สำรวจ

“คำชะโนด” ในมุมวิทยาศาสตร์

ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน วิทยาศาสตร์จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากมายในการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบนโลก แต่ถ้าจะให้พูดกันอย่างแฟร์ๆ วิทยาศาสตร์ก็เกิดขึ้นมาในภายหลังจากความเชื่อในท้องถิ่นที่มักจะมีอยู่ก็ก่อนแล้ว ดังนั้นในหลายๆ สถานที่บนโลก จึงถูกอธิบายไว้ด้วยความเชื่อและความศรัทธา และอาจจะมีในบางสถานที่ที่มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ควบคู่ เคียงขนานกันไป ซึ่งนั่นก็รวมถึงสถานที่ที่ผู้เขียนกำลังจะเล่าในบทความนี้เช่นกัน เพราะเรื่องเล่าในมุมวิทยาศาสตร์เรื่องนี้ ก็ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะลบล้างหรือลบหลู่ความเชื่อในท้องที่ที่มีอยู่ก่อน แต่เจตนาหลักของการเล่าเรื่องก็เพียงแค่อยากให้มีมุมของวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นมาอีกซักมุม เดินเคียงกันไปกับความศัทธาดั้งเดิม

คำชะโนด หรือ วังนาคินทร์คำชะโนด เป็นสถานที่แห่งหนึ่งในตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี มีลักษณะปรากฏเหมือนกับเกาะกลางน้ำ ที่อยู่ภายในอ่างเก็บน้ำกุดขาม ขนาดที่พอจะวัดได้คร่าวๆ กว้าง x ยาว ก็น่าจะประมาณ 190 x 270 เมตร และถ้าถัวๆ พื้นที่ก็น่าจะประมาณ 30 ไร่ ซึ่งสภาพแวดล้อมของเกาะแทบทั้งเกาะจะมีลักษณะเป็นป่าทึบ อากาศเย็น (เย็นกว่านอกพื้นที่โดยรอบเกาะ) มีความชื้นสูง โดยเกือบทั้งป่าจะมีพืชที่โดดเด่น คือ ต้นชะโนด (Taraw palm) ซึ่งเป็นพืชวงศ์เดียวกับพวกปาล์ม จึงเป็นที่มาของชื่อสถานที่นี้ว่า คำชะโนด

คำชะโนด คำว่า คำ หมายถึง พื้นที่ที่มีน้ำซับหรือมีน้ำซึมจากใต้ดินขึ้นมาขังบนผิวดินคนอีสานเรียกพื้นที่ในลักษณะนี้ว่า น้ำคำ

(ซ้าย) ภาพดาวเทียมจาก google earth แสดงลักษณะพื้นที่ของป่าคำชะโนดที่อยู่กลางอ่างเก็บน้ำกุดขาม (ขวา) ต้นและผลของชะโนด (ที่มา : www.matichonweekly.com)

โดยทั่วไป ต้นชะโนด จะสูงเต็มที่ได้ถึง 30 เมตร มีลำต้นเหมือนกับต้นมะพร้าว มีลูกเหมือนหมาก ซึ่งคนโบราณเชื่อว่าใช้เป็นยาสมุนไพรได้ด้วย ทั้งช่วยขับปัสสาวะ เพิ่มพลังเพศ เป็นยาระบายอ่อนๆ หรือแม้กระทั่งแก้หวัด ในส่วนของสถานที่พบ ต้นชะโนดสามารถขึ้นได้แทบทุกภูมิภาคของประเทศไทยและอาเซียน เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม บอร์เนียว ชวา มาเลเซีย ฯลฯ ซึ่งโดยเฉพาะประเทศไทย ก็มีชื่อเรียกต้นชะโนดหลากหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น ค้อพรุ ร็อก ค้อสร้อย จะทัง ซือแด เป็นต้น

ความเชื่อและเรื่องเล่า

ปัจจุบันชาวบ้านที่อาศัยอยู่แถบนั้น รวมทั้งชาวท้องถิ่นอีสานโดยส่วนใหญ่เชื่อกันว่าบริเวณป่าคำชะโนด เป็นที่อยู่อาศัยของพญานาค 2 ตน คือ พ่อปู่ศรีสุทโธ และ แม่ย่าศรีประทุมมา และเป็นเส้นทางขึ้น-ทางลง ของเมืองบาดาล ลอดใต้พื้นดินต่อไปถึงแม่น้ำโขง โดยคำชะโนดมีลักษณะพิเศษของพื้นที่ที่น่าตื่นตาตื่นใจคือ บริเวณป่าคำชะโนดจะไม่เคยจมน้ำ แม้ในช่วงฤดูน้ำหลากที่มักจะเกิดน้ำท่วมพื้นที่ในแถบนั้น โดยชาวบ้านสังเกตุเห็นว่าในช่วงที่มีน้ำท่วมพื้นที่โดยรอบ ป่าคำชะโนดจะยกตัวหรือลอยตัวสูงขึ้นเหนือระดับน้ำเสมอ และเมื่อน้ำลดระดับลงป่าคำชะโนดก็จะลดระดับลงตามไปด้วย ดังนั้นป่าคำชะโนดจึงไม่มีวันจมน้ำ ถือเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์แปลกที่ทำให้ป่าคำชะโนดเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับกรณี ผีจ้างหนัง โดยว่ากันว่าในอดีตเมื่อประมาณ 30-40 ปีก่อน เคยมีการว่าจ้างบริษัทหนังกลางแปลงให้ไปฉายในพื้นที่ป่าคำชะโนด เจ้าของหนังผู้อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ เล่าว่าในวันนั้นรถหนังเข้าไปถึงพื้นที่ในช่วงบ่ายแก่ๆ และจัดเตรียมอุปกรณ์พร้อมทั้งกลางจอหนังตามปกติ แต่สิ่งผิดปกติที่สังเกตเห็นได้ในวันนั้นคือ ก่อนที่ดวงอาทิตย์จะตกดินจะไม่มีคนอยู่ในละแวกนั้น แม้กระทั่งพ่อค้าแม่ค้าที่ควรจะมาตั้งร้านก่อนเพื่อเตรียมขายของ ก็ไม่มีเลยแม้แต่ร้านเดียว

จวบจนกระทั่งเวลาพลบค่ำ พบว่ามีผู้คนจำนวนมากเดินเข้ามาในบริเวณฉายหนังอย่างรวดเร็วทุกคนต่างนั่งดูหนังอย่างเงียบๆ และเรียบเฉย โดยไม่มีการพูดจา แถมนั่งแยกฝั่งชาย-หญิง หลังจากฉายหนังจบ คนดูต่างหายไปอย่างรวดเร็ว และทีมงานหนังก็ผลอยหลับไปจนกระทั่งตื่นเช้าขึ้นมาพบว่ารถหนังนั้นอยู่กลางป่า ส่วนจอหนังค้างเติ่งอยู่บนต้นไม้ ทีมงานตกใจและพยายามออกจากพื้นที่ โดยขาออกมาต้องถางป่าออกมา ต่างกับช่วงที่เข้าไปที่ดูเหมือนว่ามีถนนเข้าไปได้อย่างสะดวกง่ายดาย และเมื่อกลับมาถึงสำนักงานหนังก็พบว่าเงินมัดจำที่คนติดต่อเคยให้ไว้นั้นกลับกลายเป็นใบไม้ และนี่คือเรื่องเล่าจากปากผู้ชายที่เคลมว่าเป็นคนเข้าไปฉายหนังในวันนั้น ทำให้พื้นที่ป่าคำชะโนดจึงเป็นที่น่าเกรงขามและน่าศรัทธาในเวลาเดียวกัน

(ซ้าย) สภาพด้านหน้าทางเข้าของป่าคำชะโนด (ขวา) ตำนาน ผีจ้างหนัง แห่งป่าคำชะโนด

การเกิดคำชะโนด

ในอีกมุมหนึ่งทางวิทยาศาสตร์หรือทางกายภาพ คำชะโนดเกิดจาก กอวัชพืช (floating mat) หรือซากวัชพืชน้ำจำนวนมากที่เจริญเติบโตเกิดขึ้นภายในหนองน้ำ ซึ่งต่อมากระแสลมผิวน้ำได้พัดวัชพืชไปกองรวมกันที่ริมฝั่งด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปรากวัชพืชดังกล่าวพัวพัน เกี่ยวก้อยผสานกันเป็นกอ เกิดเป็นเกาะวัชพืช ซึ่งสังเกตได้จากถ้าลองเข้าไปในพื้นที่ เวลาเหยียบพื้นที่จะยวบๆ โดยซากวัชพืชเกิด-ตาย ทับถมกันเป็นชั้นหนาขึ้นตามเวลา เกิดการหมักและเกิดก๊าซมีเทน ซึ่งหากใครเคยเข้าพื้นที่ ดมดีๆ จะได้กลิ่น

(บน) แบบจำลองการเกิดป่าคำชะโนด (ซ้าย) ตัวอย่างวัชพืชนำ (ขวา) ภาพถ่ายรากที่ชอนไชกันใต้ป่าคำชะโนด (ที่มา : www. nagahora.blogspot.com)

จากการประสานนักประดาน้ำในท้องถิ่นเพื่อดำลงไปพิสูจน์พื้นที่ใต้เกาะคำชะโนด ผลจากการดำน้ำพบว่าใต้เกาะคำชะโนดมีรากวัชพืชจำนวนมากประสานกันอย่างยุ่งเหยิงและดูเหมือนว่ากลุ่มร่างดังกล่าวไม่ได้เกาะหรือยึดติดกับพื้นดินของน้องน้ำ นั่นแสดงว่าป่าคำชะโนดไม่ใช่เกาะแต่เป็นกอวัชพืชขนาดใหญ่ที่อยู่ในหนองน้ำ

และจากการสืบค้นเชิงเอกสารทางวิชาการพบว่าลักษณะการเกิดก็วัชพืชขนาดใหญ่หรือเกาะวัชพืชแบบนี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไปทั้งในละแวกใกล้เคียงกับป่าคำชะโนด และในพื้นที่ต่างประเทศก็มีเกาะประมาณนี้ ทั้งเล็ก ทั้งใหญ่

ลักษณะของกอวัชพืช ที่พบเกือบทุกหนองน้ำในละแวกป่าคำชะโนด
ลักษณะของกอวัชพืช ที่พบในต่างประเทศ

ดังนั้นโดยสรุปในมุมวิทยาศาสตร์ ป่าคำชะโนด คือ กอวัชพืชขนาดใหญ่กลางบึงหรือหนองน้ำที่มักพบเห็นโดยทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ และก็ไม่แปลกที่เวลาน้ำท่วม กอวัชพืชเหล่านี้จะลอยเหนือน้ำ เพราะรากไม่ได้ยึดเกาะกับพื้นดินเอาไว้

ตัวอย่างงานวิจัยในต่างประเทศที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ กอวัชพืช กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: