สำรวจ

ซุ้มหินโค้ง-โขดทะเล ประเทศไทย – ธรณีวิทยาพาเที่ยว EP. 11

เกาะไข่ ต. เกาะตะรุเตา อ. เมืองสตูล จ. สตูล
https://goo.gl/maps/sjGnFKEcKcnqRcZNA

เกาะไข่นอก ต. พรุใน จ. พังงา
https://goo.gl/maps/AB58dYxSmH4aW8AE9

ธรณีวิทยาน่าเล่า

ในกรณีของ ฝั่งคงตัว (neutral coast) เป็นลักษณะฝั่งทะเลที่เปลือกโลกไม่มีการเคลื่อนไหวมาเป็นเวลานาน ทำให้แนวฝั่งคงที่ โดยรูปร่างและพัฒนาการของฝั่งถูกควบคุมหรือปักหมุดโดย หัวหาด (head land) และมีกระแสคลื่นทะเลต่างๆ วิ่งเข้ามาในอ่าวกระทบหาด เกิดเป็นหาดที่มีลักษณะโค้งเว้า ซึ่งในแง่ของกระบวนการกัดกร่อน บริเวณหัวหาดจะได้รับผลกระทบจากคลื่นมากที่สุด คลื่นน้ำจะกัดเซาะโดยพุ่งเข้าด้านข้าง ทั้งสองข้างของหัวหาด ทำให้เกิดภูมิลักษณ์ที่น่าสนใจบริเวณหัวหาด ดังนี้

เขาตาม่องล่ายและเขาล้อมหมวก หัวหาเที่ช่วยควบคุมรูปแบบและพัฒนาการของอ่าวประจวบฯ และอ่าวมะนาว
  • ถ้ำทะเล (sea cave) กระบวนการเกิดถ้ำทะเลบริเวณหัวหาดอาจจะคล้ายคลึง แต่ไม่เหมือนซะทีเดียวกับถ้ำทะเลที่เกิดบริเวณฝั่งยกตัว ถ้ำทะเลที่เกิดบริเวณหัวหาด สาเหตุหลักเกิดจากการที่กระแสคลื่นทะเลวิ่งเข้ามากระแทกด้านข้าง เหมือนกับสว่านค่อยๆ เฉาะหัวหาดในแนวด้านข้างจนเป็นรูเป็นหลุม ทั้งสองฝั่งของชะง่อนหินหรือหัวหาด
  • ซุ้มหินโค้ง (sea arch) จากรูปด้านล่าง ถ้ำทะเล จะเกิดทั้ง 2 ฝั่ง ของชะง่อนหินหรือหัวหาด ซึ่งในเวลาต่อมา ถ้ำจะถูกเจาะให้ทะลุเข้าหากัน จนเกิดภูมิลักษณ์ที่เรียกว่า ซุ้มหินโค้งซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสะพานธรรมชาติที่ทอดตัวลงไปในทะเล
  • โขดทะเล (sea stack) จาก ซุ้มหินโค้ง ที่ส่วนบนไม่เสถียร เมื่อเวลาผ่านไป ส่วนด้านบนจะหักถล่มพังลงมา เหลือเฉพาะหัวซุ้มหินโค้ง หรือคอสะพานเดิมที่อยู่ภายในทะเลใกล้ฝั่ง โดยในทางธรณีวิทยาเรียกภูมิลักษณ์แบบนี้ว่า โขดทะเล
การสะท้อนของคลื่นตามแนวชายหาดไม่ราบเรียบ และวิวัฒนาการการกัดเซาะบริเวณหัวหาด
ตัวอย่างแบบภูมิลักษณ์ต่างๆ ที่เกิดจากการกัดเซาะชาย ฝั่งบริเวณชายฝั่งคงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหัวหาด

เขาตาปูไม่ใช่ sea arc

เขาตะปู คือ โขดทะเล (sea stack) จริงหรือ ???

อันดับแรก จริงๆ คนพื้นที่เรียก เขาตาปู เพราะเหมือนตาของปูที่ชี้ขึ้นมา ไม่ใช่ ตะปู ตอกไม้ ซึ่งในตำราธรณีวิทยาและภูมิศาสตร์หลายๆ เล่ม นิยามว่า เขาตาปู แสดง ภูมิลักษณ์ของฝั่ง (coastal landform) ที่เรียกว่า โขดทะเล (sea stack) ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเดือดเป็ร้อนแทนราชบัณฑิตหรือครูภาษาไทย แต่การนิยามภูมิลักษณ์ให้ถูกต้อง จะช่วยสื่อถึงที่มาหรือกระบวนการเกิดขึ้นของภูมิลักษณ์นั้นๆ ได้ตรงไปตรงมา และหากนิยามไม่ถูกต้องก็จะทำให้การแปลความทางธรณีวิทยาผิดแผกไป

เขาตาปู สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดพังงา

ในทาง ธรณีวิทยาชายฝั่ง (coastal geology) คำว่า โขดทะเล (sea stack) คือ ภูมิลักษณ์ที่เกิดจากการกัดกร่อนโดยกระแสคลื่นน้ำริมทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกัดกร่อนบริเวณ หัวหาด (head land) ด้วยความที่หัวหาดมักมีลักษณะเป็นแหลมยื่นเข้าไปในทะเล ดังนั้นหัวหาดจึงได้รับผลกระทบจากคลื่นทะเลมากที่สุด คลื่นน้ำจะกัดเซาะโดยพุ่งเข้าด้านข้างแบบอ้อมๆ ทั้งสองข้างของหัวหาด การกัดกร่อนจึงเริ่มขึ้น โดยเริ่มจากน้ำค่อยๆ เจาะแหลมกลายเป็น ถ้ำทะเล (sea cave) ทั้งสองฝั่งของแหลม จากนั้นเมื่อถ้ำเจาะทะลุถึงกันจึงกลายเป็น ซุ้มหินโค้ง (sea arch) และเมื่อหินใต้รูไม่เสถียร เกิดการถล่มลงมาจึง พัฒนากลายเป็น โขดทะเล (sea stack) ตามลำดับ

เพิ่มเติม : หินกัดกร่อนที่ฝั่ง ตะกอนสะสมตัวที่หาด

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: