ดงพญาไฟ คือ อดีตป่าผืนใหญ่ ที่กั้นระหว่าง สระบุรี-ลพบุรี-นครราชสีมา (โคราช) ซึ่งถ้าตีคร่าวๆ หากวิ่งรถบนถนนมิตรภาพ จากสระบุรีไปโคราช ดงพญาไฟก็คือ พื้นที่เริ่มตั้งแต่ อ. มวกเหล็ก ไล่ไปจนถึงเริ่มขึ้นเขาแถวเขื่อนลำตะคอง โดยที่ วังน้ำเขียว ปากช่อง กลางดง แถวนั้นก็ใช่ทั้งหมด เรียกได้ว่าดงพญาไฟ คือพื้นที่ที่ในอดีต ขวางกั้นภาคอีสานกับภาคกลางให้ห่างเหินกัน
เมื่อก่อนดงพญาไฟเป็นป่ารกทึบ มีสัตว์ร้ายชุกชุม อุดมไปด้วยไข้ป่าหรือมาลาเรีย เป็นพื้นที่ต้องห้ามของนักเดินทาง กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้บันทึกไว้ว่า “เส้นทางไปโคราช เป็นร่องทางเส้นเล็กๆ ฝ่ากลางดงพญาไฟ ผ่านเขาหินปูนที่มีต้นไม้หนาทึบ เริ่มจาก เชิงเขาแก่งคอย ผ่านกลางดง ไปออกจากดงที่ปากช่อง เดินได้อย่างเดียว เกวียนไม่ได้”
เข้าลำบาก ออกก็ยาก ว่ากันว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก่อนที่จะมีถนนมิตรภาพในปัจจุบัน หลายชีวิตถูกทิ้งไว้ในนั้น ถึงกับเคยมีคำกล่าวที่ว่า “ใครที่ต้องเดินทางผ่านดงพญาไฟ ให้เตรียมหม้อดินติดตัวไปด้วย สำหรับใส่กระดูกของตัวเองฝากเพื่อนกลับมา” ซึ่งต่อมา สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เคยเสด็จไปโคราชผ่าน ดงพญาไฟ เห็นว่าเย็นดีไม่ร้อน จึงเสนอให้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เปลี่ยนชื่อ ดงพญาไฟ ให้เป็น ดงพญาเย็น คนจะได้หายกลัวกัน
แต่ไหนแต่ไร คนภาคกลางชอบไปอีสาน ผ่านเส้นลพบุรีมากกว่า เช่น 1) สมัยพระนครมาพิมาย จะไปลพบุรี (ละโว้) และ เมืองศรีเทพ ก็นิยมใช้ช่องลงตรง เหวตาบัว ผ่านลำพญากลาง มาทุ่งซับจำปา เห็นได้จากหลักฐานโบราณสถาน ที่พบระหว่างเส้นทางคือ ปรางค์นางผมหอมใกล้บ้านโคกคลี และ บ้านปรางค์น้อย 2) สมัยอยุธยา เจ้าสามพระยาและสมเด็จพระนเรศวรมหาราชใช้เดินทัพไปโจมตีเมืองเขมร ก็เชื่อว่าใช้เส้น เหวตาบัว นี้ และ 3) คาราวานนายฮ้อยอีสาน ก็ต้อนวัวต้อนควาย ลงมาขายยังภาคกลาง ตามเส้นทาง ช่องสำราญ ก่อนจะผ่านลำพญากลาง บ้านโคกคลี ซึ่งภายหลังปี พ.ศ. 2467 กรมปศุสัตว์ก็มาตั้งด่านกักสัตว์ไว้ที่นี่ และยังอยู่จนทุกวันนี้
คำถามชวนสงสัยคือ ทำไมดงพญาไฟ ถึงยังมั่นคงเป็นดงผืนใหญ่ ? ในขณะที่พื้นที่อื่นๆเริ่มถูกเปลี่ยนแปลงให้เป็นที่อยู่อาศัย แล้ว ทำไมถึงไม่ค่อยจะมีใครอยากเดินทางข้ามดงพญาไฟ ? และก็น่าประหลาดใจ ที่เส้นทางเชื่อมภาคอีสานกับภาคกลางของไทย มักไม่ใช้เส้นทางผ่านดงพญาไฟช่วงสระบุรี-โคราช
หลังจากที่ผู้เขียนได้ใช้ เทคนิคภูมิสารสนเทศ (GIS) วิเคราะห์ร่วมกับ ข้อมูลภูมิประเทศดิจิตอล (DEM) เพื่อวิเคราะห์ เส้นทางการเดินทางที่เหมาะสม ในหลายๆ กรณีศึกษางานวิจัย เช่น 1) เส้นทางข้ามคาบสมุทรโบราณ 2) เส้นทางเดินทัพของเจ้าอนุวงค์ ของลาว 3) เส้นทางเกวียนโบราณ และ 4) เส้นทางที่เหมาะสมจากจังหวัดสู่จังหวัดในปัจจุบัน ผลการวิเคราะห์พบข้อชวนสังเกตที่ว่า …
เพิ่มเติม : สืบเส้นทางเกวียนโบราณ จากศาสตร์ ภูมินาม-ภูมิสารสนเทศ
ด้วยหลักคิดทางภูมิศาสตร์ พื้นที่ดงพญาไฟ ไม่เหมาะสำหรับการเดินทางมาแต่ไหนแต่ไร (เส้นทางวิเคราะห์จากเทคนิค GIS ไม่เลือกเดินผ่าน ด้วยเหตุผลความลำบากของภูมิประเทศ) ซึ่งคอมพิวเตอร์ไม่รู้จัก ว่าดงพญาไฟเป็นป่ารกแค่ไหน มีสัตว์ร้ายกี่ตัว หรือมีอาถรรถ์อะไรบ้าง ดังนั้นโดยสรุป ด้วยความที่มีทางเดินอื่นที่ดีกว่า ดงพญาไฟก็ไม่ได้เป็นตัวเลือกแรกในการเดินทางมาตั้งแต่ต้น มีเพียงเหตุผลเดียว ที่คนควรผ่านดงนี้ คือ ระยะทางสั้นลงกว่าเดิม หากตัดข้ามดงพญาไฟ
นี่จึงน่าจะเป็นเหตุผลหลักทางภูมิศาสตร์ ที่ทำให้ ดงพญาไฟ ยังรักษาความเป็นป่าดงผืนใหญ่ได้อย่างยาวนาน กว่าพื้นที่อื่นๆ เพราะวิถีภูมิศาสตร์ เป็นป่าได้โดยไม่ฝืน เพราะวิถีพื้นที่ ไม่ควรเดินผ่านอยู่แล้ว มีทางเดิน (ถึงแม้จะอ้อม) แต่ก็สบายกว่าเยอะ
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth