัยที่จะเกิดขึ้น โดยจะใช้กับพายุเฮอร์ริเคนที่ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติก และทางตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกเท่านั้น
ระดับ | ความเร็วลม (กิโลเมตร/ชั่วโมง) | ความกดอากาศ (มิลลิบาร์) | ความสูงของคลื่น (เมตร) | อานุภาพการทำลายล้าง | ตัวอย่าง |
1. | 119-153 | < 980 | 1.2-1.5 | เล็กน้อย ไม่ส่งผลต่อ สิ่งก่อสร้าง น้ำท่วมตามชายฝั่งบ้าง ท่าเรือเสียหายเล็กน้อย | |
2. | 154-177 | 965-979 | 1.8-2.4 | น้อย หลังคา ประตูหน้าต่างอาคารเสียหายเล็กน้อย น้ำท่วมทำลายท่าเรือ สมอเรืออาจหลุดหรือขาดได้ | Bonnie (1988) Isabel (2003) |
3. | 178-209 | 945-964 | 2.7-3.7 |
ปานกลาง ทำลายโครงสร้างที่อยู่อาศัยขนาดเล็กได้บ้าง
โทรศัพท์บ้านถูกตัดขาด แผงป้องกันพายุตามบ้านเรือนได้รับความเสียหาย อาจเกิดน้ำท่วมขังเข้ามาถึงพื้นดินส่วนใน | แคทรีน่า Roxanne (1995) Fran (1996) Ivan (2004) |
4. | 210-249 | 944-920 | 4.0-5.5 | สูง แผงป้องกันพายุเสียหายหนักขึ้น หลังคาบ้านเรือนบางพื้นที่ถูกทำลาย น้ำท่วมเข้ามาถึงพื้นดินส่วนใน | Andrew (1992) Charley (2004) |
5. | > 250 | < 920 | > 5.5 |
สูง หลังคาบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมถูกทำลาย
บางอาคารอาจถูกพัดถล่ม เกิดน้ำท่วมขังจำนวนมากถึงขั้นทำลายข้าวของในชั้นล่างของบ้านเรือนใกล้ชายฝั่ง และอาจต้องมีการประกาศให้ประชาชนในพื้นที่ทำการอพยพโดยด่วน | Labor Day (1935) Camille (1969) |
การประเมินการเคลื่อนที่ของพายุ
- วิเคราะห์จากแผนที่ลมชั้นบน (steering wind) ที่เป็นทิศทางลมที่บังคับการเคลื่อนที่ของพายุ
- วิเคราะห์จากแผนที่ความกดอากาศ โดยพายุจะเคลื่อนที่ไปตามความกดอากาศที่ลดลง หากวิเคราะห์เส้นชั้นความกดอากาศเท่าได้เป็นวงรี พายุจะเคลื่อนไปตามจุดศูนย์กลางของวงรี
- วิเคราะห์จากภาพถ่ายดาวเทียม โดยสังเกตเมฆเซอรัสบริเวณตาพายุ หากเกิดทิศทางใดของพายุ แสดงว่าพายุเคลื่อนไปทางทิศนั้น
- วิเคราะห์โดยหาค่าเฉลี่ยของพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดในอดีต ทั้งด้านการเกิด การเคลื่อนที่ และความรุนแรงของพายุ
- พยากรณ์การเคลื่อนที่ของพายุหมุนเขตร้อน โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์
ในกรณีพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทย ส่วนใหญ่ก่อตัวบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง และเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทย โดยมักเข้าเข้าปะทะประเทศไทยบริเวณภาคใต้ตอนบน นอกจากนี้ ยังมีพายุที่ก่อตัวบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันตกเฉียงเหนือ หรือทางด้านทิศตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ บางครั้งเคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์ ทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประเทศเวียดนาม ลาว และสลายตัวบริเวณประเทศไทย
หลักการตั้งชื่อพายุ
เดิมทีสหรัฐอเมริกาจะตั้งชื่อพายุทั่วโลก เพราะเป็นประเทศที่มีความเพียบพร้อมทางเทคโนโลยีทางดาวเทียมตรวจสภาพอากาศ ความเคลื่อนไหวของพายุ ซึ่งในอดีตมักจะใช้ ชื่อผู้หญิง ในการตั้งเพื่อให้ดูอ่อนโยน ดูรุนแรงน้อยลง ภายหลังมีนักสิทธิสตรีในสหรัฐอเมริกาออกมาประท้วงว่าการตั้งชื่อพายุทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงโหดร้าย จึงมีการตั้งชื่อผู้ชายร่วมด้วยในปัจจุบัน (ค.ศ. 2000) ปัจจุบันการตั้งชื่อพายุจะแบ่งความรับผิดชอบตามภูมิภาค โดยให้แต่ละประเทศจะเสนอชื่อพายุประเทศละ 10 ชื่อ เป็นภาษาท้องถิ่นจากนั้นจะนำชื่อของแต่ละประเทศที่ตั้งไว้มาใช้ ตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษของแต่ละประเทศ
ในส่วนของประเทศไทย ตั้งอยู่ในโซนมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนบนและทะเลจีนใต้ ร่วมกับสมาชิกประเทศอื่นๆ ได้แก่ กัมพูชา จีน เกาหลีเหนือ-ใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ลาว มาเก๊า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ชื่อพายุแบ่งเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 28 ชื่อ ชื่อพายุแต่ละชื่อจะเรียงตามชื่อประเทศของลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษ เริ่มจากกัมพูชา เรื่อยไปจนถึงเวียดนามซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย โดยประเทศไทยอยู่อันดับที่ 12 เมื่อใช้ชื่อพายุที่ตั้งไว้หมด 1 กลุ่ม ก็จะขึ้นชื่อแรกในกลุ่มที่ 2 เรียงกันเรื่อยไปจนครบทุกกลุ่ม แล้วจึงกลับมาใช้ชื่อแรกของกลุ่มที่ 1 ใหม่อีกครั้ง
ตัวอย่างชื่อพายุของประเทศไทย ได้แก่ พระพิรุณ มังคุด วิภา บัวลอย เมขลา สายฟ้า นิดา ชบา กุหลาบ และขนุน ฯลฯ
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth