เรียนรู้

ชั้นน้ำและการเคลื่อนที่ของมวลน้ำในมหาสมุทร

เนื่องจากน้ำใน มหาสมุทร นั้นสามารถดูดกลืนรังสีจากดวงอาทิตย์ที่แผ่มายังโลกได้ มหาสมุทรจึงมีอิทธิพลต่อลมฟ้าอากาศและอุณหภูมิของโลก ซึ่งกระแสน้ำในมหาสมุทรเป็นตัวกลางการกระจายความร้อนจากบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงแถบศูนย์สูตรไปสู่พื้นที่เย็นแถบขั้วโลก ดังนั้นในการศึกษาด้าน สมุทรศาสตร์ (Oceanography) จึงจำเป็นต้องศึกษาคุณสมบัติของน้ำในมหาสมุทร ในแง่มุมต่างๆ ดังนี้

1) องค์ประกอบ (composition) น้ำทะเลประกอบด้วยแร่ซึ่งอยู่ในรูปของสารละลายประมาณ 3.5% โดยน้ำหนัก โดยในจำนวนนี้มีแร่จำนวนมาก เช่น โซเดียม (Na) ครอไรด์ (Cl) ซัลเฟต (SO4) แมกนีเซียม (Mg) แคลเซียม (Ca) และโปแตสเซียม (K) เป็นต้น (รูป ก)

(ก) อัตราส่วนองค์ประกอบของสารละลายที่มีอยู่ในน้ำทะเล (ข) ทะเลสาบเดดซี

2) ความเค็ม (salinity) ความเค็มของน้ำทะเลมาจาก โซเดียมครอไรด์ (NaCl) หรือเกลือแกงเป็นหลัก ซึ่งเกลือแกงโดยส่วนใหญ่เกิดจากกระบวนการผุพังทางเคมีของหินและก๊าซที่ออกมาจากการปะทุของภูเขาไฟ ถึงแม้ว่าที่ศูนย์สูตรซึ่งมีอุณหภูมิสูง ควรจะมีอัตราการระเหยสูงสุดและเค็มสูงสุด แต่เนื่องจากบริเวณศูนย์สูตรก็มีฝนตกมากกว่าบริเวณอื่น ทำให้ความเค็มสูงสุดไม่ได้อยู่ที่ศูนย์สูตร โดยเฉลี่ยมหาสมุทรมีความเค็มประมาณ 35% (1:1,000) แต่จะมีความหลากหลายในบริเวณชายฝั่ง เนื่องจากบางพื้นที่มีน้ำจากแม่น้ำ หรือน้ำจากการละลายของธารน้ำแข็งไหลลงมาปะปนกันทำให้ความเค็มลดลง ในขณะที่บางพื้นที่เช่นทะเลปิด มีการระเหยของน้ำทำให้ความเค็มเพิ่มขึ้น เช่น ทะเลเดดซี (Dead Sea) ในเขตแดนประเทศจอร์แดนและอิสราเอล เป็นทะเลสาบน้ำเค็มที่มีความเข้มข้นของเกลือสูงมาก (รูป ข)

3) อุณหภูมิ (temperature) อุณหภูมิของน้ำทะเลจะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ดูดกลืนได้จาก การแผ่รังสีดวงอาทิตย์ (solar radiation) พื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 27 องศาเซลเซียส และลดลงที่ละติจูดห่างจากจุดศูนย์สูตร นอกจากนี้ที่ตำแหน่งใดๆ อุณหภูมิจะเปลี่ยนแปลงตามความลึก โดยพื้นที่ใกล้เส้นศูนย์สูตร อุณหภูมิจะลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อน้ำลึกขึ้น ส่วนพื้นที่ซึ่งห่างจากเส้นศูนย์สูตร อุณหภูมิที่พื้นผิวจะเย็นเป็นปกติและไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิตามความลึก

อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทร (OC)

4) ความหนาแน่น (density) ความหนาแน่นของน้ำทะเลขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ 1) อุณหภูมิ และ 2) ความเค็ม ซึ่งจากความหนาแน่นที่แตกต่างกันนี้ นักวิทยาศาสตร์สามารถจำแนกชั้นน้ำในมหาสมุทรออกเป็น 3 ชั้น คือ

น้ำเย็น-ร้อน หนาแน่นสูง-ต่ำ น้ำเค็มมาก-น้อย หนาแน่นสูง-ต่ำ

ชั้นน้ำในมหาสมุทร (Ocean Layer)

1) ชั้นน้ำพื้นผิว (surface layer) เป็นชั้นน้ำที่ระดับความลึกประมาณ 50-280 เมตร จากผิวน้ำ โดยปกติมีอุณหภูมิใกล้เคียงอุณหภูมิที่ผิวน้ำและมีความแปรปรวนของอุณหภูมิและความเค็ม มากกว่าชั้นอื่นๆ โดยเฉพาะบริเวณที่มีละติจูดต่ำ เนื่องจากมีการดูดกลืนรังสีจากดวงอาทิตย์ การระเหย และการปะปนกันของน้ำฝนหรือน้ำท่า (น้ำจากแม่น้ำ) บางครั้งเรียกว่า ชั้นผสม (mixing layer)

ชั้นน้ำในมหาสมุทรจำแนกจากความหนานแน่นของน้ำที่แตกต่างกัน

2) ชั้นเทอร์โมไคลน์ (thermocline) ถือเป็นโซนเปลี่ยนผ่านระหว่างชั้นน้ำพื้นผิวและชั้นน้ำลึก เป็นชั้นที่มีอุณหภูมิของน้ำลดลงอย่างรวดเร็วตามความลึกที่เพิ่มขึ้น (รูปบน) โดยปกติน้ำในชั้นเทอร์โมไคลน์จะมีความเสถียรสูงจึงมีความสามารถในการขวางกั้นไม่ให้ชั้นน้ำพื้นผิวที่อยู่ด้านบนไหลมาปะปนกันกับชั้นน้ำลึกที่อยู่ด้านล่างได้อย่างสะดวก ซึ่งในบริเวณละติจูดต่ำและละติจูดกลางจะมีชั้นเทอร์โมไคลน์ตลอดทั้งปีที่ระดับความลึกประมาณ 280-1000 เมตร เรียกว่า เทอร์โมไคลน์ถาวร (permanent thermocline) ส่วนบริเวณละติจูดสูง ในฤดูหนาวอุณหภูมิผิวน้ำจะต่ำ ทำให้ชั้นน้ำพื้นผิวอาจลึกลงไปถึงชั้นเทอร์โคไคลน์ แต่ในฤดูร้อนอุณหภูมิที่ผิวน้ำสูงขึ้น โดยส่วนใหญ่เกิดเป็น เทอร์โมไคลน์ประจำฤดู (seasonal thermocline) ในน้ำชั้นบน

thermocline คือ ระดับความลึกของมหาสมุทรที่อุณหภูมิของน้ำทะเลลดลงอย่างรวดเร็วที่สุด

halocline คือ ระดับความลึกที่มีการเปลี่ยนแปลงความเค็มอย่างทันทีทันใด

pycnocline คือ ระดับความลึกของมหาสมุทรที่มีการเพิ่มความหนาแน่นของน้ำขึ้นอย่างทันทีทันใด โดยเฉลี่ยความหนาแน่นของน้ำทะเลที่ตำแหน่งใดๆ จะจำแนกเป็น 3 ส่วนชั้นที่แตกต่างกัน คือ พื้นผิว (2%) ตอนกลาง (18%) และ bottom (80%)

3) ชั้นน้ำลึก (deep layer) เป็นบริเวณที่อยู่ใต้ชันเทอร์โมไคลน์ ลงไปถึงพื้นมหาสมุทร ซึ่งรังสีจากดวงอาทิตย์ไม่สามารถส่องลงไปถึง มีอุณหภูมิประมาณ 1-3 องศาเซลเซียส จึงมีความหนาแน่นสูงและคงที่ อุณหภูมิของน้ำจะลดลงอย่างช้าๆ หรือเกือบคงที่ในบริเวณใกล้พื้นมหาสมุทร ยกเว้นบางบริเวณที่มี ร่องลึกก้นสมุทร (trench) ซึ่งความร้อนจากภายในโลกสามารถแพร่กระจายออกมาได้ทำให้อุณหภูมิของน้ำอาจสูงกว่าพื้นมหาสมุทรปกติ

ร่องลึกก้นสมุทรญี่ปุ่น (Japan Trench)

กระแสน้ำในมหาสมุทร (Ocean Current)

สืบเนื่องจากชั้นน้ำในมหาสมุทรที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันดังที่อธิบายในข้างต้น ประกอบกับผลจากการศึกษาวิจัยในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์จำแนกการเคลื่อนที่ของกระแสน้ำในมหาสมุทรออกเป็น 2 รูปแบบ คือ

การหมุนเวียนของกระแสน้ำพื้นผิว

การหมุนเวียนของกระแสน้ำพื้นผิว (surface circulation) เป็นการย้ายมวลน้ำที่ลึก 400 เมตร ขึ้นไป (10% ของมวลน้ำทั้งหมดในมหาสมุทร) โดยสาเหตุสำคัญของการเคลื่อนที่ เกิดจากความร้อนที่ได้รับมาจากการแผ่รังสีดวงอาทิตย์ ทำให้บริเวณศูนย์สูตรน้ำมีอุณหภูมิสูง น้ำขยายตัวและมีน้ำหนักเบา ทำให้ระดับน้ำสูงกว่าแถบละติจูดสูง น้ำจึงไหลจากบริเวณละติจูดต่ำไปละติจูดสูง (เส้นสีแดงในรูปด้านล่าง)

นอกจากนี้ลมประจำถิ่นที่พัดอยู่เหนือผิวน้ำ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดกระแสน้ำพื้นผิว โดยเมื่อลมพัดผิวหน้าของน้ำจะเกิดคลื่นและการเคลื่อนที่ หากไม่มีสิ่งกีดขวางกระแสน้ำ น้ำจะไหลตามทิศทางลมเป็นหลัก เช่น ในบริเวณที่อยู่ใกล้ขั้วโลก กระแสน้ำจะไหลรอบโลกจากตะวันออกไปตะวันตกเนื่องจากอิทธิพลของ ลมค้า (trade wind) แต่หากมีทวีปมาขวางกั้น กระแสน้ำจะไหลสอดคล้องไปกับ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน

แบบจำลองแสดงการเคลื่อนที่ของลมโดยภาพรวมของโลก แนวลูกศรที่อยู่ระหว่างละติจูด 30 องศาเหนือและใต้ (แถบสีส้ม) คือ ทิศทางการหมุนเวียนของลมค้า (trade wind) ซึ่งสัมพันธ์และสอดคล้องกับทิศทางการหมุนเวียนของกระแสน้ำพื้นผิว

ซึ่งทั้งปัจจัยด้านอุณหภูมิและลมประจำถิ่น เมื่อพิจารณาร่วมกับการหมุนของโลกและ แรงโคลิโอลิส (coriolis force) ทำให้เกิดการไหลเวียนของ กระแสน้ำขนาดใหญ่ที่พื้นผิวมหาสมุทร (conveyor belt) ช่วยให้มีการส่งผ่านความร้อนจากพื้นที่อุ่น (ศูนย์สูตร) ไปสู่พื้นที่ซึ่งเย็นกว่า (ละติจูดสูง) และสัมพันธ์กับการหมุนเวียนของบรรยากาศโดยรวมของโลก โดยนักวิทยาศาสตร์ได้จำแนกกระแสน้ำขนาดใหญ่ที่พื้นผิวมหาสมุทร ตามแหล่งกำเนิดและความแตกต่างของอุณหภูมิได้ 5 วง (gyre) ได้แก่ 1) วงแปซิฟิกเหนือ (North Pacific Gyre) 2) วงแปซิฟิกใต้ (South Pacific Gyre) 3) วงแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Gyre) 4) วงแอตแลนติกใต้ (South Atlantic Gyre) และ 5) วงมหาสมุทรอินเดีย (Indian Gyre)

แบบจำลองการหมุนเวียนของกระแสน้ำพื้นผิวในมหาสมุทร

การหมุนเวียนของกระแสน้ำลึกใน มหาสมุทร

การหมุนเวียนของกระแสน้ำในระดับลึก (deep-ocean circulation) เป็นการเคลื่อนที่ของมวลน้ำโดยส่วนใหญ่ (90%) ของมหาสมุทร ซึ่งเป็นผลมาจากความแตกต่างของความหนาแน่นของมวลน้ำ หรือเรียกอีกอย่างว่า การหมุนเวียนเทอร์โมฮาลีน (thermohaline circulation) โดยในช่วงแรกเป็นการไหลเวียนของมวลน้ำในแนวดิ่งที่พื้นผิวน้ำ ของน้ำในบริเวณละติจูดสูงเนื่องจากการเย็นตัวของน้ำในบริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาว โดยเมื่อน้ำเย็นตัวมวลน้ำจะมีความหนาแน่นสูงและหนักขึ้น จึงจมตัวลงสู่ด้านล่างและแผ่ออกไปในแนวระนาบใต้ผิวน้ำ เกิดเป็นการหมุนเวียนของกระแสน้ำในที่ลึก ในขณะเดียวกันมวลน้ำบริเวณเส้นศูนย์สูตรและพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์อย่างมาก จะมีความหนาแน่นน้อยกว่าและเบากว่า จึงไหลไปแทนที่มวลน้ำที่จมในบริเวณขั้วโลกทั้งสองหมุนเวียนกันอยู่ตลอดเวลา

จากหลักการดังกล่าวทำให้เกิดวงจรการไหลเวียนของกระแสน้ำลึกในมหาสมุทรขนาดใหญ่ ที่มีชื่อเรียกกว่า แถบสายพานยักษ์ (Great Conveyor Belt) โดยน้ำทะเลความหนาแน่นสูงอุณหภูมิต่ำจะจมตัวลงสู่ท้องมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือไหลลึกลงไปทางใต้ และเปลี่ยนทิศทางไปทางตะวันออก ซึ่งในขณะที่ไหลผ่านมหาสมุทรอินเดียน้ำจะมีอุณหภูมิจะสูงขึนและลอยตัวขึ้นใกล้กับประเทศอินเดียและทางตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก น้ำอุณหภูมิสูงจากมหาสมุทรแปซิฟิก ไหลวกกลับผ่านมหาสมุทรอินเดียลงมาทางมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ และไหลย้อนกับไปทางมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ เป็นการครบรอบแถบสายพานยักษ์ ซึ่งการหมุนวนของกระแสน้ำในระดับลึกใช้เวลาประมาณ 1,000 ปี

การหมุนเวียนของกระแสน้ำในระดับลึก เรียกกว่า แถบสายพานยักษ์ (Great Conveyor Belt) (ที่มา : www.nasa.gov)

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: