สำรวจ

องครักษ์ . นครนายก : กับแนวเส้นที่ไม่ค่อยมีใครใคร่จะเห็น

จากการที่แผ่นเปลือกโลกอินเดียกำลังชนเข้ากับแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียในปัจจุบัน ทำให้ภายในแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียเกิดการปริแตกและเลื่อนตัว โดยพื้นที่ยิ่งใกล้กับขอบแผ่น เช่น รอยเลื่อนสะกาย ของประเทศพม่า ก็จะมีอัตราการเลื่อนตัวสูง เพราะได้รับแรงเค้นทางธรณีแปรสัณฐานมาก ในขณะที่ ภาคเหนือและภาคตะวันตกของไทย ซึ่งอยู่ถัดเข้ามาข้างในก็จะมีอัตราการเลื่อนตัว และความดุของแผ่นดินไหวที่ลดต่ำลงไปด้วย

จากข้อมูลทางธรณีวิทยาหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะ ภูมิประเทศที่บ่งชี้รอยเลื่อน หรือสถิติการเกิดแผ่นดินไหวในอดีต พบว่าแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวของไทยส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันตกและภาคใต้ ซึ่งทั้งหมดเป็นส่วนของประเทศไทยที่อยู่ใกล้กับขอบของแผ่นเปลือกโลกมากที่สุด โดยหลายคนเชื่อว่าแรงเค้นที่เกิดจากการชนกันคงไม่น่าจะส่งเข้ามาถึงภาคกลาง ภาคตะวันออกรวมทั้งภาคอีสานของไทย

อย่างไรก็ตาม จากการแปลความหมายภาพถ่ายดาวเทียมพบว่าบริเวณรอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี ที่จังหวัดตาก มีแนวโน้มว่าจะทอดยาวและพาดผ่านภาคกลางแบบสะพายแร่ง เข้ามาทางฝั่งตะวันออกตอนบนของประเทศไทย ในแนวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และด้านล่างของเขาใหญ่ ซึ่งก็คือ เขตจังหวัดนครนายก

รอยเลื่อนแม่ปิง (Mae Ping Fault; Bunopas, 1985) หรือ รอยเลื่อนวังเจ้า (Wang Chao Fault) ในอดีตมีผู้ศึกษาวิจัยและรายงานว่าพาดผ่านตั้งแต่ภาคตะวันออกของประเทศพม่า เข้าสู่ประเทศไทยที่บริเวณอำเภอสบเมย จังหวัดตาก และเชื่อว่าพาดผ่านทางตอนใต้ของบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และพาดผ่านเข้ามาถึงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (รอยเลื่อนเขาใหญ่ Kao Yai Fault; Ridd และ Morley, 2011) และอีกแนวตวัดลง พาดผ่านจังหวัดนครนายกที่เรียกว่า กลุ่มรอยเลื่อนนครนายก (Nakhon Nayok Fult) หรือ กลุ่มรอยเลื่อนองครักษ์ (Ongkarak Fault)

แต่ก็ด้วยความที่อยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร พื้นที่เศรษฐกิจ รวมทั้งอยู่ใกล้กับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ทำให้หลายคนไม่อยากพูดถึงกลุ่มรอยเลื่อนนี้สักเท่าไหร่นัก เพราะค่อนข้างจะอ่อนไหว เปราะบางต่อความรู้สึกของคนในพื้นที่

(ซ้าย) แผนที่ภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออกของประเทศไทยแสดง แนวเส้นทางธรณีวิทยา (lineament) ตามแนวเส้นสีเหลือง และสีแดงแสดง รอยเลื่อน (fault) (ขวา) แนวรอยเลื่อนเขาใหญ่ (Kao Yai Fault) (Ridd และ Morley, 2011) กรอบสี่เหลี่ยมสีดำคือพื้นที่ อำเภอองครักษ์และอำเภอข้างเคียง จังหวัดนครนายก

แต่จากการรวบรวมเอกสารงานวิจัยในอดีตพบว่ามีรายงานวิจัยอย่างน้อย 3 รายงานวิจัย ที่ได้ทำการศึกษาธรณีวิทยาแผ่นดินไหวในพื้นที่ไว้อย่างละเอียดและมีการศึกษา แผ่นดินไหวบรรพกาล (paleoearthquake study) ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ผลการศึกษาวิจัยพบว่ามีรอยเลื่อนย่อยหลายแนว ที่ผลการศึกษาแผ่นดินไหวบรรพกาลพบว่า มีหลักฐานการเลื่อนตัวของชั้นตะกอนยุคใหม่ๆ และจากผลอายุชั้นตะกอนก็บ่งชี้ว่าอยู่ในเกณฑ์ หรือเข้าข่ายว่าเป็น รอยเลื่อนมีพลัง (active fault)

ดังนั้น บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์หลักที่จะรวบรวมข้อมูลด้านธรณีวิทยาแผ่นดินไหว ในบริเวณกลุ่มรอยเลื่อนองครักษ์เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการประเมินหรือพิจารณาสถานการณ์ด้านแผ่นดินไหวในพื้นที่ดังกล่าว และเพื่อเป็นประโยชน์ต่อชาวนครนายกและพื้นที่ใกล้เคียงในการตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านแผ่นดินไหว โดยไม่ได้มีเจตนาที่จะสร้างความตระหนกแต่อย่างใด และงานวิจัยทั้ง 3 งานมีรายละเอียด ดังนี้

งานวิจัยที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : การดำเนินงานสำรวจและศึกษาวิจัยรอยเลื่อน โครงการศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์ ตำบลทรายมูล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก

ผลการสำรวจธรณีวิทยาแผ่นดินไหวกำหนดแนวรอยเลื่อนในกลุ่มรอยเลื่อนองครักษ์ได้ 9 แนวรอยเลื่อนโดยรอบที่ตั้งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ สามารถสรุปได้ดังนี้

แผนที่แสดงแนวรอยเลื่อนมีพลังในที่ตั้งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก (ศูนย์วิจัยแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548)

1) รอยเลื่อนคลองสะแก มีอัตราการเคลื่อนตัวน้อยกว่า 0.028 มิลลิเมตรต่อปี ปรากฏรอยแตกบนพื้นผิวมีความยาว 10 กิโลเมตร ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวในอดีตได้สูงสุด 6.2 เมื่อประมาณก่อน 7,100 ปี ที่ผ่านมา มีคาบอุบัติซ้ำน้อยกว่า 5,700 ปี จัดให้เป็นรอยเลื่อนมีพลัง

2) รอยเลื่อนคลองบ้านนา มีอัตราการเคลื่อนตัวอยู่ที่ 0.025-0.087 มิลลิเมตรต่อปี ปรากฏรอยแตกบนพื้นผิวมีความยาว 6.5 กิโลเมตร ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวในอดีตได้สูงสุดถึงขนาด 6.2 เมื่อประมาณ 7,800-2,300 ปี ที่ผ่านมา มีคาบอุบัติซ้ำประมาณ 6,400-1,800 ปี จัดให้เป็นรอยเลื่อนมีพลัง

3) รอยเลื่อนเขากระเหรี่ยง มีอัตราการเคลื่อนตัว 0.053-0.177 มิลลิเมตรต่อปี รอยแตกที่ปรากฏบนพื้นผิวมีความยาว 5.5 กิโลเมตร ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวในอดีตได้สูงสุดถึง 6.0 เมื่อประมาณ 7,500-2,250 ปี ที่ผ่านมา มีคาบอุบัติซ้ำประมาณ 2,250-670 ปี จัดให้เป็นรอยเลื่อนมีพลัง

4) รอยเลื่อนเขาอีโต้ รอยแตกที่ปรากฏบนพื้นผิวมีความยาว 11.5 กิโลเมตร ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวในอดีตได้สูงสุด 6.3 แต่เนื่องจากผลการศึกษาได้จากการแปลความหมายโทรสัมผัสเท่านั้น จึงจัดให้เป็น รอยเลื่อนที่มีศักยภาพมีพลัง (potentially active fault)

5) รอยเลื่อนนครนายก มีอัตราการเคลื่อนตัวน้อยกว่า 0.084 มิลลิเมตรต่อปี ปรากฏรอยแตกบนพื้นผิวมีความยาว 16.5 กิโลเมตร ซึ่งสามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวในอดีตได้สูงสุด 6.5 เมื่อประมาณก่อน 7,100 ปี ที่ผ่านมา มีคาบอุบัติซ้ำน้อยกว่า 6,500 ปี จัดให้เป็นรอยเลื่อนมีพลัง

6) รอยเลื่อนเขาวิหารแดง พบรอยแตกที่ปรากฏบนพื้นผิวมีความยาว 85 กิโลเมตร ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวในอดีตได้สูงสุด 7.0 แต่การศึกษาไม่ปรากฏลักษณะธรณีสัณฐานที่สำคัญที่บ่งบอกถึงความมีพลังในพื้นที่ จึงจัดให้เป็นรอยเลื่อนที่มีศักยภาพมีพลัง

7) รอยเลื่อนคลองแม่น้ำใน มีอัตราการเคลื่อนตัวน้อยกว่า 0.112 มิลลิเมตรต่อปี ปรากฏรอยแตกบนพื้นผิวมีความยาว 12.5 กิโลเมตร ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวในอดีตได้สูงสุด 6.4 เมื่อประมาณก่อน 7,100 ปี ที่ผ่านมา มีคาบอุบัติซ้ำน้อยกว่า 3,500 ปี จัดให้เป็นรอยเลื่อนมีพลัง

8) รอยเลื่อนองครักษ์ มีอัตราการเคลื่อนตัวน้อยกว่า 0.084 มิลลิเมตรต่อปี ปรากฏรอยแตกบนพื้นผิวมีความยาว 19.5 กิโลเมตร ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวในอดีตได้สูงสุด 6.6 เมื่อประมาณก่อน 7,100 ปี ที่ผ่านมา มีคาบอุบัติซ้ำน้อยกว่า 7,600 ปี จัดให้เป็นรอยเลื่อนมีพลัง

9) รอยเลื่อนเขาสะท้อนสูง มีความยาว 8.5 กิโลเมตร ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวในอดีตได้สูงสุด 6.2 มีอัตราการเคลื่อนตัวที่ 0.062-0.171 มิลลิเมตรต่อปี ทำให้บ่งบอกได้ว่าในพื้นที่นี้ได้เคยเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดสูงสุด 6.2 มีคาบอุบัติซ้ำประมาณ 2,550- 900 ปี จัดให้เป็นรอยเลื่อนมีพลัง

งานวิจัยที่ 2 กรมชลประทาน : โครงการอ่างเก็บน้ําคลองมะเดื่อ จังหวัดนครนายก

ผลจากการแปลภาพถ่ายดาวเทียม LANDSAT พบแนวเส้นทางธรณีวิทยา (lineament) บริเวณrพื้นที่ศึกษา โดยมีแนววางตัวหลักอยู่ 3 แนว คือ

1) แนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ (NW-SE) จนถึงแนวตะวันตกเฉียงเหนือเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ใต้ (NNW-SSE) ซึ่งเป็นแนวเส้นทางธรณีวิทยาที่วางตัวในแนวเดียวกันหรืออยู่ในกลุ่มรอยเลื่อนองครักษ์ ได้แก่ แนวแม่น้ำบางปะกง บริเวณอำเภอประจันตคาม และแนวแม่น้ำนครนายกที่หักงอบริเวณบ้านยวน ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเมือง จังหวัดนครนายก

2) แนวตะวันออกเฉียงเหนือเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ใต้ (NNE-SSW) วางตัวตามแนวของแม่น้ำนครนายกตอนต้นน้ำ ก่อนถึงอำเภอเมือง จังหวัดนครนายก

3) แนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ (NE-SW) ซึ่งเป็นแนวเส้นทางธรณีวิทยาที่วางตัวตามแนวของแม่น้ำนครนายก ช่วงผ่านตัวเมืองของจังหวัดนครนายก

ผลการแปลแนวเส้นทางธรณีวิทยา (lineament) จากภาพถ่ายดาวเทียม (กรมชลประทาน, 2556)

จากการแปลภาพถ่ายดาวเทียม มีจุดที่เหมาะสมทางด้านธรณีสัณฐานเพื่อขุดร่องสำรวจรอยเลื่อนทั้งหมด 9 แห่ง และได้ดำเนินการขุดร่องสำรวจแผ่นดินไหวบรรพกาล 4 พื้นที่ อย่างไรก็ตามผลจากการกำหนดอายุตะกอนดินในร่องสำรวจด้วย วิธีเปล่งแสง (luminescence dating) สรุปได้ว่าชั้นดินทรายที่ไม่พบรอยเลื่อนตัดผ่านและวางอยู่บนชั้นกรวดที่พบรอยเลื่อนตัดผ่านในร่องสำรวจที่บ้านวังเดือนห้ามีอายุ 1,570-1,680 ปี และร่องสำรวจที่บ้านโคกกระชาย มีอายุ 2,960-6,550 ปี

ภาพร่องสำรวจแผ่นดินไหว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

งานวิจัยที่ 3 กรมทรัพยากรธรณี: งานศึกษาการแบ่งเขตความรุนแรงของแผ่นดินไหวระดับจังหวัด พื้นที่จังหวัดนครนายก

ศึกษาลักษณะธรณีสัณฐานที่บ่งชี้ถึงรอยเลื่อนมีพลัง พบว่ากลุ่มรอยเลื่อนนครนายกมีความยาวประมาณ 100 กิโลเมตร แบ่งเป็นรอยเลื่อนย่อยได้ 44 รอยเลื่อน โดยเมื่อประเมินขนาดแผ่นดินไหวสูงสุดที่สามารถเกิดขึ้นได้จากความยาวของแนวรอยแตกที่ตรวจพบบนพื้นผิว ประเมินว่ากลุ่มรอยเลื่อนดังกล่าวสามารถเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9-7.0 และผลจากการศึกษาแผ่นดินไหวบรรพกาล จากการขุดร่องสำรวจแผ่นดินไหวพร้อมทั้งกำหนดอายุการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่ตรวจพบภายในร่องสำรวจ สรุปว่า รอยเลื่อนโป่งมงคล ชะอม ตะโกด้วน และรอยเลื่อนวังเดือนห้า เป็นรอยเลื่อนมีพลัง

ผลการแปลแนวเส้นทางธรณีวิทยา (lineament) จากภาพถ่ายดาวเทียม (กรมชลประทาน, 2556)

ซึ่งจากรายงานการศึกษาแผ่นดินไหวบรรพกาลทั้ง 3 แหล่งที่มา สรุปว่าโดยภาพรวมของกลุ่มรอยเลื่อนองครักษ์ หรือ กลุ่มรอยเลื่อนนครนายก นั้นมีทั้งสิ้น 13 รอยเลื่อนย่อย (fault segment) ที่จัดเป็นรอยเลื่อนมีพลัง โดยตัวแปรด้านแผ่นดินไหวที่มีนัยสำคัญถึงภัยพิบัติแผ่นดินไหว สรุปและแสดงไว้ดังตารางด้านล่าง

ลำดับรอยเลื่อนความยาวรอยเลื่อน (กม.)ขนาดแผ่นดินไหวสูงสุด (MCE)อัตราการเลื่อนตัว (มิลลิเมตรต่อปี)อ้างอิง
1นครนายก 146.40.0841
2เขากระเหรี่ยง 186.50.1771
3คลองบ้านนา 206.60.0871
4คลองสะแก 326.80.0281
5องครักษ์186.50.0841
6คลองแม่น้ำใน 86.10.1121
7เขาสะท้อนสูง 55.90.1711
8เขาวิหารแดง 517.101
9เขาอีโต้ 76.101
10โป่งมงคล136.402
11ชะอม136.402
12ตะโกด้วน96.202
13วังเดือนห้า96.202
สรุปรอยเลื่อนย่อยในกลุ่มรอยเลื่อนองครักษ์ ที่ถูกนิยามว่ามีพลังและตัวแปรด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหวต่างๆ อ้างอิง [1] ศูนย์วิจัยแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548 [2] กรมทรัพยากรธรณี, 2556

อ้างอิง

  • ศูนย์วิจัยแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548. การดำเนินงานสำรวจและศึกษาวิจัยรอยเลื่อน โครงการศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์ ตำบลทรายมูล อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์, บริษัท ทีมคอนซัลติ้งเอนจิเนียริ่งแอนด์แมเนจเมนท์ จำกัด, 185 หน้า
  • กรมชลประทาน, 2556. โครงการอ่างเก็บน้ําคลองมะเดื่อ จังหวัดนครนายก. รายงานฉบับสมบูรณ์, บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด, 48 หน้า.
  • กรมทรัพยากรธรณี, 2556. งานศึกษาการแบ่งเขตความรุนแรงของแผ่นดินไหวระดับจังหวัด พื้นที่จังหวัดนครนายก. รายงานฉบับสมบูรณ์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: