สืบเนื่องจากการเกิดแผ่นดินไหวที่ผิดที่ผิดทาง ที่ อ. ลำปลายมาศ จ. บุรีรัมย์ ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ประกอบกับคีย์เวิร์ดซอพพาวเวอร์ “ทุเรียนภูเขาไฟ” หรือวาทะกรรมประจำจังหวัดที่เราคุ้นชิน “บุรีรัมย์ ดินแดนปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ” ทำให้ชาวนาชาวไร่ในพื้นที่ อ. ลำปลายมาศ ออกอาการกังวลถึงสาเหตุ และผลกระทบที่จะตามมา เพราะไม่ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้จะเกิดจาก 1) รอยเลื่อนตัวใหม่ ? หรือ 2) แมกมาใต้ภูเขาไฟ ? ที่กำลังขยับเขยื้อน ทั้งสองฉากล้วนไม่เป็นผลดีกับคนในพื้นที่อย่างแน่นอน เรื่องรอยเลื่อนเดี๋ยวค่อยว่ากัน บทความนี้อยากจะขอเคลียร์เรื่องภูเขาไฟ ว่าที่บุรีรัมย์ รวมทั้งที่เราไล่เคลมๆ กันว่าเป็นภูเขาไฟในจังหวัดอื่นๆ มีโอกาสจะปะทุ บ้างไหม ในปัจจุบัน
22-25 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 เกิดแผ่นดินไหวเล็กๆ 5 เหตุการณ์ มีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ ต.โคกล่าม และ ต.หินโคน อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ขนาด 2.9 1.8 3.0 1.9 และปิดท้าย 1.7 ความลึกถัวๆ 1 กิโลเมตร
ที่มา : กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทย
ภูเขาไฟ (volcano) คือ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่โลกพยายามคลายความร้อนภายในโลกออกสู่ภายนอกในรูปแบบการปะทุของ หินหนืด (molten rock) ซึ่งเหตุที่ทำให้แผ่นดินไหวมักจะเกิดช่วงที่ภูเขาไฟกำลังจะปะทุ ก็เพราะความพยายามแทรกดันของแมกมาขึ้นมาตามรอยแตกของหิน ทำให้หินแตกและเกิดแผ่นดินไหวใกล้กับตำแหน่งของภูเขาไฟ และมักเกิดกระจุกๆ เป็นร้อยๆ พันๆ ครั้ง
เพิ่มเติม : โลกสร้างแผ่นดินไหวได้ยังไงบ้าง
แน่นอนว่าจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นจังหวัดหนึ่งทีมีร่องรอยของ ภูเขาไฟอยู่หนาแน่น ไม่ว่าจะเป็น เขาพนมรุ้ง ภูพระอังคาร เขากระโดง หรือจังหวัดใกล้เคียง เช่น เขาพนมสวาย จ. สุรินทร์ ภูฝ้าย จ. ศรีสะเกษ เขาพลอยแหวน จ. จันทบุรี รวมไปถึง ภูเขาไฟดอยผาคอกหินฟู และ ภูเขาไฟจำป่าแดด จ. ลำปาง
เพิ่มเติม : 10 ภูเขาไฟ ยุคใหม่ของไทย
ซึ่งนับตั้งแต่โลกเกิดขึ้นมากว่า 4,600 ล้านปี มีหินหนืดไหลขึ้นมาบนพื้นโลกผ่านกระบวนการปะทุของภูเขาไฟอย่างนับไม่ถ้วน โดยในบรรดาภูเขาไฟที่ยังมีให้เห็นอยู่บนโลก หลายลูกก็ดับสนิทไปแล้ว ในขณะที่บางลูกก็ฮึ่มๆ พร้อมปะทุได้ทุกเวลา ซึ่งในทางธรณีวิทยา นิสัยคร่าวๆ ที่นักธรณีวิทยาใช้แยกความดุหรือความมีภัยพิบัติของภูเขาไฟคือ ความถี่ของการปะทุและเวลาการปะทุครั้งล่าสุดของภูเขาไฟในแต่ละลูก ซึ่งก็แบ่งภูเขาไฟที่มีอยู่บนโลกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1) ภูเขาไฟดับสนิท (extinct volcano) คือ ภูเขาไฟที่ไม่มีประวัติการปะทุและไม่มีสัญญาณทางวิทยาศาสตร์ว่ามีกิจกรรมทางภูเขาไฟอยู่ใต้พื้นที่นั้น เช่น ภูเขาไฟคีรีมันจาโร (Kilimanjaro) ในแอฟริกา ภูเขาไฟอีเกอร์มอนท์ (Egremont) ในนิวซีแลนด์ เป็นต้น
2) ภูเขาไฟสงบหรือภูเขาไฟที่ยังหลับ (dormant volcano) คือ ภูเขาไฟที่ไม่ที่มีประวัติการปะทุในช่วง 10,000 ปี แต่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่ายังมีกิจกรรมทางภูเขาไฟอยู่ เช่น เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กหรือการรั่วซึมของก๊าซต่างๆ ในพื้นที่ภูเขาไฟ เช่น ภูเขาไฟฟูจิ (Fuji) ประเทศญี่ปุ่น ภูเขาไฟเรนเนียร์ (Rainier) ในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
3) ภูเขาไฟมีพลัง (active volcano) คือ ภูเขาไฟที่มีประวัติการปะทุในช่วง 10,000 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งจากการสำรวจพบว่าปัจจุบันมีภูเขาไฟที่ยังมีพลังอยู่อย่างน้อย 500 ลูก ทั่วโลก เช่น ภูเขาไฟเมราปี (Merapi) ในประเทศอินโดนีเซีย ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ซึ่งจากการสำรวจทางธรณีวิทยา ของนักธรณีวิทยาไทยรุ่นใหญ่ในอดีตพบว่า ซีรีย์การปะทุของภูเขาไฟครั้งล่าสุดในบ้านเรา นับถัวๆ ก็ประมาณเมื่อ 9 แสนปีก่อน สิ่งภูเขาไฟชุดนี้ ได้แก่ เขาพนมรุ้ง ภูพระอังคาร เขากระโดง ของ จ. บุรีรัมย์ เขาพนมสวาย จ. สุรินทร์ ภูฝ้าย จ. ศรีษเกษ เขาพลอยแหวน จ. จันทบุรี และ ดอยผาคอกหินฟู ดอยจำป่าแดด ใน จ. ลำปาง มะ !!! ทีนี้เรามาช่วยกันเคลียร์ทีละประเด็นครับ
1) ภูเขาไฟสัญชาติไทยเหล่านี้ เป็นภูเขาไฟที่ยังมีพลังหรือไม่ ? คำตอบคือไม่มีพลังแล้วครับ เพราะไม่เคยปทุมาเลยเป็นเวลาเกิน 10,000 ปี ตามนิยามที่ผู้เขียนอธิบายไว้ด้านบน
2) หลับเหรอ ? แน่นอนว่า ต่อให้ไม่เคยปะทุมาเลยเกิน 10,000 ปี แต่หากข้างใต้โลกยังมีสัญญาณ หรือกิจกรรมอะไรร้อนๆ อยู่ ก็ถือได้ว่า ภูเขาไฟลูกนั้นอาจจะมีโอกาสกลับมาประทุได้อีก ซึ่งจากการสืบค้นภูเขาไฟทั่วโลก ผู้เขียนพบว่ามีรายงานกรณีที่ ภูเขาไฟเกือบจะหลับ แต่กลับมาได้ อยู่บ้าง แต่ที่เห็นนอนยาวที่สุดและยังมึน ตื่นมาปะทุอีกครั้งคือกรณีของ ภูเขาไฟฟากราดาลส์ (Fagradals) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งหลับไปนานกว่า 6,000 ปี ก่อนจะกลับมาปะทุอีกครั้งในปี ค.ศ. 2019
เพิ่มเติม : เกาะบาเรน : ภูเขาไฟมีพลัง (active volcano) ที่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด
ซึ่งก็อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่า ภูเขาไฟสัญชาติไทยของเราปะทุครั้งล่าสุดเมื่อ 9 แสนปีที่แล้ว หลับนานขนาดนี้ กรรมการนับ 10 ไปหลายรอบแล้วครับ ผู้เขียนว่าเคสนี้เรียกเปลสนาม หามลงอย่างเดียว เพราะต่อให้ทดเวลาบาดเจ็บ ก็ไม่น่าฟื้นครับ
อีกเหตุผลสนับสนุน ที่จะทำให้มั่นใจว่าภูเขาไฟไทย ไม่น่าจะปะทุขึ้นมาอีกแล้วคือ ภูเขาไฟจะปะทุได้ ข้างใต้ต้องมีแมกมา ซึ่งในทางธรณีวิทยา 1) ใต้เปลือกโลกทั่วไปไม่ได้มีแมกมา และ 2) แมกมาจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีสภาพแวดล้อมทาง ธรณีแปลสัณฐาน (tectonic) เฉพาะตัว ซึ่งปัจจุบันนี้สภาพแวดล้อมทางธรณีแปลสัณฐานที่จะทำให้เกิดแมกมาและภูเขาไฟประทุในประเทศไทย ไม่มีอีกแล้ว ทั้งหมดได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว นี่จึงเป็นเครื่องยืนยันในทางธรณีวิทยาว่า ปัจจุบันนี้ ไม่มีแมกมาใต้แผ่นดินไทย และจะไม่มีภูเขาไฟประทุขึ้น และสรุปว่า ซากกกก ภูเขาไฟ ที่เราเห็นกันอยู่เมืองไทย ตายอย่างสงบ ศพสีชมพูไปแล้ว ครับผม ♥️
ไปไม่กลับ . หลับไม่ตื่น . ฟื้นไม่มี . หนีไม่พ้น
เปลือกโลก (สถานะของแข็ง) วางตัวอยู่บน เนื้อโลก (สถานะพลาสติก) ซึ่งไม่ใช่ แมกมา (สถานะของเหลว) ดังนั้น เปลือกโลกไม่ได้ลอยตัวอยู่บนแมกมา
เพิ่มเติม : ใต้เปลือกโลกไม่ใช่แมกมา และภูเขาไฟก็ไม่ได้เกิดไปเรื่อยเปื่อย
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth