เรียบเรียงโดย คัคนางค์ ณ น่าน และ สันติ ภ้ยหลบลี้

ภัยแล้ง (drought) คือ ภัยพิบัติที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำทั้งจาก 1) หยาดน้ำฟ้า (precipitation) 2) น้ำผิวดิน (surface water) รวมทั้ง 3) น้ำใต้ดิน (groundwater) โดยส่วนใหญ่ภัยแล้งมักจะเกิดในพื้นที่ที่มีฝนตกน้อยในแต่ละปี หรือเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น อุณหภูมิสูง ลมแรง ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ เป็นต้น (Mishra และ Singh, 2010) ซึ่งเนื่องจากผลกระทบจากภัยแล้งจะสะสมอย่างช้า ๆ และอาจคงอยู่ได้นานหลายปี การเริ่มต้นและสิ้นสุดของความแห้งแล้งจึงยากที่จะกำหนด ด้วยเหตุนี้ความแห้งแล้งจึงถูกขนานนามว่าเป็น ปรากฏการณ์ที่คืบคลาน ( creeping phenomenon) (Ray, 1947) ซึ่งจะต่างจากภัยธรรมชาติอื่นๆ อย่างน้ำท่วม พายุหมุนเขตร้อน และแผ่นดินไหว ที่เกิดรวดเร็วและสร้างผลกระทบในระยะเวลาสั้นๆ แต่ถึงแม้ว่าภัยแล้งจะคืบคลานอย่างช้า ๆ แต่ผลกระทบมีความรุนแรงอย่างมาก กระทบโดยตรงต่อประเทศเกษตรกรรม เกิดภาวะการขาดแคลนด้านอาหาร ส่งต่อไปถึงการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจและสังคม

อาเซียนบ้านเรามักได้รับผลกระทบจากภัยแล้งบ่อยครั้งจากปรากฏการณ์ เอลนีโญ (El Nino) โดยในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา มีรายงานว่าภัยแล้งส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 66 ล้านคน คิดเป็น 17% ของประชากรในอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ (ประชากรที่ได้รับผลกระทบจากพายุ 44% น้ำท่วม 34%) และข้อมูลจาก EM-DAT รายงานว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบมากที่สุดจากภัยแล้ง ตามด้วยกัมพูชาฟิลิปปินส์และเวียดนาม

แผนที่ประเทศไทยแสดงผลจำนวนครั้งที่เกิดภัยแล้ง จากการบันทึกย้อนหลังเป็นเวลา 9 ปี (ที่มา : กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

สาเหตุของความแห้งแล้ง

  • การขาดแคลนของน้ำฟ้า (precipitation) ความแห้งแล้งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ปริมาณน้ำฝนอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ เมื่อน้ำฝนตกลงมาถึงพื้นผิวในช่วงเวลาหนึ่งไม่เพียงพอผลที่ได้คือภัยแล้ง
  • ฤดูแล้ง (dry season) ภายในเขตร้อนมีฤดูฝนและฤดูแล้งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนเนื่องจากการเขตที่ตั้งและร่องมรสุม ซึ่งในฤดูแล้งจะความแห้งแล้งจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ทำให้พื้นที่นั้นที่มีความชื้นต่ำและแม่น้ำแห้ง
  • เอลนีโญ (El Nino) ผลกระทบโดยตรงของเอลนีโญ ส่งผลให้สภาพอากาศแห้งเกิดขึ้นในบางส่วนของภูมิภาคอาเซียนและออสเตรเลียตอนเหนือ โดยมีการเพิ่มไฟป่าและหมอกควันทำให้คุณภาพอากาศลดลงอย่างมาก
  • การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) โดยรวมแล้วภาวะโลกร้อนจะส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนของโลกเพิ่มขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกก่อให้เกิดความแห้งแล้งซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเกษตรทั่วโลก
  • กิจกรรมของมนุษย์ (human activity) เช่น การทำนา เพาะปลูกที่ต้องใช้น้ำเพิ่มขึ้น ทำลายป่า การเพิ่มขึ้นของประชากรส่งผลให้มีความต้องการอุปโภคและบริโภคน้ำตาม การชลประทานที่มากเกินไป การสร้างเขื่อนและฝายในการกักเก็บน้ำไว้ต้นน้ำส่งผลให้ท้ายน้ำเกิดความแห้งแล้ง

ความแห้งแล้ง จัดแบ่งเป็นประเภทโดย Wilhite and Glantz (1985) ดังต่อไปนี้

  • ความแห้งแล้งทางอุตุนิยมวิทยา โดยปกติแล้วจะแสดงออกถึงการลดลงของน้ำฟ้าจากปกติในช่วงระยะเวลาหนึ่ง สะท้อนถึงหนึ่งในสาเหตุหลักของความแห้งแล้ง
  • ความแห้งแล้งทางอุทกวิทยา แสดงการลดลงในแหล่งน้ำผิวดินและใต้ผิวดิน สะท้อนอิทธิพลและผลกระทบจากภัยแล้ง
  • ภัยแล้งทางการเกษตร แสดงในรูปของความชื้นของดินที่พืชต้องการในเวลาใดเวลาหนึ่ง
  • ความแห้งแล้งทางเศรษฐกิจและสังคม เกี่ยวข้องกับความแห้งแล้งกับอุปทานและอุปสงค์เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สามกลุ่มแรกที่กล่าวมาสามารถเป็นตัวบ่งชี้ด้านสิ่งแวดล้อม แต่กลุ่มสุดท้ายนี้เป็นตัวบ่งชี้แหล่งน้ำ

โดยความแห้งแล้งประเภทต่าง ๆ จะสัมพันธ์และส่งผลกระทบต่อกัน เช่น ความแห้งแล้งทางอุตุนิยมวิทยาในแง่ของการขาดปริมาณน้ำฟ้าซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความแห้งแล้ง มักจะนำไปสู่ภัยแล้งทางการเกษตรเนื่องจากการขาดน้ำและความชื้นที่ให้แก่ดิน หากการขาดของปริมาณน้ำฝนยังคงดำเนินต่อไป จะส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งทางอุทกวิทยาของน้ำบนผิวดิน และน้ำบาดาลหรือน้ำใต้ดินเป็นแหล่งสุดท้ายที่ได้รับผลกระทบ แต่ก็เป็นแหล่งสุดท้ายที่จะกลับสู่ระดับน้ำปกติ

ตาม Mawdsley และคณะ (1994) สามารถวัดระดับความแห้งแล้งได้จาก 1) ตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม หรือ ตัวชี้วัดด้านอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยา ซึ่งวัดผลกระทบโดยตรงจากวัฏจักรของน้ำ ธรรมชาติของน้ำ การขาดดุลของน้ำฟ้า การไหลของน้ำผิวดินใต้ดิน หรือความชื้นของดิน ตัวชี้วัดเหล่านี้สามารถช่วยระบุระยะเวลาและความรุนแรงของภัยแล้ง ซึ่งสามารถใช้ในการวิเคราะห์ ความถี่ภัยแล้ง (drought frequency) ได้ และ 2) ตัวชี้วัดทรัพยากรน้ำ

7 เหตุการณ์ภัยแล้ง ในอาเซียน

1) ประเทศกัมพูชา เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่กำปงจามลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 5 เมตร ลงไปถึง 3 เมตร ขณะที่สถานีวัดน้ำในพนมเปญระดับน้ำลดลงจาก 4 เมตร เหลือต่ำกว่า 3 เมตร แสดงให้เห็นว่าแม่น้ำโขงที่เคยไหลผ่านบริเวณนี้ มีระดับน้ำที่ต่ำสุดในช่วง 40 ปี ที่ผ่านมา ( Mekong River Commission, 2019)

สภาพความแห้งแล้งในประเทศกัมพูชา (ที่มา : www.caritascambodia.org)

2) ประเทศอินโดนีเซีย ในปี พ.ศ. 2562 มีรายงานว่า 3 จังหวัดในประเทศอินโดนีเซีย คือ ชวากลาง ชวาตะวันออก และ ยอคจาการ์ตา เผชิญกับภัยแล้ง มีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า 100,000 คน รัฐบาลท้องถิ่นต้องแจกจ่ายน้ำประมาณ 1,000,000 ลิตร ทั่วพื้นที่ภัยพิบัติ นอกจากนี้ศูนย์วิเคราะห์สถานการณ์ภัยพิบัติ ยังประเมินว่าในปี พ.ศ. 2562 พื้นที่กว่า 92% ของประเทศจะประสบกับความแห้งแล้งเนื่องจากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่เกิดในปลายปี พ.ศ. 2561 ส่งผลให้ฤดูแล้งรุนแรงขึ้น (ECHO, 25 ตุลาคม 2562)

3) ประเทศลาว การวัดระดับน้ำจากแม่น้ำโขงที่เวียงจันทน์ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 บ่งชี้ว่าระดับน้ำต่ำกว่า 2 เมตร ในขณะที่สถานีปากเซ ระดับน้ำมีความสูงไม่ถึง 1.5 เมตร ถือว่าแม่น้ำโขงมีระดับน้ำต่ำสุดในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา (Mekong River Commission, 3 ธันวาคม 2562) ผลกระทบจากภัยแล้งและอุทกภัยในปี พ.ศ. 2562 คาดว่าประชาชนประมาณ 67,800 คน จะขาดแคลนอาหารตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 (FAO, 9 เมษายน 2563)

4) ประเทศฟิลิปปินส์ การตรวจสอบสภาพอากาศและการวิเคราะห์ล่าสุดของ PAGASA พบว่าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่อบอุ่นผิดปกติ ในภาคกลางและแถบเส้นศูนย์สูตรแปซิฟิก เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 และคาดว่าจะกลายเป็นเอลนีโญเต็มรูปแบบ และจากการวิเคราะห์ปริมาณน้ำฝนในช่วงที่ผ่านมาพบว่าภาวะฝนตกต่ำกว่าปกติในจังหวัดทางตะวันตกของมินดาเนา และโคตาบาโต

ผลการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงต่อภัยแล้งอันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ในประเทศฟิลิปปินส์ (ที่มา : www.weadapt.org)

สภาพของ El Niño ยังคงมีอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน อุณหภูมิของน้ำทะเลอุ่นกว่าค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลปกติ 0.5 °C บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางและตะวันออก ซึ่งสังเกตได้ตั้งแต่ 3 เดือนสุดท้ายของปี พ.ศ. 2561 และการวิเคราะห์จากแบบจำลองสภาพภูมิอากาศโลกชี้ให้เห็นว่า สภาพเอลนีโญที่เกิดขึ้นนั้นจะดำเนินการต่อไปจนถึงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม พ.ศ. 2562 และจากการประเมินพบว่าในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 มีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า 1,000,000 คนใน 9 ภูมิภาค ของประเทศ (รัฐบาลฟิลิปปินส์, 24 พฤษภาคม 2562)

5) ประเทศติมอร์-เลสเต จากรายงานพบว่าทั่วประเทศติมอร์ – เลสเตในปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูก มากกว่าร้อยละ 35 ของพื้นที่ในประเทศ ซึ่งกำลังประสบกับความแห้งแล้งถึงขั้นรุนแรง โดย ลัวเทม (Lautem) เป็นพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งที่ยาวนานมากอย่างต่อเนื่องนานกว่า 30 วัน ส่งผลกระทบให้ประชากร 40,000 คน (WFP, 31 ธันวาคม 2562)

6) ประเทศเวียดนาม ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อลุ่มน้ำโขง ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการเกษตรกรรมและการขาดแคลนอาหารในเวียดนาม ภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงและที่ราบสูงตอนกลางกำลังเผชิญกับสภาพอากาศที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกักเก็บน้ำโดยเขื่อนในพื้นที่ต้นน้ำนั้นมีส่วนทำให้ระดับน้ำต่ำกว่าอดีตที่ผ่านมา ระดับแม่น้ำโขงในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม พ.ศ. 2562 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภัยแล้งที่รุนแรงและการรุกล้ำของน้ำเค็มบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในฤดูแล้งปี พ.ศ. 2562 ถึงปี พ.ศ. 2563 ผลกระทบจากความแห้งแล้งอาจส่งผลต่อการผลิตข้าว ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของราคาส่งออกข้าวในภูมิภาค (OCHA, 30 ธันวาคม 2562)

การขาดแคลนน้ำและการรุกล้ำของน้ำเค็มอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อ 82,00 ครัวเรือนและส่งผลกระทบต่อผู้ที่อาศัยยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ส่งผลกระทบต่อ 165,000 ครัวเรือน และ 29,000 เฮกเตอร์ของพื้นที่เกษตรกรรมใน 13 จาก 63 จังหวัดของเวียดนาม (UNCT Viet Nam, 27 กุมภาพันธ์, 2563)

7) ประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่าประเทศกำลังประสบกับปัญหาภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบทศวรรษเนื่องจากปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศได้ลดลงจากค่าเฉลี่ยในแต่ละเดือนโดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดนี้เป็นพื้นที่ปลูกพืชสำคัญ และจากการวัดระดับน้ำจากแม่น้ำโขงที่เชียงคานในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 บ่งชี้ว่าระดับน้ำสูงไม่เกิน 5 เมตร เช่นเดียวกับสถานีวัดน้ำที่หนองคายและมุกดาหารที่ระดับน้ำสูงไม่เกิน 2 เมตร พบว่าแม่น้ำโขงมีระดับต่ำสุดที่เคยมีในช่วง 40 ปี ที่ผ่านมา ((Mekong River Commission, 3 ธันวาคม 2562)

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ 3-7-8-Thailand-Drought-Hazard-mitrearth-629x1024.jpg
แผนที่ประเทศไทยแสดงผลจำนวนครั้งที่เกิดภัยแล้ง จากการบันทึกย้อนหลังเป็นเวลา 9 ปี (ที่มา : กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

ตัวอย่างแนวทางจัดการภัยแล้ง

1) ประเทศกัมพูชา

  • จัดทำแผนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกัมพูชาปี 2557-2566
  • สร้างฐานข้อมูลน้ำบาดาลระดับประเทศ เพื่อประเมินทรัพยากรเพื่อการชลประทานทางการเกษตร
  • สนับสนุนการทำบัญชีน้ำ ตามประสบการณ์ของออสเตรเลียในการจัดการภัยแล้ง รวมถึงฟื้นฟูระบบชลประทานขนาดเล็กและขนาดกลาง
  • จัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาพืชที่มีความยืดหยุ่นกับสภาพภูมิอากาศ
  • ปรับปรุงเมล็ดพันธุ์พืชและพืชอุตสาหกรรมเกษตร และปรับปรุงระบบการผลิตปศุสัตว์

2) ประเทศลาว

  • ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อประโยชน์ในการผลิตทางการเกษตรและปรับปรุงคุณภาพดิน
  • ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ เช่น การปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อรักษาโครงสร้างของดินและเพิ่มปริมาณน้ำในช่วงฤดูแล้ง
  • ส่งเสริมการเพาะปลูกพืชระยะสั้น หรือพันธุ์ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถรับมือกับปริมาณน้ำฝนที่ไม่ดี พืชที่สามารถทนได้ในสภาวะแล้งต้องการน้ำน้อย

3) ประเทศพม่า

  • บูรณาการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ากับการเกษตรการเพาะปลูกและการวางแผนปศุสัตว์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกษตรที่แห้งแล้ง
  • เพิ่มความตระหนักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคประชาสังคมและองค์กรชุมชนโดยส่งเสริมการวางแผนการปรับตัวแบบมีส่วนร่วม
  • มีระบบชลประทานและอ่างเก็บน้ำปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพผ่านเครื่องมือวัดเขื่อนที่ดีขึ้นและการติดตามรวมถึงพยากรณ์อุทกวิทยา
  • ส่งเสริมการถ่ายโอนพันธุ์ข้าวที่เหมาะกับภูมิอากาศและความแห้งแล้งที่หลากหลายและให้ผลผลิตสูงสำหรับเขตแห้งแล้งและเขตภูเขา
  • กระจายพืชตระกูลถั่วและผลไม้ที่มีรายได้สูง

4) ประเทศเวียดนาม

  • เน้นการแก้ไขปัญหาภัยแล้งโดยเรียกร้องให้มีการลงทุนในหลายโครงการเพื่อเพิ่มความช่วยเหลือต่อความแห้งแล้งรวมถึงการลุกล้ำของน้ำทะเล เพิ่มขึ้นในจังหวัดทางภาคกลางตอนกลาง ที่ราบสูงและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
  • ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้น้ำในพื้นที่จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
  • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเก็บน้ำเพื่อการบริโภคของมนุษย์ เช่นเดียวกับการชลประทานสำหรับพืชเพื่อหลีกเลี่ยงการขาดแคลนอาหาร

สรุป จากการแก้ไขและรับมือกับภัยแล้งจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่รัฐบาลแต่ละประเทศจะเน้นการแก้ปัญหาไปที่การพัฒนาระบบชลประทานโดยการสร้างที่กักเก็บน้ำเพิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่การแก้ปัญหาภัยแล้งนี้ มีเพื่อช่วยเหลือการเกษตรที่เป็นสิ่งสำคัญและปัจจัยหลักต่อการดำรงชีวิต เนื่องจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีการทำการเกษตรเพาะปลูกเป็นหลักดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยการส่งเสริมการปลูกและปรับปรุงพืชให้ทนต่อความแห้งแล้งมาขึ้น และได้นำเทคโนโลยีมาช่วยในการประเมินและให้ข้อมูลแก่ประชาชนได้ทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งการแก้ปัญหาจากต้นเหตุยังไม่มีวิธีการและมาตรการแน่ชัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาและหาวิธีรับมือกับภัยแล้งที่จะเพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต

แผนที่ภูมิภาคอาเซียนแผ่นดินใหญ่แสดงการแบ่งแม่น้ำโขงออกเป็น 2 ท่อน (สีที่ต่างกัน) และตำแหน่งเขื่อนกั๊กน้ำที่มีเอี่ยวกับลำโขง (ที่มา : http://www.eastbysoutheast.com)

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: