สำรวจ

ไข่น้ำแข็ง x ธรณีวิทยา

ฟินแลนด์ (Finland) เป็นประเทศหนึ่งในทวีปยุโรป ที่อยู่ค่อนไปทางเหนือของทวีป แถบสแกนดิเนเวีย ภูมิอากาศของฟินแลนด์ส่วนใหญ่จึงเป็นแบบหนาวเจี๊ยกเกือบตลอดทั้งปี ซึ่งด้วยความหนาวบวกกับอัตลักษณ์เฉพาะตัวของประเทศ ทำให้ฟินแลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่น่าเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเที่ยวแบบชมบ้านชมเมือง หรือว่าชมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เรียกว่า แสงเหนือ (aurora)

(ซ้าย) แสงเหนือ (ขวา) บรรยากาศอันหนาวเหน็บของประเทศฟินแลนด์

1) ปรากฏการณ์ไข่น้ำแข็ง

นอกจากนี้ ในบางปีช่วงหน้าหนาวของฟินแลนด์ ยังสามารถพบอีกปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่าสนใจ คือ การเกิด ไข่น้ำแข็ง (ice eggs) กระจายไปทั่วหาดของ เกาะไฮลัวโต (Hailuoto Island) รวมทั้งหาดอื่นๆ ข้างเคียงในละแวก อ่าวบอทเนีย (Gulf of Bothnia)

ปรากฏการณ์ไข่แข็งริมชายหาด เกาะไฮลัวโต (Hailuoto Island) อ่าวบอทเนีย (ภาพ : www.thesun.co.uk)

ถึงแม้ว่าสิ่งที่เห็นอาจจะดูแปลกตา หรือบางคนก็ลงความเห็นว่า เข้าขั้นเป็นปรากฏการณ์ประหลาด แต่ในทางวิทยาศาสตร์ การเกิดไข่แข็งหรือไข่น้ำแข็งสามารถอธิบายได้ไม่ยาก เพราะก็เป็น กระบวนการกัดกร่อน (erosion) ทั่วๆ ไป ที่พบได้ในหลายๆ พื้นที่ริมชายทะเล เพียงแต่ว่าวัสดุที่ถูกกัดกร่อนอาจจะเปลี่ยนไป เป็นน้ำแข็ง แทนที่จะเป็นหิน ก็เท่านั้น

2) หาดกรวดมน

แน่นอนว่าชายหาดทั่วโลก โดยส่วนใหญ่จะเป็นตะกอนขนาดทราย ทั้งนี้ก็เพราะเศษหินก้อนใหญ่ๆ ที่เดินทางมาจากบนบกหรือภูเขาทางต้นน้ำ ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวระหว่างการเดินทาง จนกระทั่งมาลงเอยที่วางตะกอนขนาดทรายสะสมไว้ริมทะเล ส่วนตะกอนขนาดใหญ่ก็ยังอยู่บนบก ในขณะที่ตะกอนขนาดเล็กกว่าทราย ก็ไหลลงไปในทะเลลึก ตามหลักของตะกอนวิทยา (sedimentology)

อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่ที่มี ภูเขาสูงหรือหินแข็งอยู่ติดกับริมทะเล หินที่ผุพังลงมาจากหน้าผาหรือบนภูเขา จะร่วงลงมาก้อนใหญ่ๆ แล้วกองอยู่ที่ริมทะเล โดยไม่ต้องผ่านแม่น้ำผ่านกระบวนการต่างๆ ให้เล็กลง ดังนั้นคลื่นทะเลจึงทำหน้าที่ต่อโดยการขัดสี หินก้อนขนาดพอมือ ให้มีความกลมมนมากยิ่งขึ้น ทำให้ริมทะเลที่เป็นเขาสูงหรือใกล้กับภูเขา มีโอกาสได้ชายหาดที่เป็นกรวดก้อนกลมมนอย่างที่เห็น ตัวอย่างหาดกรวดสวยงามในบ้านเรา ได้แก่ หาดกรวดที่ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล

(ซ้าย) หาดทราย (ขวา) หาดกรวด (ล่าง) หาดกรวด อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล (ภาพ : www.takemetour.com)

3) หาดน้ำแข็งมน

ซึ่งหากดูภาพหลายๆ มุมของพื้นที่เกิดไข่แข็ง ที่ฟินแลนด์ ก็พบว่าบริเวณริมชายฝั่งนั้นเต็มไปด้วยก้อนน้ำแข็งหรือแผ่นน้ำแข็ง ซึ่งเมื่อแผ่นน้ำแข็งแตกเป็นก้อน และร่วงลงไปริมหาด ก้อนน้ำแข็งเหลี่ยมๆ จึงถูกขัดสีจากคลื่นน้ำริมทะเล กลิ้งขึ้นกลิ้งลงตลอดเวลา ก้อนน้ำแข็งขัดสีกันเองบ้าง ขัดสีกับทรายเจ้าถิ่น (เจ้าของหาดเดิม) บ้าง สุดท้ายก็กลายเป็น ไข่แข็ง หรือ ไข่น้ำแข็ง (ice eggs) ที่มีความกลมมน สวยงาม อย่างที่เห็น

ดังนั้น การเกิดปรากฏการณ์ ไข่น้ำแข็ง จึงไม่ได้เกิดยากหรือแปลกประหลาดอะไรในทางธรณีวิทยา แต่ก็ต้องยอมรับว่าธรรมชาติช่างรังสรรค์ได้สวยงามเสียจริง ไข่แข็ง ณ ฟินแลนด์

หาด . กรวด . น้ำแข็ง ณ ฟินแลนด์

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: