วิจัย

อัตราการเกิดแผ่นดินไหวในพม่าเปลี่ยนไป ซึ่งค่อนข้างจะไม่ใช่เรื่องดี

ในบรรดารอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่คนไทยรู้จักกัน รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) ถือเป็นหนึ่งใน รอยเลื่อนมีพลัง (active fault) ที่สำคัญอันดับต้นๆ ในอาเซียนบ้านเรา ด้วยความยาวประมาณ 1,200 กิโลเมตร ทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ ผ่ากลางอกประเทศพม่า และพาดผ่านแทบทุกเมืองที่สำคัญ ทำให้รอยเลื่อนสะกายถือว่าเป็นรอยเลื่อนยักษ์ที่อยู่ใกล้คนมากเกินไปและไม่น่าไว้ใจในอนาคต

คำว่า Sagaing Fault เมื่อก่อนคนไทยเคยอ่าน รอยเลื่อนสะเกียง ฝรั่งต่างชาติอ่าน รอยเลื่อนสะแกง ต่อมาคนพม่าบอกว่าบ้านเขาเรียก รอยเลื่อนสะกาย ทุกวันนี้สรุปเรียกให้ตรงกันว่า รอยเลื่อนสะกาย ตามคนพม่าเจ้าของพื้นที่

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เคยมีการบันทึกไว้ในอดีต (Milne, 1911; Chhibber, 1934; Thawbita, 1976; Htwe Zaw, 2006; Swe, 2006; Kundu และ Gahalaut, 2012) ยืนยันว่ารอยเลื่อนนี้เคยปล่อยแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ขึ้นไป ประมาณ 70 ครั้ง ในช่วง 562 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ. 1972-2534) โดยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่สะกายเคยฝากเอาไว้มีขนาดใหญ่ถึง 8.0 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2455 ที่เมืองมัณฑะเลย์ ทางตอนเหนือของรอยเลื่อนสะกาย (Kundu และ Gahalaut, 2012) แถมจากการวิเคราะห์ข้อมูลแผ่นดินไหวในเชิงสถิติ Pailoplee (2013) ประเมินว่ารอยเลื่อนสะกายนั้นมีศักยภาพพอที่จะเป็นแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ได้สูงถึง 8.6 โดยเฉพาะบริเวณเมืองมิตจีนา (Myitkyina) ทางตอนเหนือของรอยเลื่อนสะกาย

และจากการรวบรวมผลกระทบด้านแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากรอยเลื่อนสะกายบ่งชี้ว่าหากเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนสะกาย ประเทศไทยมีโอกาสได้รับแรงสั่นสะเทือนในระดับ IV-V ตาม มาตราเมอร์คัลลี่แปลง แถบภาคเหนือ ลามไปถึงกรุงเทพฯ ที่เคยได้รับแรงสั่นสะเทือนจากรอยเลื่อนสะกายนี้ในระดับ III (จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.0 เมื่อ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2455 และ 7.0 เมื่อ 3-4 ธันวาคม พ.ศ. 2473) ดังนั้นจึงไม่ใช่เฉพาะประเทศพม่าเท่านั้นที่ควรจะใส่ใจรอยเลื่อนสะกาย แต่คนไทยอย่างพวกเราก็ควรที่จะจับตาและเฝ้าระวังรอยเลื่อนสะกายอย่างไม่ให้คลาดสายตาเช่นกัน

(ก) แผนที่ประเทศพม่าแสดงแนวรอยเลื่อนสะกาย (เส้นสีน้ำเงิน) จุดสีเทาคือแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหว ดาวสีแดงคือบางส่วนของเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งสำคัญ (ข-ค) ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงภูมิประเทศแบบผารอยเลื่อนและทางน้ำหักงอ ที่ตรวจพบทางตอนเหนือของเมืองมัณฑะเลย์และตอนใต้ของเมืองเนย์ปิดอว์ ตามลำดับ (สันติ ภัยหลบลี้ และ สัณฑวัฒน์ สุขรังสี, 2557)

ดังนั้น Pailoplee และคณะ (2017) จึงวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงอัตราการเกิดแผ่นดินไหวที่สัมพันธ์กับการเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 6.0 Mw ตามแนวรอยเลื่อนสะกาย ตอนกลางของประเทศพม่า โดยประยุกต์ใช้ การวิเคราะห์ค่า Z ซึ่งหลังจากผ่านกระบวนการปรับปรุงฐานข้อมูลแผ่นดินไหว พบว่าข้อมูลแผ่นดินไหวขนาด ≥ 3.5 Mw จำนวน 3,780 เหตุการณ์ ในบริเวณรอยเลื่อนสะกาย มีความสมบูรณ์และมีนัยสำคัญถึงพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวที่สัมพันธ์กับกระบวนการทางธรณีแปรสัณฐานอย่างแท้จริง

และเพื่อที่จะทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างค่า Z และแผ่นดินไหวขนาด ≥ 6.0 Mw ที่เกิดตามมา ตามแนวรอยเลื่อนสะกาย Pailoplee และคณะ (2017) คัดเลือกแผ่นดินไหวขนาด ≥ 6.0 Mw ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตจากรอยเลื่อนสะกายจำนวน 7 เหตุการณ์ (ตารางด้านล่าง) เป็นกรณีศึกษาในการทดสอบย้อนกลับ (retrospective test) เพื่อวิเคราะห์ ตัวแปรอิสระ N และ Tw ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการวิเคราะห์ค่า Z ในพื้นที่รอยเลื่อนสะกาย โดยผลการทดสอบย้อนกลับในเบื้องต้นบ่งชี้ว่าตัวแปรอิสระ N = 25 เหตุการณ์ และ Tw = 2 ปี สามารถตรวจพบค่า Z สูงอย่างผิดปกติก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 6.0 Mw ที่เกิดตามมาจำนวน 5 จาก 7 กรณีศึกษา (รูปด้านล่าง)

ลำดับ ลองจิจูด ละติจูด ความลึก (กิโลเมตร) วัน/เดือน/ปี ขนาด (Mw) Zmax TZ (ค.ศ.) DZ (ปี)
1. 95.98 23.48 20 05/01/1991 7.0 2.3 1987.74 3.3
2. 95.74 15.75 15 01/04/1991 6.0
3. 97.22 25.20 33 11/01/1994 6.1 4.8 1986.86 7.2
4. 96.90 18.70 33 15/08/1999 6.0 5.1 1993.50 6.1
5. 97.15 26.70 37 07/06/2000 6.3 4.7 1994.68 5.7
6. 95.72 19.86 16 21/09/2003 6.6
7. 95.78 19.43 33 30/07/2007 6.4 4.9 2003.93 3.6
กรณีศึกษาแผ่นดินไหวขนาด ≥ 6.0 Mw ที่เกิดจากรอยเลื่อนสะกาย ตอนกลางของประเทศพม่าในช่วงปี ค.ศ. 1991-2007 และผลการวิเคราะห์ค่า Z (Pailoplee และคณะ, 2017) หมายเหตุ: 1) Zmax คือ ค่า Z สูงที่สุด ที่ตรวจพบในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงค่า Z เชิงเวลา 2) TZ คือ เวลาที่ตรวจพบค่า Zmax และ 3) DZ คือ ช่วงเวลาระหว่าง TZ ถึงเวลาเกิดแผ่นดินไหวที่พิจารณา

การทดสอบย้อนกลับเชิงเวลา

ในกรณีของการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงค่า Z เชิงเวลาในแต่ละกรณีศึกษา Pailoplee และคณะ (2017) วิเคราะห์จำนวนแผ่นดินไหวสะสมและค่า Z ในช่วงปี ค.ศ. 1980 จนถึงเวลาเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละกรณีศึกษา (รูปด้านล่าง) ผลการวิเคราะห์พบค่า Zmax อยู่ในช่วง 2.3-5.1 เช่น รูป ก พบค่า Zmax = 2.3 ซึ่งสูงอย่างผิดปกติในปี ค.ศ. 1987.74 และหลังจากนั้นประมาณ 3.3 ปี เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 Mw บนรอยเลื่อนสะกายทางตอนเหนือของเมืองมัณฑะเลย์ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1991 นอกจากนี้รูป ข ตรวจพบการลดลงของอัตราการเกิดแผ่นดินไหวอย่างผิดปกติ ก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.1 Mw ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1994

กราฟแสดงจำนวนแผ่นดินไหวสะสม (เส้นสีดำ) และการเปลี่ยนแปลงเชิงเวลาของ ค่า Z (เส้นสีเทา) วิเคราะห์ที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด ≥ 6.0 Mw ที่เกิดขึ้นตามแนวรอยเลื่อนสะกาย ตอนกลางของประเทศพม่า (Pailoplee และคณะ, 2017) แถบสีเทา คือ ช่วงเวลาเกิดภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว ดาวสีเทา คือ เวลาเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 6.0 Mw ที่พิจารณา

ในกรณีรูป ง ตรวจพบภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหวได้อย่างชัดเจนจากค่า Zmax = 4.7 ในช่วงปี ค.ศ. 1989.12-1994.68 ซึ่งหลังจากนั้น 5.7 ปี จึงเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 Mw ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2000 รวมทั้งภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหวที่ตรวจพบในปี ค.ศ. 2003.93 แสดงค่า Zmax = 4.9 (รูป จ) และหลังจากนั้น 3.6 ปี จึงเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.4 Mw ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2007 ซึ่งจากผลการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงค่า Z เชิงเวลา บ่งชี้ว่าตัวแปรอิสระ N = 50 เหตุการณ์ และ Tw = 2 ปี สามารถใช้วิเคราะห์ค่า Z ในบริเวณรอยเลื่อนสะกายได้อย่างมีนัยสำคัญ (Pailoplee และคณะ, 2017)

การทดสอบย้อนกลับเชิงพื้นที่

นอกจากนี้ Pailoplee และคณะ (2017) ได้วิเคราะห์การกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า Z ดังแสดงในรูปด้านล่าง เช่น รูป ก แสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า Z ในปี ค.ศ. 1987.74 พบพื้นที่ภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว (Zmax = 2.3) อย่างชัดเจนในบริเวณโดยรอบจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด 7.0 Mw ที่เกิดในเดือนมกราคม ค.ศ. 1991 ทางตอนเหนือของเมืองมัณฑะเลย์ หลังจากตรวจพบภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหว 3.3 ปี หลังจากนั้นขอบเขตของภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหวขยายตัวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ในบริเวณใกล้กับเมืองมิตจีนา โดยในปี ค.ศ. 1986.86 ตรวจพบค่า Z = 4.8 ครอบคลุมความยาว 400 กิโลเมตร ตามแนวรอยเลื่อนสะกาย (รูป ข) ซึ่งหลังจากนั้น 7.2 ปี จึงเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.1 Mw ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1994 ใกล้เมืองมิตจีนา

ในช่วงปี ค.ศ. 1993.50 ตรวจพบความผิดปกติของค่า Z = 5.1 บริเวณรอยเลื่อนสะกายที่พาดผ่านระหว่างตอนเหนือของเมืองพะโคและเมืองมัณฑะเลย์ (รูป ค) ซึ่งประเมินว่าอาจเป็นภาวะเงียบสงบแผ่นดินไหวของแผ่นดินไหวขนาด 6.0 Mw ที่เกิดในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1999 ที่เกิดขึ้นทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเนย์ปิดอว์ ในกรณีของรูป ง รอยเลื่อนสะกายทางตอนเหนือแสดงค่า Z = 4.7 ในปี ค.ศ. 1994.68 และหลังจากนั้น 5.7 ปี จึงเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 Mw ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2000

แผนที่รอยเลื่อนสะกาย ตอนกลางของประเทศพม่าแสดงการกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า Z ที่เวลา TZ ซึ่งประเมินจากการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงค่า Z เชิงเวลา (Pailoplee และคณะ, 2017) ดาวสีดำ คือ แผ่นดินไหวขนาด ≥ 6.0 Mw ที่พิจารณา

พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคต

จากความสอดคล้องของค่า Z สูงอย่างผิดปกติและแผ่นดินไหวขนาด ≥ 6.0 Mw ที่เกิดตามมาตามแนวรอยเลื่อนสะกาย Pailoplee และคณะ (2017) จึงวิเคราะห์การกระจายตัวเชิงพื้นที่ของค่า Z จากข้อมูลแผ่นดินไหวในช่วงปี ค.ศ. 2010-2015 (รูป ฉ) ผลการวิเคราะห์พบค่า Z สูงอย่างผิดปกติในปี ค.ศ. 2012.83 จำนวน 2 พื้นที่ คือ 1) ตอนเหนือใกล้เมืองเมืองมิตจีนา (Z = 8.0) และ 2) ตอนกลางของรอยเลื่อนสะกายบริเวณเมืองเนย์ปิดอว์ (Z = 9.0) (รูป ฉ) และเมื่อเปรียบเทียบกับงานวิจัยในอดีตพบว่าทั้ง 2 พื้นที่ดังกล่าว แสดงค่า Z สูงอย่างผิดปกติดังกล่าว (รูป ฉ) สอดคล้องกันพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคตจากการวิเคราะห์ค่า b ซึ่งนำเสนอโดย Pailoplee (2013) ดังนั้น Pailoplee และคณะ (2017) จึงสรุปว่าพื้นที่ 1) ตอนเหนือใกล้เมืองเมืองมิตจีนา และ 2) ตอนกลางของรอยเลื่อนสะกายบริเวณเมืองเนย์ปิดอว์ เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคต

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: