เรียนรู้

ธารน้ำแข็งพาตะกอนเอาไปกองไว้ตรงไหนบ้าง

โดยธรรมชาติ ธารน้ำแข็งสามารถกัดกร่อนและพัดพาตะกอนไปได้ในปริมาณมหาศาล ซึ่งตะกอนเหล่านี้จะเริ่มตกสะสมตัวเมื่อธารน้ำแข็งละลาย ทำให้บริเวณที่ตะกอนธารน้ำแข็งสะสมตัวเกิดเป็นภูมิลักษณ์เฉพาะตัว แปลกตา โดยตะกอนที่ได้จากการสะสมตัวจากธารน้ำแข็ง เรียกว่า ตะกอนธารน้ำแข็ง (glacial drift) แบ่งย่อยเป็น 2 ชนิด คือ 1) ตะกอนธารน้ำแข็งไม่แยกชั้น (unstratified drift) และ 2) ตะกอนธารน้ำแข็งแยกชั้น (stratified drift)

ก้อนหินขนาดใหญ่ที่ถูกพัดมากับธารน้ำแข็ง เรียกว่า หินธารน้ำแข็งพา (glacial erratic)

ตะกอนธารน้ำแข็งไม่แยกชั้น

ตะกอนธารน้ำแข็งไม่แยกชั้น (unstratified drift) เรียกอีกอย่างว่า ทิลล์ (till) เป็นตะกอนที่ถูกอมมากับธารน้ำแข็งและตกสะสมตัวเมื่อน้ำแข็งหลอมละลาย เป็นตะกอนที่มีขนาดหลากหลาย อยู่รวมกันโดยไม่มีการคัดขนาดและการลำดับชั้น ซึ่งการสะสมตัวของตะกอนธารน้ำแข็งแบบนี้แบ่งย่อยเป็น 2 ลักษณะ

1) แพเศษหินธารน้ำแข็ง (moraine) คือ ภูมิประเทศที่ปกคลุมด้วยตะกอนธารน้ำแข็งไม่แยกชั้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะสะสมตัวอยู่ตามขอบของธารน้ำแข็ง (รูป 6 และค-ง) ประกอบด้วย 3 รูปแบบย่อย คือ

แพเศษหินธารน้ำแข็ง (1) แพเศษหินธารน้ำแข็งด้านข้าง (2) แพเศษหินธารน้ำแข็งส่วนกลาง

ลักษณะการสะสมตัวของตะกอนธารน้ำแข็งไม่แยกชั้น

  • แพเศษหินธารน้ำแข็งด้านข้าง (lateral moraine) สะสมตัวอยู่ด้านข้างของลำธารน้ำแข็ง
  • แพเศษหินธารน้ำแข็งส่วนกลาง (medial moraine) สะสมตัวอยู่ภายในตรงกลางหุบเขา เกิดเมื่อธารน้ำแข็งภูเขา 2 ธารไหลมารวมกันเกิดเป็นธารขนาดใหญ่ขึ้น
  • เศษหินธารน้ำแข็งส่วนหน้า (end moraine หรือ terminal moraine) เป็นส่วนปลายที่ธารน้ำแข็งเคลื่อนที่ไปถึง ขนาดของสันอาจเป็นเพียงเนินเตี้ยๆ หรืออาจสูงถึง 100 เมตร
เศษหินธารน้ำแข็งส่วนหน้า ตะกอนเป็นแบบ ตะกอนธารน้ำแข็งไม่แยกชั้น (unstratified drift) หรือ ทิลล์ (till)

2) เนินดรัมริน (drumlin) หรือเนินตะกอนรูปไข่ เป็นเนินเรียบ ยาวรี ประกอบด้วยตะกอนธารน้ำแข็งไม่แยกชั้น สูงประมาณ 8-50 เมตร และยาวประมาณ 0.4-1 กิโลเมตร โดยมากโดยส่วนใหญ่อยู่เป็นกลุ่ม

แบบจำลองการเกิดและลักษณะเฉพาะของเนินดรัมริน

รูปร่างของเนินดรัมรินจะไม่สมมาตร มีลักษณะคล้ายกับหยดน้ำตา ด้านที่มีความชันสูงชี้ไปในทิศทางที่ธารน้ำแข็งเคลื่อนที่ไป ส่วนด้านที่มีความชันน้อยชี้ไปในทิศทางที่ธารน้ำแข็งเคลื่อนที่มา บางครั้งพบเนินดรัมรินอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหลายๆ เนิน กลายเป็นภูมิประเทศที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งนักธรณีวิทยาเรียกภูมิประเทศแบบนี้ว่า ภูมิประเทศแบบตะกร้าไข่ (basket eggs topography)

กลไกการเกิดเนินดรัมรินยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจจะเกิดบริเวณเศษหินธารน้ำแข็งส่วนหน้า โดยเมื่อธารน้ำแข็งถดถอย ทำให้เกิดดินธารน้ำแข็งปลาย และเมื่อธารน้ำแข็งพัฒนาอีกครั้ง น้ำแข็งจะจัดรูปหรือปั้นดินธารน้ำแข็งเหล่านั้นให้เป็นเนินดรัมรินดังกล่าว

ตะกอนธารน้ำแข็งแยกชั้น

ตะกอนธารน้ำแข็งแยกชั้น (stratified drift) เป็นตะกอนที่ถูกพัดพาและสะสมตัวจากน้ำที่หลอมละลายมาจากธารน้ำแข็ง มีการคัดขนาดของตะกอนและเรียงตัวเป็นชั้น แบ่งย่อยตามกระบวนการเกิดออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

สภาพแวดล้อมการเกิดตะกอนธารน้ำแข็งแยกชั้น (Hillewaert H.)

1) ตะกอนน้ำแข็งละลาย (outwash) เป็นตะกอนที่ถูกพัดพาต่อมาจากบริเวณส่วนหน้าของธารน้ำแข็ง โดยน้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็ง ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นธารน้ำประสานสาย ตะกอนมีการคัดขนาดดีในช่วงขนาดดินเหนียว ทรายแป้ง ทรายและกรวด

2) แอ่งหรือหลุมน้ำแข็ง (kettle) เชื่อว่าอาจจะเกิดจากก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ฝังตัวอยู่ในตะกอน ซึ่งต่อมาเมื่อน้ำแข็งละลายไป จึงเหลือให้เห็นเป็นแอ่งหรือหลุม ซึ่งโดยปกติจะมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ≥ 2 เมตร

(ซ้าย) ตะกอนน้ำแข็งละลาย (ขวา) หลุมน้ำแข็ง

3) เนินรูปงู (esker) คือลักษณะสันเขาที่คดโค้งไป-มาประกอบด้วยกรวดและทรายเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าอาจจะเกิดจากจากการสะสมตัวของตะกอนธารน้ำแข็งจากน้ำไหลในอุโมงค์ใต้ธารน้ำแข็ง ทำให้ได้เนินสูงประมาณ 3-30 เมตร กว้างเพียง 2-3 แต่อาจจะยาวได้ถึง 160 กิโลเมตร (ค-ง)

แบบจำลองการเกิดและลักษณะเฉพาะของเนินรูปงู

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: