ทอร์นาโด (tornado) คือ พายุที่มีลักษณะคล้ายกับงวงช้างสีดำ ห้อยลงมาจากเมฆคิวมูโลนิมบัส มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 1 กิโลเมตร แต่มีการหมุนวนของลมด้วยความเร็วสูง บางครั้งอาจสูงถึง 400 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งภายในมวลพายุประกอบด้วยไอน้ำและฝุ่นละออง ตลอดจนวัตถุต่างๆ ที่ถูกลมพัดลอยเข้ามาในตัวพายุ เนื่องจากเมื่อพายุเคลื่อนไปพื้นที่ใด ฐานของพายุจะกวาดทุกอย่างบนพื้นขึ้นไปด้วย
ทอร์นาโดเกิดจากมวลอากาศที่เย็นและหนักกว่าลอยผ่านเข้าไปใต้มวลของอากาศที่อบอุ่นและเบากว่า ทำให้เกิดการหมุนวนของลมในแนวราบ เรียก 1) ระยะตั้งต้น (early stage) ต่อมาลมเริ่มยกตัวและเปลี่ยนเป็นการหมุนวนในแนวดิ่ง เรียกว่า 2) ระยะลอยตัว (updraft stage) นากนั้นมีเพิ่มความเร็วลมโดยมีแรงลมกรดมาช่วยเสริมในการหมุนทำให้เส้นผ่านศูนย์กลางลดลง เรียกว่า 3) ระยะทอร์นาโด (tornado stage) เกิดเป็นลำอากาศเป็นเกลียวตั้งสูงขึ้นไปในท้องฟ้า โดยที่บริเวณศูนย์กลางของทอร์นาโดจะมีความเร็วลมสูงที่สุด และมีความเร็วลดลงเมื่อห่างจากจุดศูนย์กลาง
ระดับความรุนแรงของทอร์นาโด
ระดับความรุนแรงของทอร์นาโด (Tornado’s Intensity) คือ ระดับของสภาพความเสียหายและการทำลายล้างของทอร์นาโด โดยปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์อ้างอิงเกณฑ์การแบ่งระดับความรุนแรงตาม มาตราฟูจิตา (Fujita Intensity Scale) ซึ่งแบ่งระดับความรุนแรงของทอร์นาโดเป็น 5 ระดับจาก F0-F5 ดังนี้
ระดับ | ความเร็วลม (กิโลเมตร/ชั่วโมง) | ระดับความรุนแรง |
F0 | 64-118 | กิ่งก้านต้นไม้หัก ต้นข้าวโพดเสียหาย ปล่องไฟพัง |
F1 | 119-181 | ต้นไม้เล็กๆ ถูกถอนรากถอนโคน รถไถลลงถนน บ้านเคลื่อนที่ไม่มีเสาเข็มอาจพลิก |
F2 | 182-253 | ต้นไม้ใหญ่ ถูกถอนรากถอนโคน บ้านเคลื่อนที่พัง รถรางหรือรถไฟหล่นจากราง |
F3 | 254-332 | ต้นไม้ในป่าโดยส่วนใหญ่ ถูกถอนรากถอนโคน กำแพงบ้านและบ้านอย่างดีพัง รถไฟพลิกคว่ำ |
F4 | 333-419 | ต้นไม้เริ่มฉีกขาด บ้านและรถอาจถูกถึงและลอยออกจากที่ตั้งเล็กน้อย |
F5 | 420-513 | ต้นไม้ฉีกขาดอย่างรุนแรง บ้านดีๆพังและหลุดลอยไปไกล รถลอยไปไกลกว่า 100 เมตร |
ความถี่ของการเกิดทอร์นาโด
ทอร์นาโดโดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน เนื่องจากมวลอากาศขั้วโลกภาคพื้นสมุทรเคลื่อนตัวมาพบกับมวลอากาศเขตร้อนภาคพื้นสมุทร และโดยส่วนใหญ่เกิดในบริเวณที่เป็นที่ราบที่กว้างใหญ่ เช่น ตอนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศออสเตรเลีย หรือในมหาสมุทร ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาพบว่า 70% ของทอร์นาโดที่เกิดในโลก เกิดบริเวณที่ราบกว้างใหญ่ ตอนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเกิดจากลม 3 กลุ่ม คือ 1) ลมอุ่นที่มีความชื้นสูงจากอ่าวเม็กซิโก 2) ลมหนาวและแห้งจากประเทศแคนาดา และ 3) และลมกรดที่เคลื่อนที่เร็วจากเทือกเขาร็อคกี้ ซึ่งลมทั้ง 3 มาปะทะกันที่ราบกลางทวีปอเมริกาเหนือทำให้เกิดทอร์นาโด
ทอร์นาโดหากเกิดเหนือน้ำ เรียกว่านาคเล่นน้ำ (Waterspout) คนไทยเรียกว่า พายุงวงช้าง
โดยในช่วงปี พ.ศ. 2462-2546 เกิดทอร์นาโด 11,560 ลูก และมีผู้เสียชีวิตในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยเฉลี่ยปีละ136 คน ตลอดระยะเวลา 40 ปี ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังพบว่า การเกิดทอร์นาโด 1,000 ครั้ง จะเป็นระดับ F0 จำนวนประมาณ 389 ครั้ง ระดับ F1 จำนวนประมาณ 356 ครั้ง ระดับ F2 จำนวนประมาณ 194 ครั้ง ระดับ F3 จำนวนประมาณ 49 ครั้ง ระดับ F4 จำนวนประมาณ 11 ครั้ง และระดับ F5 จำนวนประมาณ 1 ครั้ง
การบรรเทาภัยพิบัติทอร์นาโด
การบรรเทาภัยพิบัติทอร์นาโด (Tornado Mitigation) ปัจจุบันมีเทคโนโยลีในการตรวจวัดทอร์นาโด ซึ่งประกอบด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Hook Echo Radar ทำหน้าที่ตรวจวัดปริมาณหยาดน้ำฟ้าจากการสะท้อนกลับของเรดาร์ และเครื่องมือ Couplet ซึ่งใช้ตรวจวัดความเร็วของการเคลื่อนที่ของหยาดน้ำฟ้าเหล่านั้น ซึ่งหากเครื่องมือทั้งสองพบสภาวะที่เสี่ยงต่อการเกิดทอร์นาโด ก็สามารถแจ้งเตือนได้ ทางการจะเตือนทุกพื้นที่ซึ่งมีโอกาสเป็นเส้นทางการเดินทางของทอร์นาโด ซึ่งประชาชนควรปฏิบัติตาม ดังนี้
ในกรณีอยู่ในอาคาร ควรหลบลงชั้นใต้ดินของอาคาร ซึ่งพื้นที่เสี่ยงทอร์นาโดโดยส่วนใหญ่ ทางรัฐจะตั้งกฏบังคับให้มีการสร้างห้องใต้ดินด้วย หรือหากไม่มีห้องใต้ดินให้ไปหลบอยู่ที่ห้องขนาดเล็กๆ ที่ไม่มีหน้าต่าง เช่นห้องสุขา ไม่ควรอยู่ในห้องโถงใหญ่ๆ ของอาคาร แต่หากต้องอยู่ในห้องใหญ่ก็ควรอยู่ตรงกลางของห้อง เนื่องจากทอร์นาโดโดยส่วนใหญ่กระชากเศษจากมุมห้อง พร้อมทั้งหาอุปกรณ์ป้องกันศีรษะและลำคอในเบื้องต้น แต่หากเป็นบ้านพักเคลื่อนที่ให้รีบออกไปพักที่อื่น
ในกรณีที่อยู่ที่อยู่นอกอาคาร ควรรีบกลับเข้าอาคาร แต่หากไม่มีอาคารป้องกันให้หมอบคลานอยู่ในคลองหรือที่ลุ่มต่ำ แต่ควรระวังน้ำท่วมฉับพลันเนื่องจากการปั่นป่วนน้ำของทอร์นาโด และให้ใช้อุปกรณ์ที่มีหรือแข็นป้องกันศีรษะและลำคอ
ในกรณีที่อยู่ในรถ ให้ออกจากรถทันทีและปฏิบัติตามกรณีที่อยู่ในบ้านหรือนอกบ้าน และอย่างพยายามขับรถฝ่าทอร์นาโด เนื่องจากมันสามารถเปลี่ยนทิศรถทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ หรือหากเป็นทอร์นาโดขนาดใหญ่อาจยกรถขึ้นไปกลางอากาศได้