เรียนรู้

ภูมิลักษณ์จากการกัดกร่อนโดยธารน้ำแข็ง

ในธรรมชาติ พื้นที่ที่จะเกิดธารน้ำแข็งได้มีอยู่ 2 พื้นที่ใหญ่ๆ คือ 1) ธารน้ำแข็งพื้นทวีป (continental glacier) ซึ่งอยู่ที่ขั้วโลกทั้ง 2 ขั้ว และ 2) ธารน้ำแข็งภูเขา (mountain glacier) ซึ่งอยู่ตามบริเวณเทือกเขาที่มีระดับความสูงพอที่จะทำให้อากาศเย็นและเกิดการสะสมตัวของธารน้ำแข็งได้ ซึ่งในกรณีของธารน้ำแข็งพื้นทวีป น้ำแข็งส่วนใหญ่จะมีความชันต่ำ ทำให้การเคลื่อนที่เป็นไปได้ช้า ในขณะที่ธารน้ำแข็งภูเขาซึ่งมีความชันที่สูงกว่า ทำให้ธารน้ำแข็งมีการเคลื่อนที่จากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ซึ่งการเคลื่อนที่จะเกิดการกัดกร่อนและนำตะกอนจากพื้นและผนังของหุบเขาเคลื่อนที่ตามไปด้วย โดยการกัดกร่อนโดยธารน้ำแข็งสามารถจำแนกได้ 2 รูปแบบ คือ

1) การถอดถอน (plucking) เกิดจากกระบวนการคล้ายกับการเกิดลิ่มน้ำแข็งในหิน โดยธารน้ำแข็งไหลผ่านหินที่มีรอยแตก น้ำที่ได้จากการละลายจะแทรกลงไปตามรอยแตก ซึ่งเมื่อน้ำแข็งตัวเป็นน้ำแข็งอีกครั้ง หินจะปริแตกและธารน้ำแข็งจะดึงเอาเศษหินเหล่านี้ติดไป

หลักการเกิดลิ่มน้ำแข็ง

2) การขัดสี (abrasion) เมื่อธารน้ำแข็งเคลื่อนที่เศษหินจะถูกบดเป็นตะกอนขนาดละเอียดหรือเป็นผง เรียกว่า แป้งหิน (rock flour) ปนอยู่กับน้ำที่ฐานของธารน้ำแข็ง ตะกอนขนาดเล็กจะเป็นเหมือนกับกระดาษทรายขัดหินฐานด้านล่างจนผิวหน้ามันวาว ส่วนตะกอนขนาดใหญ่จะครูดถูหินฐานจนทำให้เกิด รอยครูดธารน้ำแข็ง (glacial striation) ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงทิศทางการเคลื่อนที่ของธารน้ำแข็ง

ร่องรอยขัดสีบนหิน (glacial striation) ที่ถูกขัดสีจากเม็ดตะกอนเล็กๆ ที่อยู่ใต้ชั้นธารน้ำแข็ง พบในอุทยานแห่งชาติเมาท์เรนเนียร์ รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ดูเหมือนกับว่าหินถูกขัดด้วยกระดาษทราย (ที่มา : www.wikipedia.org)

อย่างที่กล่าวไปในตอนต้น เนื่องจากเป็นการสะสมตัวในพื้นที่กว้าง ธารน้ำแข็งพื้นทวีปจึงไม่แสดงภูมิลักษณ์ที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามในส่วนของธารน้ำแข็งภูเขา กระบวนการธารน้ำแข็ง (glaciation) ก่อให้เกิดภูมิลักษณ์เฉพาะตัวหลากหลายรูปแบบ โดยแต่ละแบบก็จะเป็นภูมิประเทศที่แปลก ไม่คุ้นตา โดยเฉพาะกับคนไทย ที่ไม่เคยมีธารน้ำแข็งปกคลุมอย่างเป็นล่ำเป็นสันมาก่อน ลองไปดูกันว่ามีภูมิลักษณ์หรือภูมิประเทศแบบไหนกันบ้าง

แบบจำลองภูมิลักษณ์รูปแบบต่างๆ ที่เกิดจากกระบวนการธารน้ำแข็ง

1) จมูกเขาปลายตัด (truncated spur) แผ่นดินที่อยู่สองข้างของหุบเขาจะถูกตัดออก กลายเป็นหนาผาชันคล้ายกับสามเหลี่ยมขนาดใหญ่

2) สันเขาฟันเลื่อย (arete) คือ สันกลางที่เป็นตัวแยกหุบเขาธารน้ำแข็งเกิดจากการมีแอ่งพระจันทร์เสี้ยวเกิดขึ้น 2 ฝั่งของหุบเขา

3) ยอดเขาเขี้ยว (horn) จุดสูงที่สุดที่แหลมคมของหุบเขา เกิดจากการมีแอ่งพระจันทร์เสี้ยวอยู่ติดกัน 3 ฝั่งของหุบเขา

(บนซ้าย) จมูกเขาปลายตัด (บนขวา) สันเขาฟันเลื่อย (ล่าง) ยอดเขาเขี้ยว

4) แอ่งพระจันทร์เสี้ยว (cirque) คือ แอ่งลักษณะคล้ายกับชามที่สูงชันบริเวณยอดเขา เกิดจากการกัดกร่อนของธารน้ำแข็งด้วยกระบวนการลิ่มน้ำแข็ง ซึ่งเมื่อธารน้ำแข็งละลายไปจะมีลักษณะเหมือนกับชาม และบางครั้งอาจมีน้ำขังอยู่กลายเป็นทะเลสาบขนาดเล็กอยู่บนยอดเขาน้ำแข็ง เรียกว่า ทะเลสาบธารน้ำแข็ง (tarn)

(ซ้าย) แอ่งพระจันทร์เสี้ยว (ขวา) ทะเลสาบธารน้ำแข็ง

5) ร่องเขาตัว U (U-shape valley หรือ glacial trough) เกิดจากการเคลื่อนที่และกัดกร่อนร่องเขาของมวลธารน้ำแข็ง ทำให้หุบเขาซึ่งปกติเคยมีลักษะหน้าตัดคล้ายกับรูปตัว V ในภาษาอังกฤษ เนื่องจากกระบวนการัดกร่อนจากธารน้ำ มีความกว้างและลึกมากขึ้น จนมีหน้าตัดเหมือนกับตัว U

ร่องเขาตัว U

6) หุบเขาแขวน (hanging valley) เป็นลักษณะของเทือกเขา ที่เกิดหลังจากเกิดธารน้ำแข็ง ส่วนปลายของหุบเขาแขวน จะอยู่สูงกว่าหุบเขาหลัก ซึ่งเคยมีธารแข็งไหลผ่าน ทำให้ธารน้ำที่ไหลอยู่หุบเขาแขวน ไหลลงสู่หุบเขาหลักในลักษณะที่เป็นน้ำตก

7) โตรกเขาติดทะเล (fjord) คือ ร่องน้ำที่ประกอบด้วยหน้าผาสูงชัน เกิดจากการกัดร่องเขาเป็นรูปตัว U ด้วยธารน้ำแข็ง ซึ่งกัดได้ลึกกว่าระดับน้ำทะเลเนื่องจากน้ำหนักกดทับของมวลน้ำแข็ง ซึ่งหลังจากผ่าน ยุคน้ำแข็ง (ice age) ธารน้ำแข็งโดยส่วนใหญ่ละลายเป็นน้ำ ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น เกิดเป็นแม่น้ำที่ลึกมาก บางพื้นที่ลึกถึง 1,500 เมตร

(ซ้าย) หุบเขาแขวน (ขวา) โตรกเขาติดทะเล

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: