ควอตซ์ (quartz) เรียบเรียง : นารีรัตน์ อัมพวะศิริ และ สันติ ภัยหลบลี้

ควอตซ์ (quartz) เป็นแร่ชนิดหนึ่งที่มีองค์ประกอบเป็นซิลิกอนและออกซิเจน มีสูตรเคมีคือ SiO₂ เป็นแร่ที่พบมากที่สุดถึงร้อยละ 12 ของเปลือกโลก พบได้ทั้งในหินอัคนี หินตะกอน และหินแปร โดยทั่วไปแร่ควอตซ์มักอยู่ร่วมกับเฟลด์สปาร์และมัสโคไวท์ เกิดในรูปแบบสายแร่ และอาจพบแร่ควอตซ์อยู่ตามโค้งในของแม่น้ำและฝั่งทะเลในรูปของทราย แร่ควอตซ์มีคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย โดยควอตซ์มีรูปผลึกเป็นแบบ Hexagonal ซึ่งมักจะเกิดเป็นลักษณะแท่งยาวทั้งหัวและปลายแหลม มีเนื้อผลึกเป็นแบบผลึกสมานแน่น ความวาวคล้ายแก้ว เนื้อแร่ควอตซ์มีลักษณะโปร่งใสถึงโปร่งแสง มีความถ่วงจำเพาะ 2.6-2.7 โดยมีความแข็งอยู่ที่ 7 ตาม สเกลความแข็งของโมส์ (Mohs scales) ในประเทศไทยรู้จักและเรียกแร่ควอตซ์ในชื่อของ แร่เขี้ยวหนุมาน

การจับตัวกันของธาตุซิลิกอนและออกซิเจนเป็นแร่ซิลิกา
ประเภทของแร่เป็นแร่จำพวกซิลิเกต (silicate)
สี (color)ไม่มีสี-มีหลากหลายสี (ม่วงชมพู เหลือง ฯลฯ)
สีผง (streak)ไม่มีสี ขาว
ความวาว (luster)วาวคล้ายแก้ว (vitreous) ไข (waxy)
ความโปร่ง (diaphaneity)โปร่งใส โปร่งแสง
รอยแตก (fracture)รอยแตกเว้า (conchoidal fracture)
ความแข็ง (hardness)7 (ตามสเกลของโมส์)
ความถ่วงจำเพาะ (specific gravity)2.6-2.7
โครงสร้างผลึก (crystal system)hexagonal
สูตรเคมี (chemical composition)SiO₂
คุณสมบัติทางแสง (optical properties)uniaxial (+)
ตารางแสดงคุณสมบัติของแร่ควอตซ์

เพิ่มเติม : แร่ประกอบหิน

การเกิดสีในแร่

การเกิดสีในแร่ส่วนใหญ่เกิดจากมีบางธาตุปนอยู่อยู่ในแร่ ทำให้เกิดการเลือกดูดกลืนคลื่นแสงในแถบสีรุ้งได้ ธาตุที่ทำให้เกิดสีในแร่เรียกว่า รงคธาตุ ได้แก่ ธาตุโลหะ 8 ธาตุ หรือที่เรียกว่า ธาตุทรานซิชั่น (transition element) คือธาตุโครเมียม (Cr) เหล็ก (Fe) ไทเทเนียม(Ti) โคบอลท์ (Co) นิกเกิล(Ni) วาเนเดียม(V) แมงกานีส(Mn) และ คอปเปอร์ (Cu) โดยการเกิดสีแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

1) สีอิดิโอโครเมติค (idiochromatic color) คือ การที่ธาตุที่ให้สีเหล่านั้นเป็นองค์ประกอบหลักของแร่ ซึ่งสีของแร่จำพวกนี้จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง และสามารถใช้เป็นลักษณะเด่นในการบอกประเภทได้

2) วัสดุอัลโลโครแมติค (allochromatic material) คือ การที่ธาตุที่ให้สีเป็นมลทินแปลกปลอมเข้าไปแทนที่ในโครงสร้างของแร่นั้นๆ ซึ่งแร่ควอตซ์ที่มีสีส่วนใหญ่ก็เกิดจากการที่มีมลทินของธาตุเข้าไปแทรกอยู่ในโรงสร้างของผลึกแร่

3) กระบวนการอิเล็กโทรนิค (electronic process) คือ กระบวนการการเกิดสีที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

  • ศูนย์กลางสี (color center) เกิดจากความไม่สมบูรณ์ของผลึก ทำให้ประจุธาตุหนึ่งอาจมีมากหรือน้อยเกินไป ทำให้เกิดช่องว่างที่สามารถเลือกดูดกลืนช่วงคลื่นในแถบสีรุ้งได้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ Electron Color Centre และ Hole Color Centre
  • ทฤษฏีระดับพลังงงาน (band theory) คือ การที่ band gap ในแต่ละตัวจะมีความกว้างแตกต่างกันตามแต่ละแร่ โดยระยะห่างระหว่าง valence band กับ conduction band จะเรียกว่า electron energy band gap แบ่งได้เป็น 3 ชนิด ขึ้นกับโครงสร้างผลึกและสูตรทางเคมี ซึ่งแต่ละชนิดก็จะให้สีที่แตกต่างกันไป
  • ออร์บิทัลเชิงโมเลกุล (molecular orbit) คือ การที่อิเล็กตรอนในบางแร่สามารถเคลื่อนที่หรือแลกเปลี่ยนจากไอออนสู่ไอออนได้โดยการดูดกลืนแสงและได้รับพลังงาน สามารถเกิดได้ 3 แบบ คือ 1) metal-to-metal ion charge transfer 2) oxygen-to-metal ion charge transfer และ 3) charge transfer without metal ion

แร่ควอตซ์สีต่างๆ

แร่ควอตซ์สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท หลักๆ ได้แก่ แร่ควอตซ์ผลึกหยาบ (coarsely crystalline varieties) และ แร่ควอตซ์ผลึกละเอียด (cryptocrystalline varieties) ซึ่งจะมีผลึกเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น โดยแร่ควอตซ์แต่ละแบบก็มีสีสันแตกต่างกันตามธาตุที่เข้าไปเป็นมลทิน โดยแร่ควอตซ์ผลึกหยาบแบ่งประเภทตามสีที่พบ ดังนี้

  • ควอตซ์บริสุทธิ์ (clear quartz) คือ แร่ควอตซ์ใส ไม่มีสี ไม่มีมลทิน
  • ซิทริน (citrine) คือ ควอตซ์ที่มีสีอยู่ในช่วงสีเหลืองปนแดง สีส้ม และสีส้มน้ำตาล สีเกิดจากเหล็กเข้าไปเป็นมลทิน ซิทรินสีเหลืองมะนาว ในตลาดพลอยเรียก เลมอนควอตซ์
  • อเมทิสต์ (amethyst) คือ แร่ควอตซ์ที่มีสีอยู่ในช่วงสีม่วงคราม สีม่วงแดง สีเกิดจากการที่เหล็กเข้าไปเป็นมลทินเช่นกัน
  • สโมคกี้ควอตซ์ (smoky quartz) หรือ หินแคนกอล์ม (cairngorm stone) คือ แร่ควอตซ์ที่มีสีอยู่ในช่วงสีเทาควันไฟปนเหลืองและสีน้ำตาล
  • ควอตซ์สีน้ำนม (milky quartz) คือ แร่ควอตซ์ที่มีลักษณะสีขาวขุ่นคล้ายน้ำนม มีก๊าซและของเหลวเป็นมลทิน มีลักษณะโปร่งแสงถึงทึบแสง ลักษณะเด่นคือมีความวาวคล้ายเทียนไข
  • โรสควอตซ์ (rose quartz) หรือที่เรียกกันว่า ควอตซ์กุหลาบ คือ แร่ควอตซ์ที่มีสีอยู่ในช่วงสีชมพูอ่อน ไปจนถึงสีแดงเข้ม ส่วนมากจะไม่ค่อยเกิดเป็นรูปผลึก แต่จะพบในลักษณะที่เป็นเนื้อสมานแน่น มลทินที่ทำให้เกิดสีได้แก่ ธาตุไทเทเนียม

หินแคนกอล์ม (cairngorm stone) เรียกตามชื่อภูเขาแห่งหนึ่งในประเทศสก๊อตแลนด์ ซึ่งมีหินชนิดนี้อยู่เป็นจำนวนมาก

แร่ควอตซ์ประเภทต่างๆ
  • บลูควอตซ์ (blue quartz) คือ แร่สีน้ำเงินเทาอ่อนๆ สีที่เกิดเนื่องจากการกระจายแสง โดยมลทินรูปเข็มของแร่รูไทล์มากมาย มีเส้นพาดเหลือบจางๆ
  • ควอตซ์ตาแมว (cat’s eye quartz) คือ แร่ควอตซ์ที่มีสีอยู่ในช่วงสีขาว สีน้ำตาลเทา สีเหลืองแกมเขียว สีดำ สีเขียว และสีเทา ลักษณะจะค่อนข้างโปร่งแสงไปจนถึงโปร่งใส เมื่อเจียระไนเป็นรูปโค้งหลังเต่า ควอตซ์ชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นแถบเหลือบ เนื่องจากมีผลึกของแร่อื่นๆ หรือผลึกของควอตซ์เอง ซึ่งเป็นเสี้ยนเล็กๆ (fibrous) เข้าไปวางตัวขนานกันในแนวขวาง กับส่วนยาวของแร่ที่เจียระไนแล้ว ทำให้แถบเหลือบนั้นเกิดความวาวสีเหลืองคล้ายเส้นไหม
  • ควอตซ์ตาเสือ (tiger’s eye quartz) คือ แร่ควอตซ์ที่มีสีมีตั้งแต่สีเหลืองแกมน้ำตาล สีน้ำตาลแดง และสีน้ำเงิน และสีแดงเข้ม ลักษณะค่อนข้างโปร่งแสงไปจนถึงโปร่งใส ควอตซ์ชนิดนี้มีลักษณะเหลือบแพรวพราวเป็นแถบคล้ายเส้นไหม เนื่องจากแร่ควอตซ์เข้าไปแทนที่ในเนื้อของ แร่โครซิโดไลท์ (crocidolite) ซึ่งมีลักษณะเป็นเสี้ยน
  • รูไทล์ควอตซ์ (rutilated quartz) หรือ ไหมทอง คือ แร่ควอตซ์สีใส ไม่มีสี แต่ในเนื้อควอตซ์มีแร่รูไทล์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายเข็มเย็บผ้าสีทองหรือสีแดงแทรกปะปนเป็นมลทิน
  • อะเวนจูรีน (aventurine) คือ แร่ควอตซ์ที่เมื่อขยับไปมาจะเห็นมีประกายระยิบระยับแพรวพราว เนื่องจากมีมลทินของแร่บางชนิด ซึ่งมีลักษณะเป็นเกล็ดเล็กๆ เช่น ไมกา ฮีมาไทต์ ฝังตัวอยู่ในควอตซ์อย่างไม่เป็นระเบียบ และเกิดการสะท้อนแสงออกมาคนละทิศทาง ทำให้เห็นเป็นประกายระยิบระยับ อาจมีสีต่างๆ กันได้เช่น สีเทา สีเหลือง สีน้ำตาล

ในกรณีของ แร่ควอตซ์ผลึกละเอียด (cryptocrystalline varieties) ซึ่งต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ช่วยในการแยกประเภท แบ่งได้ 2 ประเภท คือ แร่ควอตซ์แบบเนื้อเป็นเสี้ยน และ แร่ควอตซ์แบบเนื้อเป็นเมล็ด

แร่ควอตซ์แบบที่เนื้อเป็นเสี้ยน (fibrous varieties) มีชื่อเรียกว่า คาลซิโดนี (chalcedony) โดยคาลซิโดนีจะมีสีเป็นสีน้ำตาลและเทา ลักษณะโปร่งแสง แวววาวคล้ายขี้ผึ้ง โดยแร่ควอตซ์ประเภทนี้เกิดจากการที่สารละลายเข้าไปสะสมตามช่องว่างหรือโพรงในหินตามธรรมชาติ แบ่งได้หลายประเภทตามสี ดังนี้

  • คาร์เนเลียน (carnelian) เป็นคาลซิโดนีที่มีสีส้มอมแดง น้ำตาลแดง หรือสีน้ำตาลส้ม มีลักษณะกึ่งโปร่งใส
  • ซาร์ด (sard) มีลักษณะคล้ายกับ คาร์เนเลียน แต่ซาร์ดจะมีสีเข้มกว่า เช่น มีสีน้ำตาลหรือสีที่มักทึบกว่าหรือมีสีแดงทึบ
  • หินโอนิกซ์ (onyx) เป็นคาลซิโดนีที่มีแนวลายชั้นเป็นแนวเส้นตรง มีสีเทาหรือสีเหลืองอ่อน ถ้าโอนิกซ์มีแนวลายชั้นเป็นสีแบบ ซาร์ด (sard) สลับกับแนวลายชั้นชนิดสีขาวหรือดำขนานกัน เรียกโอนิกซ์ชนิดนี้ว่า ซาร์โดนิกซ์ (sardonyx) แบบที่เนื้อเป็นมวลเมล็ด
  • คริสโซเพลส (chrysoprase) เป็นคาลซิโดนี ที่มีสีเขียวแอปเปิล มีลักษณะโปร่งใสกึ่งโปร่งแสง สีเขียวเกิดจากการที่มีนิกเกิลออกไซด์ปนอยู่
  • อาเกต (agate) หรือ โมรา เป็นคาลซิโดนีชนิดที่มีลายเป็นชั้นๆ หรือมีลักษณะโค้งเป็นลอนคลื่นและในแต่ละชั้นจะมีสีแตกต่างกันรวมไปถึงลักษณะความโปร่งแสงก็แตกต่างกันด้วย
  • แจสเปอร์ (jasper) มีลักษณะของผลึกเป็นเมล็ด เนื้อเนียนละเอียด มักมีสีแดงหรือน้ำตาลปนแดง เนื่องจากมีแร่ฮีมาไทต์ปนอยู่ด้วย
  • หินเพรส (prase) มีลักษณะด้าน สีเขียว มักเกิดร่วมกับ แจสเปอร์ (jasper)
  • เฮริโอโทร์เป้ (heliotrope) หรือ หินเลือด (bloodstone) เป็นคาลซิโดนีที่มีเนื้อพื้นเป็นสีเขียวทึบและมีจุดแดงๆ หรือน้ำตาลแดงของ แจสเปอร์ (jasper) ฝังประอยู่ ในเนื้อพื้นเขียวดังกล่าว
  • หินเหล็กไฟ (flint) มีลักษณะคล้ายคาลซิโดนี แต่ไม่แวววาว ด้านคล้ายดิน สีทึบหรือสีเข้มกว่าเชิร์ต มักเกิดอยู่กับหินชอล์กหรือหินปูน มีรอยแตกเว้า ขอบแหลมคม นิยมนำไปใช้ทำเครื่องใช้และอาวุธ
แร่ควอตซ์ประเภทต่างๆ

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share:
Slot Toto Slot Gacor Maxwin slot thailand slot toto slot resmi slot thailand slot qris slot gacor maxwin slot gacor maxwin Slot Gacor Maxwin Slot Gacor Maxwin 2024 Situs Slot Gacor 777 Situs Slot Gacor Toto Slot Gacor 2024 Maxwin Slot Gacor Terbaik Slot Gacor 4D Slot Gacor Terpopuler slot gacor maxwin slot toto gacor scatter hitam slot thailand slot777 slot maxwin slot thailand slot toto gacor slot gacor 777 Slot Gacor Thailand slot88 maxwin slot thailand 2024