วิจัย

EP. 5 : การเผยแพร่ ผลงานวิจัย V.1

นอกจากการทำวิจัยให้ได้องค์ความรู้ใหม่ๆ ตรงตามวัตถุประสงค์ตั้งต้นของการวิจัย อีกบทบาทสำคัญที่นักวิจัยจะต้องทำ เพื่อปิดจ๊อบงานวิจัยแต่ละชิ้นคือ การเผยแพร่ผลงานที่ได้ออกสู่สาธารณะ ซึ่งรูปแบบของการเผยแพร่ก็มีหลากหลายช่องทางในปัจจุบัน และมีเกรดความน่าเชื่อถือของการเผยแพร่แตกต่างกัน ตามที่คนวงวิชาการ ร่วมกันกำหนดกฏเกณฑ์ขึ้น ซึ่งโดยภาพรวม รูปแบบการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่ทำๆ กันในปัจจุบัน ขมวดได้ประมาณนี้

1) รายงานวิจัย (Research Report)

รายงานวิจัย (research report) คือ เบสิกตั้งต้นของการเผยแพร่ผลงานวิจัย โดยหากเป็นนักวิจัยตามสถาบันวิจัย หรือคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย เราจะเรียกว่า รายงานวิจัย (research report) และเทียบเท่าได้กับ วิทยานิพนธ์ (Thesis) ที่นิสิตนักศึกษาจัดทำขึ้นเพื่อจบการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท-เอก) ซึ่งทั้งรายงานวิจัยและวิทยานิพนธ์จะมีศักดิ์ศรีในทางวิชาการเท่าเทียมกัน แต่จะมีคุณค่าทางวิชาการสูงกว่ารายงานทั่วไป เช่น รายงานผลการสำรวจ (exploration report) หรือ รายงานผลการทดลอง (experiment report) ฯลฯ ตรงที่ รายงานผลการสำรวจ-ทดลอง จะเน้นไปที่ผลที่ได้จาการสำรวจ ตรวจวัด หรือทดลองออกมา เรียกได้ว่าเป็นส่วนของการได้มาซึ่ง ข้อมูล (data) หรือ ความจริง (fact) ของงานนั้นๆ

ส่วนในกรณีของ รายงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ จะเพิ่มและเน้นหนักในส่วน อภิปรายผล (discussion) และ สรุปผล (conclusion) ลงไปด้วย ซึ่งในส่วนนี้ เกิดจากการนำข้อมูลหรือความจริงที่ตรวจวัดได้ มาวิพากษ์มาอภิปราย (discuss) ในแง่มุมและมิติต่างๆ เช่น ข้อมูลแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ? เพราะเหตุใดจึงพบความจริงเช่นนี้ ? และ สัมพันธ์หรือแตกต่างจากงานวิจัยในอดีตอย่างไร ? ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ? คำถามต่างๆ เหล่านี้ คือการอภิปรายสิ่งที่เกิดขึ้น และเมื่อสามารถอธิบายและ สรุปผล (conclude) ได้ งานสำรวจหรือทดลองนั้นๆ จึงจะเรียกได้ว่า เป็นงานวิจัยอย่างสมบูรณ์แบบ และก็เพราะส่วนของ อภิปรายผล (discussion) และ สรุปผล (conclusion) นี่เอง ที่ทำให้ รายงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ แตกต่างจาก รายงานทั่วไปหรือหนังสือตำราอื่นๆ และก็เพราะ ส่วนของ อภิปรายผล (discussion) และ สรุปผล (conclusion) เช่นกัน ที่ทำให้ นักวิจัย (researcher) แตกต่างจาก นักสำรวจ นักทดลอง หรือนักใดๆ ก็ตาม ที่ใช้เครื่องมือเฉพาะทาง ได้อย่างคล่องแคล่ว

เมื่อน้องใช้เครื่องมือและตรวจวัดข้อมูลเป็น น้องคือคนที่ใช้เครื่องมือเป็น แต่หากสามารถอภิปรายและสรุปผลได้ว่าผลที่ได้นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ในประเด็นต่างๆ นั่นหมายความว่า น้องคือ นักวิจัย

ถึงแม้ว่าจะมีศักดิ์ศรีมากกว่ารายงานสำรวจหรือรายงานทดลองทั่วไป แต่รายงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ ก็ยังถือเป็น รูปแบบการเผยแพร่ผลงานในเบื้องต้น ที่นักวิชาการมองว่ามีการเผยแพร่ในวงแคบและสามารถเผยแพร่ได้ในวงกว้างมากกว่านี้ เมื่อเปรียบเทียบกับรูปแบบการนำเสนองานวิจัยอื่นๆ ที่จะเล่าต่อไป

2) งานประชุมวิชาการ (Conference)

งานประชุมวิชาการ (Conference หรือ Proceeding หรือ Workshop) ชื่อภาษาอังกฤษอาจจะแตกต่างกัน แต่พอไปที่งานก็จะคล้ายๆ กัน คือ เป็นงานรวมจอมยุทธ์ในวงการวิจัย วงเฉพาะต่างๆ ทั้งภายในประเทศหรือจากทั่วโลก เพื่อมานำเสนอความก้าวหน้าของงานวิจัยในแต่ละคน มาพบปะพูดคุย หารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมไปถึง มาจีบกัน เพื่อโอกาสในการสร้างงานวิจัยร่วมกัน ในอนาคต

บางงานประชุมวิชาการที่เปิดกว้าง นักวิจัยสามารถเสนอตัวผลงานวิจัย เข้าไปร่วมได้เลย โดยไม่มีการคัดกรองคุณภาพทางวิชาการเข้ามาขวางกั้น ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัยหน้าใหม่ เข้าไปทำความรู้จักนักวิจัยรุ่นพี่ เพื่อขอไอเดียหรือหาเส้นทางการเติบโตในการทำวิจัย

แต่งานประชุมวิชาการโดยส่วนใหญ่ เมื่อนักวิจัยส่งผลงานวิจัยเพื่อขอเข้าร่วมประชุม ผู้จัดการประชุมจะมีการเชิญ ผู้ทรงคุณวุฒิ (peer review) มาคัดกรองและประเมินในเบื้องต้น ถึงคุณภาพทางวิชาการของงานวิจัยที่ส่งมา ผลงานวิจัยบางชิ้นมีโอกาสที่จะไม่ผ่านการประเมิน และไม่ได้เข้าร่วม ซึ่งในทางอุดมคติ งานประชุมที่มีผู้ทรงคุณวุฒิคัดกรองผลงานวิจัย จะเป็นที่ยอมรับและมีเกียรติมีศักดิ์ศรี มากกว่างานประชุมที่ส่งผลงานไปแล้วรับร่วมเลย

แต่ในทางปฏิบัติถึงแม้จะมีผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมคัดกรอง แต่จะเป็นการคัดกรองเพื่อให้คำแนะนำในการปรับแก้งานวิจัยให้มีคุณภาพ ไม่ใช่คัดกรองเพื่อตัดสินถูกผิด และหลังจากการปรับแก้จากคำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ผลงานวิจัยของนักวิจัยโดยส่วนใหญ่จะได้รับการตอบรับเพื่อเข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการส่งเสริมให้วงการวิจัยเติบโตมากยิ่งขึ้น

ในบางงานประชุมวิชาการ ผู้จัดงานอาจแจ้งให้ทราบว่า จะมีการคัดเลือกบางชิ้นงานวิจัยไปลงตีพิมพ์ วารสารวิชาการ (journal) ในรูปแบบ ประเด็นหรือฉบับเเฉพาะ (special issue) ซึ่งถือเป็นแรงจูงใจ ให้นักวิจัยอยากส่งผลงานวิจัยเข้าร่วมงานประชุม เนื่องจากหากได้ลงวรสารวิชาการ ถือเป็นการช่วยลดขั้นตอน ในการที่จะได้รับการตีพิมพ์จากวารสาร บนเส้นทางการนำเสนอผลงานเพื่อตีพิมพ์แบบทั่วไป ซึ่งอาจต้องใช้เวลานาน 6-12 เดือน

2.1) รูปแบบเอกสารเผยแพร่

ก่อนถึงวันงานประชุมวิชาการ เจ้าภาพผู้จัดงานจะออก กำหนดการงานประชุม (circular) และประกาศเชิญชวน 2-3 ครั้ง ตามลำดับเวลา ความงวดเข้าใกล้วันประชุม เพื่อให้นักวิจัยที่สนใจ ส่งรายละเอียดของงานวิจัยที่จะเข้าร่วมประชุม โดยรูปแบบ เอกสารเผยแพร่งานวิจัย ที่จะต้องนำส่งทีมงานผู้จัดงาน ก่อนงานประชุมจะเริ่มขึ้น สามารถเลือกได้ 3 รูปแบบ คือ

รายละเอียด กำหนดการงานประชุม (circular) ประกอบไปด้วย 1) วัน-เวลา และสถานที่ การจัดงานประชุม 2) ทีมผู้ทรงคุณวุฒิ (peer review)ในการจัดงานและคัดกรองผลงานเข้าร่วมประชุม 3) กำหนดเส้นตาย หรือวันสุดท้ายของการส่งผลงานวิจัยเพื่อเสนอเข้าร่วม 4) รูปแบบเฉพาะ (format) ของเอกสารเผยแพร่ในงานประชุม 5) ค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมประชุม และคำแนะนำต่างๆ ในการเดินทางและพักอาศัยในระหว่างช่วงการประชุม ฯลฯ

1) บทคัดย่อ (abstract) คือ เอกสารฉบับย่อ ที่อธิบายอย่างสรุปถึง ผลงานวิจัยที่ต้องการนำเสนอ ไม่ควรเกิน 1 หน้ากระดาษ A4 ซึ่งต้องมีรายละเอียดที่ประกอบไปด้วย 1) ชื่อเรื่องงานวิจัย (research title) 2) ทีมผู้วิจัย (researcher name) 3) ชื่อองค์กร (affiliation) ที่ทีมผู้วิจัยสังกัด 4) เนื้อหาโดยสรุปของงานวิจัย (abstract) และ 5) คำสำคัญ (keyword) ซึ่งโดยปกติจะมีอยู่ 3-5 คำ

ตัวอย่างหน้าตา บทคัดย่อ (abstract) ที่จะต้องส่งก่อนไปประชุมวิชาการ

ในส่วนของ 4) เนื้อหาโดยสรุปของงานวิจัย (abstract) ต้องบรรยายอย่างกระชับถึง 1) วิธีการและพื้นที่ศึกษา 2) ผลที่ได้จากการศึกษา รวมทั้ง 3) ทิศทางทางการอภิปรายและสรุปผล โดยจะไม่มีการ อ้างอิง (reference) งานวิจัยในอดีต และไม่มีการอ้างและใช้ รูปภาพ (figure) หรือ ตาราง (table) ประกอบการบรรยาย แต่สามารถใส่ สมการ (equation) ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยได้ หากมีความจำเป็น

2) บทคัดย่อขยาย (extended abstract) เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการจัดทำและส่ง เอกสารเผยแพร่งานวิจัย ไปเข้าร่วมในงานประชุม โดยมีรายละเอียดทุกอย่างเหมือนกับ บทคัดย่อ (abstract) ที่อธิบายไปก่อนหน้านี้ เพียงแต่เพิ่มรูปหรือตารางได้บ้าง 1-2 ชิ้น หรือจัดแบ่งการเล่าเรื่องเป็นหัวข้อย่อยๆ (คล้ายกับบทความวิชาการแบบเต็มรูปแบบ) เพื่อช่วยประกอบการอธิบายงานวิจัยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งรูปแบบนี้สามารถทำได้ หากมีความจำเป็นจริงๆ แต่โดยส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมีใครทำกันมากนัก เท่าที่เคยเห็น และเมื่อเพิ่มรูปหรือตารางแล้ว โดยรวมก็ยังคงไม่ควรเกิน 1 หน้า กระดาษ A4 เช่นเดียวกับ บทคัดย่อ (abstract) ปกติ

ตัวอย่างหน้าตา บทคัดย่อขยาย (extended abstract) ที่จะต้องส่งก่อนไปประชุมวิชาการ

3) บทความวิชาการฉบับเต็ม (full paper)

บทความวิชาการฉบับเต็ม (full paper) คือ อีกหนึ่งรูปแบบของ เอกสารเผยแพร่งานวิจัย ที่สามารถส่งไปเพื่อขอเข้าร่วมงานประชุมวิชาการได้เช่นกัน ซึ่งเทคนิคการจัดทำบทความวิชาการฉบับเต็ม มีรายละเอียดค่อนข้างมาก พี่ขออนุญาตยกยอดไปเล่าในบทความถัดไป แต่ประเด็นที่อยากจะบอกน้องๆ ที่คิดจะส่งบทความวิชาการฉบับเต็ม เพื่อเข้าร่วมประชุมวิชาการ ถึงแม้ว่าจะทำได้และมีศักดิ์ศรีมากกว่าบทคัดย่อ หรือ บทคัดย่อขยาย แต่โดยส่วนใหญ่ นักวิจัยมักจะไม่ทำกัน ยกเว้นในกรณีที่ ผู้จัดงานแจ้งว่า จะมีการคัดเลือกบางชิ้นงานวิจัยไปลงตีพิมพ์ วารสารวิชาการ (journal) ในรูปแบบ ประเด็นหรือฉบับเเฉพาะ (special issue)

ต้องบอกว่าเจตนารมณ์ทางอุดมคติจริงๆ ที่นักวิจัยสนใจเข้าร่วมประชุมวิชาการ เพราะต้องการนำงานวิจัยเข้าไปให้วงประชุม ช่วยแสดงความคิดเห็น ช่วยตบประเด็น ให้งานวิจัยมีความกระชับและถูกต้องมากยิ่งขึ้น ในมิติของวิชาการ

แต่กฎเหล็กของการนำเสนอผลงานวิจัย ที่น้องควรรู้ไว้ คือ เมื่อใดก็ตามที่น้องนำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบของ บทความวิชาการฉบับเต็ม (full paper) ลุล่วงแล้ว น้องจะไม่สามารถนำงานวิจัยชิ้นนั้น ไปนำเสนอในงานประชุมอื่นๆ ได้อีกต่อไป ทั้งนี้เนื่องจากจะถือว่างานวิจัยนั้นสมบูรณ์และเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งหากน้องนำงานวิจัยไปนำเสนออีก ในทางวิชาการถือว่า เป็น การคัดลอกผลงานของตัวเอง (self plagiarism) ซึ่งเจ็บปวดและมีความมหันต์มากกว่า การคัดลอกงานวิจัย (plagiarism) ของนักวิจัยท่านอื่น (แต่จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีทั้งคู่ อย่าหาและไม่น่าทำ)

แต่หากน้องเลือกที่จะนำเสนองานวิจัยในรูปแบบ บทคัดย่อ (abstract) หรือ บทคัดย่อขยาย (extended abstract) น้องๆ ยังสามารถนำประเด็นแก่นกลางของงานวิจัยไปนำเสนอในงานประชุมอื่นได้เรื่อยๆ โดยพัฒนาและปรับปรุงรายละเอียดของงานวิจัยบ้าง ตามสมควร สาเหตุก็เนื่องมาจาก ในวงวิชาการมองว่า การนำเสนองานวิจัยในรูปแบบ บทคัดย่อ (abstract) หรือ บทคัดย่อขยาย (extended abstract) ถือเป็นการนำมาให้นักวิจัยในวงประชุมช่วยกันดู เพื่อปรับปรุงงานวิจัยให้กระชับขึ้น อย่างที่กล่าวไปในตอนต้น ดังนั้น ตราบใดที่น้องยังคิดว่างานวิจัยของน้องยังไม่ถึงข้อสรุป น้องก็สามารถนำไปขอความคิดเห็นจากวงประชุมได้เรื่อยๆ จนกว่าจะมั่นใจในงานวิจัยของตน นี่คือเหตุผลว่า ทำไมนักวิจัยโดยส่วนใหญ่ มักไม่ค่อยส่งผลงานวิจัยในรูปแบบของ บทความวิชาการฉบับเต็ม (full paper) เพื่อเข้าไปร่วมในการประชุมวิชาการ

ออออ !!! พี่จะบอกน้องว่า… ถ้าพูดถึงเครดิตในทางวิชาการ การนำงานวิจัยไปตีพิมพ์ใน วารสารวิชาการ (journal) จะมีเครดิต มีความน่าเชื่อถือ ของงานวิจัย มากกว่าการนำมาตีพิมพ์ใน งานประชุมวิชาการ (Conference)

นักวิจัยส่วนใหญ่ เลยไม่อยากเอางานวิจัยที่อุตส่าห์ทำมาอย่างยากลำบาก มาปิดท้ายฟินาเล่แค่ในวงประชุม เดี๋ยวพี่เล่ารายละเอียดให้ฟังอีกที

2.2) รูปแบบการนำเสนอผลงาน

เมื่อน้องๆ ได้รับการตอบรับ ให้เข้าร่วมการประชุมวิชาการ ขั้นตอนการเตรียมตัวถัดมาก็คือ การจัดทำชิ้นงานเพื่อนำเสนอผลงานในวันงานประชุม ซึ่งปัจจุบันก็มีลีลาให้เลือกนำเสนออยู่ 2 รูปแบบ คือ

1) พูดนำเสนอ (oral presentation) ซึ่งข้อมูลที่น้องจะต้องนำติดกระเป๋าไป คือ ไฟล์ powerpoint หรือไฟล์ PDF ที่บรรจุไปด้วยข้อมูลงานวิจัยของน้อง ก่อนถึงเวลานำเสนอ น้องควรนำไฟล์ ไปมอบให้ผู้จัดงาน เพื่อจัดเรียงในคอมพิวเตอร์ส่วนกลาง อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่การรักษาเวลาในการนำเสนอ ถือเป็นมารยาทที่สำคัญมากในการประชุมวิชาการ (พี่ถูกสอนมาอย่างนั้น) ในระหว่างการพูด น้องควรฟังสัญญาณเตือนเรื่องเวลาคงเหลือ ที่ผู้จัดงานจะส่งมาให้เป็นระยะๆ หากทำได้และควรจะทำ ก็ไม่ควรใช้เวลาการนำเสนอเกินกว่าที่งานประชุมกำหนด เพราะจะทำให้นักวิจัยท่านอื่นหรือการประชุมโดยรวม รวนในเรื่องเวลา ส่วนบรรยากาศอื่นๆ น้องลองไปรับ ไปซึมซับเอาที่หน้างาน พี่บอกได้แค่ว่า อบอุ่น 🙂

2) โปสเตอร์ (poster presentation)

เป็นอีกหนึ่งรูปแบบทางเลือก การนำเสนองานวิจัยในงานประชุมวิชาการ ถ้าเอาแบบไซด์มาตรฐาน ในวันประชุม น้องต้องหอบโปสเตอร์ขนาด กระดาษ A0 (80 x 120 เซนติเมตร) ไปแปะที่บอร์ดซึ่งผู้จัดงานจะเตรียมไว้ให้ โดยเนื้อหาที่จะต้องมีอยู่ในโปสเตอร์ ก็เหมือนกับที่มีอยู่ในเอกสารบทคัดย่อ ที่ส่งมาก่อนหน้านี้ แต่น้องๆ ก็สามารถใส่รูปหรือตารางได้เต็มที่ ตามที่ต้องการจะนำเสนอ ให้ผู้วิจัยท่านอื่นสนใจและเข้าใจ ชื่อหัวข้ออาจจะไม่เหมือนในบทคัดย่อ และน้องก็สามารถตั้งชื่อหัวข้อให้เหมือน พาดหัวข่าว เพื่อให้คนที่เดินไปเดินมา สะดุดตา อยากเข้ามาอ่านงานวิจัยของน้องได้

ซึ่งทุกช่วงการพักเบรคการประชุม (การนำเสนอด้วยปากเปล่า) นักวิจัยแต่ละท่าน จะเดินมาเชยชมโปสเตอร์งานวิจัยต่างๆ และพูดคุยกับนักวิจัยเจ้าของผลงานที่เขาสนใจ ซึ่งน้องก็ควรจะยืนอยู่ที่นั่น เพื่อคอยอธิบายหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิจัยที่สนใจ

ตัวอย่างหน้าตาและบรรยากาศการนำเสนอผลงานวิจัยในงานประชุมวิชาการด้วย โปสเตอร์ (poster presentation)

ถ้าเป็นความคิดของคนทั่วไป เหตุของการเลือกนำเสนอผลงานวิจัยผ่านโปสเตอร์ ก็คงเพราะภาษาอาจจะไม่ดี หรือเขินอาย ไม่อยากจะพูดบนเวทีหรือโพเดียม แต่จากหลายงานที่พี่เคยผ่าน พบว่าก็หลายครั้ง ที่ตัวท็อปตัวเทพของงาน ยังเลือกที่จะนำเสนอผลงานผ่านโปสตอร์ ซึ่งดูจากยี่ห้อหรือราคา ก็หาเหตุปรักปรำไม่ได้เลยว่า เขาไม่กล้าขึ้นเวที

เพราะถ้าจะเอาแก่นสารแก่นแท้จริงๆ ของการนำเสนอผลงานวิจัยด้วยโปสเตอร์ เหตุที่นักวิจัยบางคนเลือกทางนี้ ก็เพราะเขาอยากจะคุยกันแบบส่วนตัว เพราะบางครั้งเขาตั้งใจจะมาเจรจาธุรกิจ (วิชาการ) ตั้งใจจะมาจีบคนในงาน สร้างคอนเน็คชั่น เพื่อไปทำวิจัยร่วม จะซุบซิบมุบมิบด้านงานวิจัยอะไรกัน เขาก็จะทำกันในตอนนี้ จะสังเกตเห็นว่าในวงโปสเตอร์ส่วนใหญ่ สุดท้ายจะจบลงตรงที่การแลกนามบัตรกัน นี่คือแก่นแท้จริงๆ ของการนำเสนองานวิจัยผ่านโปสเตอร์วิชาการ

แน่นอนว่าโปสเตอร์ขนาดมาตรฐาน ที่ชาวบ้านเขาทำๆ กันมีขนาดเท่ากับ กระดาษ A0 (80 x 120 เซนติเมตร) แต่พี่ก็เห็นนักวิจัยหลายคน โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น ที่ใช้วิธีปริ้นส์งานวิจัยด้วย กระดาษ A4 ธรรมดาๆ หลายๆ แผ่น แล้วเอามาแปะเรียงต่อกัน เป็นโพสตอร์ ดังนั้น จะทำไซส์ไหน พี่ว่า… ก็ตามแต่ใจวัยรุ่น

รูปแบบการเผยแพร่ผลงานวิจัย ยังไม่ได้จบเพียงเท่านี้ ยังมีอีกหนึ่งรูปแบบใหญ่ ที่นักวิจัยพยายามที่จะไปให้ถึงกัน คือ การเผยแพร่งานวิจัยอย่างเต็มรูปแบบใน วารสารวิชาการ (Journal) ซึ่งเป็นที่ยอมรับมากที่สุด ในแวดวงการวิชาการ แต่เรื่องราวมันมีมากมายในรายละเอียด ทั้งการถือสิทธิ์งานวิจัย ด้วยความเป็น นักวิจัยหลักชื่อแรก (first author) หรือจะเป็น ผู้เขียนหลัก (corresponding author) ทั้งการเลือกเกรดของวารสาร ที่จะเอางานไปเสนอตีพิมพ์ จะเอาแบบพื้นๆ ปาเก้ๆ หรือจะเอาแบบโป้งเดียวดัง (TCI, SCOPUS, ISI, Q1, TIER 1 ฯลฯ) พี่ว่าคุยกันยาวววว พี่ขอติดไว้ก่อน ยกยอดไปไว้ในบทความหน้า เพราะดูท่า บทความนี้น่าจะยาวเกินไปแล้ว

ไว้ว่างๆ พี่จะมาเหลาให้ฟัง ไอ่นักร้อง ไอ่น้องรัก 🙂

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: