ลม (Wind) คือ การเคลื่อนท่ีของกระแสอากาศแนวราบขนานกับพื้นผิวโลก สืบเนื่องจากความสามารถในการดูดซับรังสีจากดวงอาทิตย์ของแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน ทำให้อากาศที่อยู่เหนือพื้นที่ดังกล่าวมีอุณหภูมิต่างกัน อากาศเกิดการหด-ขยายแตกต่างกัน อากาศร้อนจะลอยตัวสูงขึ้น ทำให้อากาศเย็นในบริเวณข้างเคียงเข้าไปแทนที่ ทำให้ความกดอากาศต่างกันในแต่ละพื้นที่ เกิดเป็น ความกดอากาศสูง (H) และ หย่อมความกดอากาศต่ำ (L)

พื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ-สูง จะมีความกดอากาศสูง-ต่ำ

ดังนั้น ความแตกต่างของอุณหภูมิและความกดอากาศของพื้นที่สองแห่ง จะทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของอากาศหรือลมโดยลมจะเคลื่อนจาก หย่อมความกดอากาศสูง (H) ไป หย่อมอากาศต่ำ (L) ซึ่งปัจจุบันนักอุตุนิยมวิทยาแบ่งสเกลการหมุนเวียนลมเป็น 3 ระดับ

สเกลช่วงเวลาที่เกิดขึ้น  ขนาดตัวอย่าง 
 ระดับเล็ก (Microscale)วินาที – นาที<1 กิโลเมตร  ลมบ้าหมู ลมกรรโชก
 ระดับกลาง (Mesoscale) นาที – ชั่วโมง1 – 100 กิโลเมตร   ลมบก-ลมทะเล ลมหุบเขา-ลมภูเขา
พายุฝนฟ้าคะนอง ทอร์นาโด
ระดับใหญ่ (Macroscale)  วัน – สัปดาห์ – เดือน – ปี100 – 5000 กิโลเมตร ไต้ฝุ่น ไซโคลน เฮอร์ริเคน
ลมค้า ลมเวสเทอรีส์ ลมมรสุม

เครื่องมือวัดลม

  • ศรลม (wind vane) ใช้สำหรับวัดทิศทางลม มีลักษณะเป็นลูกศรที่มีหางเป็นแผ่นใหญ่กว่าลูกศร เมื่อลมพัดมาปะทะหางลูกศร จะเกิดแรงผลักหัวลูกศรขึ้น หัวลูกศรจึงชี้ไป ในทิศทางที่ลมพัดมา โดยจะมีแป้นบอกทิศทาง เหมือนหน้าปัด มีอักษรบอกทิศหลักสี่ทิศ คือ ทิศเหนือ (N) ทิศตะวันออก (E) ทิศใต้ (S) และทิศตะวันตก (W) หรือแสดงรายละเอียดตลอด 360 องศา
  • อะนิโมมิเตอร์ (anemometer) คือ เครื่องวัดอัตราเร็วลม ประกอบด้วย กรวยดักลม ซึ่งมีลักษณะเป็นถ้วยทำด้วยโลหะเบา 3-4 ถ้วย ติดอยู่ที่ปลายก้านซึ่งหมุนได้อิสระ เมื่อลมพัดปะทะ กรวยจะหมุนไปรอบแกนกลาง จำนวนรอบที่หมุนแสดงถึงความเร็วของลม และอ่านค่าความเร็วของลมได้จากตัวเลขที่หน้าปัดของเครื่อง (หน่วย เมตร/วินาที)
  • แอโรเวน (aerovane) คือ เครื่องมือที่วัดได้ทั้งทิศทางและอัตราเร็วลม มีรูปร่างคล้ายเครื่องบินไม่มีปีก ปลายด้านใบพัดจะชี้ไปทางที่ลมพัดแสดงทิศทางของลม เหมือนกับ ศรลม (wind vane) ส่วนการหมุนของใบพัดแสดงอัตราเร็วลมเหมือนกับ อะนิโมมิเตอร์ (anemometer)
(ซ้าย) ศรลม (ขวา) อะนิโมมิเตอร์ (ล่าง) แอโรเวน

ชนิดของลม (Type of Wind) แบ่งตามเวลาในการเกิดได้ดังนี้

  • ลมประจำปี – ลมชั้นบน ลมพื้นผิว เช่น ลมสินค้า ลมตะวันตก ลมตะวันออก
  • ลมประจำฤดู – ลมมรสุมฤดูร้อน ลมมรสุมฤดูหนาว
  • ลมประจำเวลา – ลมบก ลมทะเล ลมภูเขา ลมหุบเขา ลมพายุ
  • ลมประจำถิ่น – ลมพัดลงลาดเขา ลมชีนุก ลมซานตาแอนนา ลมเฟิห์น

ลมประจำปี

เพิ่มเติม : ลมและการหมุนเวียนของลม

1) ลมชั้นบน

ลมชั้นบน (geostrophic wind) คือ ลมที่พัดในชั้นบรรยากาศที่ไม่มีความเสียดทาน โดยทั่วไปมีความสูงมากกว่า 1,000 เมตร ขึ้นไป และมีทิศทางของการเคลื่อนที่ของลมขนานกับ เส้นชั้นความดันอากาศเท่า หรือ เส้นไอโซบาร์ (isobar) บริเวณที่มีความดันอากาศต่ำ กลุ่มอากาศจะหมุนวนเข้าสู่ศูนย์กลางแล้วลอยขึ้น จากนั้นจะ แผ่กระจายออก (divergence) ขณะที่บริเวณที่มีความดันอากาศสูง กลุ่มอากาศจะจมลงแล้วหมุนทวนเข็มนาฬิกาแล้วแผ่กระจายออกไปรอบด้าน กลุ่มอากาศตอนบนจะ พุ่งเข้ามารวมกัน (convergence) แล้วจมลงสู่บริเวณที่มีความดันอากาศสูง

รูปแบบการเคลื่อนที่ระหว่างลมพื้นผิวและลมชั้นบน

2) ลมผิวพื้น

ลมผิวพื้น (surface wind) คือ ลมที่พัดจากบริเวณผิวพื้นไปยังความสูงประมาณ 1 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการคลุกเคล้าของอากาศ และมีแรงฝืดที่เกิดจากการปะทะกับสิ่งกีดขวางร่วมกระทำด้วย ลมผิวพื้นจะไม่พัดขนานกับ เส้นไอโซบาร์ แต่พัดข้ามไอโซบาร์จากความกดอากาศสูง H ไปยังความกดอากาศต่ำ L และท่ามุมกับไอโซบาร์ เช่น ลมสินค้า ลมตะวันตกแถบศูนย์สูตร ลมตะวันออกจากขั้วโลก

ภาพตัดขวางแสดงการเคลื่อนที่ของลมในแนวดิ่งจากพื้นผิวโลก แนวเส้นลูกศรด้านบน คือ ลมชั้นบน (geostrophic wind) ส่วนแนวเส้นลูกศรด้านล่าง คือ ลมผิวพื้น (surface wind) ในขณะที่ จุดสีดำ คือ ลมกรด (jet stream) ที่วิ่งขวางล้อไปกับแนวละติจูดของโลก

3) ลมกรด

ลมกรด (Jet Stream) คือ ลมช่วงความสูง 5-15 กิโลเมตร (รอยต่อชั้นโทรโพสเฟียร์-ชั้นสเตรโตสเฟียร์) มักเกิดละติจูด 30-40o เคลื่อนที่แบบโค้งตวัด โดยซีกโลกเหนือ ลม หนา x กว้าง x ยาว 10 x 100 x 1,000 กิโลเมตร ที่ซีกโลกเหนือ ลมกรดจะเคลื่อนไปทางตะวันออกตามแนวปะทะอากาศที่เกิดขึ้นบริเวณผิวพื้น ในขณะที่ซีกโลกใต้จะเคลื่อนไปทางตะวันตก และแนวของกระแสลมกรดจะเป็นแนวราบไม่ชัดเจนเหมือนซีกโลกเหนือ โดยมีความเร็วลมประมาณ 200-400 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลมจะพัดแรงที่สุดที่แกนกลางลม และลดลงเมื่อถัดจากแกนกลาง ซึ่งลมกรดแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. ลมกรดกึ่งโซนร้อน (Subtropical Jet) ละติจูด 30oN และ 30oS อยู่เหนือความกดอากาศสูงกึ่งโซนร้อน 13 กิโลเมตร
  2. ลมกรดขั้วโลก (Polar Jet) ละติจูด 60oN และ 60oS อยู่เหนือแนวปะทะอากาศขั้วโลก 10 กิโลเมตร
แนวการเคลื่อนที่ของลมกรดบริเวณต่างๆ

กระแสลมกรดอันตรายมากต่อการคมนาคมทางอากาศ โดยเฉพาะเครื่องบินขนาดใหญ่ทำการบินในระดับสูงๆ หากเครื่องบินบินเข้าใกล้แนวลมกรดจะพบกับสภาพอากาศที่ปั่นป่วนทั้งในแนวตั้งและแนวนอนและมีลมเฉือนในระดับความเร็วลมที่รุนแรง ดังนั้นก่อนทำการบินทุกครั้ง นักบินจะต้องศึกษาตำแหน่งและความรุนแรงของลมในแนวของกระแสลมกรดให้ละเอียด เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดอันตรายจากกระแสลมกรดให้น้อยลง

เพิ่มเติม : เมทิโอสึนามิ : สึนามิที่เกิดจากกระบวนการทางอุตุนิยมวิทยา

ลม ประจำฤดู

ลมมรสุม (monsoon) หมายถึง ลมประจำฤดูที่พัดสม่ำเสมอและทิศทางแน่นอน และจะเปลี่ยนทิศทางตามฤดูกาล เกิดจากความต่างระหว่างอุณหภูมิของพื้นดินและพื้นน้ำในแต่ละฤดู โดยที่ 1) ฤดูหนาว อุณหภูมิบนพื้นทวีปโดยภาพรวมจะเย็นกว่าน้ำในมหาสมุทร (ที่อยู่ใกล้เคียง) มวลอากาศเหนือพื้นน้ำอุณหภูมิสูงลอยขึ้น ทำให้มวลอากาศเย็นและแห้งในพื้นทวีปไหลไปแทนที่ เกิดลมเย็นๆ แห้งๆ พัดออกจากทวีป และ 2) ฤดูร้อน อุณหภูมิพื้นทวีปร้อนกว่า น้ำในมหาสมุทร ลมที่มีความชื้นสูงจึงพัดจากมหาสมุทรเข้าสู่พื้นทวีป มักทำให้เกิดฝนเมื่อลมพัดเข้าสู่พื้นทวีป ซึ่งลมมรสุมที่เกิดในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มี 2 แนวลม จาก 2 ฤดูกาล คือ

  1. ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ลมมรสุมฤดูหนาว เป็นลมหนาวและแห้ง พัดลงมาจาก โดยในช่วงปลายตุลาคม-กุมภาพันธ์ ดวงอาทิตย์ส่องแสงตรงกับพื้นมหาสมุทร อากาศเหนือพื้นน้ำมีอุณหภูมิสูง อากาศจึงลอยตัวสูงขึ้น ขณะที่อากาศเย็นและแห้งกว่าบริเวณทวีป (จีนและไซบีเรีย) เคลื่อนที่ออกไปแทนที่อากาศร้อน ผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมาจนถึงบริเวณอ่าวไทยตอนใต้
  2. ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หรือ ลมมรสุมฤดูร้อน พัดจากมหาสมุทรอินเดียพาดผ่านอ่าวไทย เริ่มพัดในช่วงกลางพฤษภาคม-ตุลาคม โดยเมื่อขึ้นฝั่งประเทศไทยจะหอบไอน้ำจากมหาสมุทรมาด้วย ทำให้มีฝนตกชุก โดยเฉพาะภาคใต้ของไทย ถือเป็นช่วงฤดูฝนในประเทศไทย
แผนที่ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แสดงแนวคิดการเกิดลมมรสุมในแต่ละฤดูกาล

ลม ประจำเวลา

1) ลมบกและลมทะเล

ลมบกและลมทะเล (land breeze และ sea breeze) เกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิประจำวันระหว่างพื้นดินและพื้นน้ำในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง

กลไกการเกิดลมบกและลมทะเล เหมือนกับ การเกิดลมมรสุม (ความต่างอุณภูมิระหว่างแผ่นดินและน้ำ) เพียงแต่ลมมรสุม เปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาค และเปลี่ยนรายฤดู ส่วนลมบกลมทะเล เปลี่ยนในพื้นที่ริมฝั่งและรายวัน

  • ลมบก (land breeze) เกิดช่วงกลางคืน อุณหภูมิพื้นน้ำสูงกว่าพื้นดิน อากาศเหนือพื้นน้ำลอยตัวขึ้น อากาศเหนือพื้นดินจึงไหลเข้าแทนที่ เกิดลมพัดจากฝั่งไปสู่ทะเล ซึ่งลมบกจะมีความแรงของลมอ่อนกว่าลมทะเล จึงไม่สามารถพัดลงไปในทะเลได้ไกลมากนัก อย่างมากก็ออกจากฝั่งไปประมาณ 8-10 กิโลเมตร
  • ลมทะเล (sea breeze) เกิดช่วงกลางวัน อุณหภูมิพื้นดินสูงกว่าอุณหภูมิพื้นน้ำ อากาศเหนือพื้นดินลอยตัวขึ้น อากาศเหนือพื้นน้ำไหลเข้าไปแทนที่ เกิดลม (เหนียวๆ เหนอะๆ) พัดจากทะเลเข้าสู่ฝั่ง โดยลมทะเลสามารถพัดเข้าไปในฝั่งหรือแผ่นดินได้ไกลถึง 16-48 กิโลเมตร ซึ่งความแรงของลมจะลดลงเมื่อเข้าถึงฝั่ง

พื้นดิน ซึมซับและคลายความร้อนได้ดีกว่า น้ำ

กลางวัน = อุณหภูมิ ดิน > น้ำ

กลางคืน = อุณหภูมิ ดิน < น้ำ

กระบวนการเกิดลมบกและลมทะเล (ที่มา : http://buzzar-brandi.blogspot.com)

เกร็ดความรู้เรื่องลมมะเล : 1) ลมทะเลช่วยให้อุณหภูมิบนฝั่งลดลง เช่น ช่วงเช้าก่อนที่ลมทะเลจะพัดเข้าไปพื้นดินมีอุณหภูมิ 35οC เมื่อลมทะเลพัดเข้ามาอุณหภูมิลดลงเป็น 22 oC ในช่วงบ่าย 2) ในแถบโซนร้อน (tropical zone) ความต่างระหว่างอุณหภูมิของแผ่นดินกับทะเลเด่นชัดมาก ลมทะเลจึงมีแนวโน้มแรงขึ้น ยิ่งอากาศเหนือแผ่นดินชื้นและไม่เสถียร หลังจากลมทะเลเริ่มพัดขึ้นบก ก็อาจเกิดพายุฝนฟ้าคะนองได้ นอกจากนี้ 3) บริเวณทะเลสาบใหญ่ๆ กระบวนการแบบลมทะเลก็พอจะเกิดได้เหมือนกัน แต่ลมจะพัดเบากว่าลมทะเล เรียก ลมทะเลสาบ (lake breeze)

2) ลมภูเขาและลมหุบเขา

ลมภูเขาและลมหุบเขา (mountain breeze และ valley breeze) เกิดขึ้นประจําวัน และเกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิของมวลอากาศ เช่นเดียวกับลมบกและลมทะเล

  • ลมหุบเขา (valley-mountain breeze) พัดจากหุบเขาขึ้นที่สูง (สันเขา) โดยในเวลากลางวัน อากาศตามสันเขาร้อน เพราะได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์เต็มที่ ส่วนอากาศในหุบเขาเย็นกว่าจึงไหลขึ้นสูงไปแทนที่
  • ลมภูเขา (mountain-valley breeze) เกิดในเวลากลางคืน อากาศตามภูเขาหรือสันเขาจะคลายความร้อนได้ดีและเย็นลงอย่างรวดเร็ว เกิดอากาศเย็นแบะหนัก ไหลลงไปตามลาดเขาสู่หุบเขาหรือร่องเขาเบื้องล่าง
(บน) กระบวนการเกิดลมภูเขาและลมหุบเขา (ล่าง) ภาพจริงลมภูเขาในยามวิกาล ที่ลมเย็น (กว่า) บนเทือกกำลังพัดลงมาสู่ร่องเขา

ลมประจำถิ่น

ลมประจำถิ่น คือ เป็นลมที่เกิดขึ้นเฉพาะภายในท้องถิ่นใดๆ อันเนื่องมาจากอิทธิพลของภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยลมท้องถิ่นที่ดังๆ เป็นที่รู้จักกันในโลก ก็จะมีประมาณนี้

1) ลมพัดลงลาดเขา

ลมพัดลงลาดเขา (Katabatic wind) ซึ่ง Katabatic เป็นคำภาษากรีกโบราณ ที่แปลว่า ลงไปสู่ที่ต่ำ (go down) ดังนั้น ลมพัดลงลาดเขา (Katabatic wind) จึงเป็นลมที่พัดอยจากเขาลงสู่หุบเขาด้านล่าง คล้ายกับ ลมภูเขา (mountain-valley breeze) เพียงแต่จะมีกำแรงกว่า สาเหตุการเกิดจากลมเย็นที่มีน้ำหนักมากเคลื่อนที่จากที่สูงลงสู่ที่ต่ำภายใต้แรงดึงดูดของโลก ซึ่งในฤดูหนาว พื้นที่สูงภายในทวีปจะมีหิมะปกคลุม และในช่วงกลางคืน อากาศเหนือพื้นที่เย็นลงมาก ทำให้เกิดเป็นเขตความกดอากาศสูง (H) ตามขอบที่ราบสูง บวกกับน้ำหนักของอากาศเย็น ที่อยากจะจมตัวลงมาตามลาดเขา ทำให้มวลอากาศหรือลมไหลลงมาสู่ที่ต่ำดเานล่าง บางครั้งเรียกว่า ลมไหล (drainage wind) บางพื้นที่มีภูเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ อยู่ชิดกับฝั่งทะเล ลมลงลาดเขาอาจช่วยเสริมำให้ลมบก ที่ก็เกิดในเวลากลางคืนเหมือนกัน มีความแรงขึ้น พัดออกจากฝั่งไปได้ไกลขึ้น

แบบจำลองการเกิด (ซ้าย) ลมพัดลงลาดเขา (ขวา) ลมพัดขึ้นภูเขา (ล่าง) ภาพถ่ายดาวเทียมและสภาพจริงในธรรมชาติของลมพัดลงลาดเขา บริเวณริมฝั่งทะเล

2) ลมพัดขึ้นภูเขา

ลมพัดขึ้นภูเขา (Anabatic wind) ซึ่ง Anabatic เป็นคำภาษากรีกโบราณ ที่แปลว่า ขึ้นสู่ที่สูง (go up) ดังนั้น ลมพัดขึ้นภูเขา (Anabatic wind) จึงเป็นลมที่ค่อยๆ พัดขึ้นไปบนลาดเนินหรือภูเขา โดนเกิดในสภาพแวดล้อมในช่วงกลางวันที่ไม่มีเมฆปกคลุม ดวงอาทิตย์แผ่รังสีให้ความร้อนบนภูเขาหรือที่สูงมากกว่าที่ราบด้านล่าง มวลอากาศที่เย็นกว่าที่ด้านล่างจึงไหลขึ้นไปแทนที่อากาศที่ร้อนกว่าที่ด้านบน

ลมพัดขึ้นภูเขา เกิดในกระบวนการที่ตรงกันข้ามกับ ลมพัดลงลาดเขา แต่จะมีกำลังอ่อนกว่ามาก เพราะมวลอากาศเย็นและหนักที่อยู่ด้านล่าง จะต้องเดินทางสวนสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลก อีกทั้งเมื่อขึ้นไปในระดับที่สูงก็จะได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์มากขึ้น ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งลมพัดขึ้นภูเขาจึงอาจจะหยุดพัด เมื่อถึงที่ความสูงระดับหนึ่ง

3) ลมชีนุก . ลมเฟิห์น . ลมซอนดา

ลมชีนุก (Chinook wind) เป็นลมที่เกิดในพื้นที่ทางด้านหลังเขา โดยในพื้นที่ที่มีความกดอากาศแตกต่างกันระว่างสองฟากฝั่งของแนวเทือกเขา ลมจะพัดออกจากด้านความกดอากาศสูง ข้ามเขาไปยังพื้นที่ความกดอากาศต่ำ ซึ่งขาขึ้นภูเขามวลอากาศปกติที่มีความชื้นอยู่พอประมาณยกตัว ไอน้ำที่อยู่ในมวลอากาศจะควบแน่นกลายเป็นเมฆ ทำให้บริเวณหน้าเขาเกิดฝนตกได้บ่อยๆ และหลังจากนั้นเมื่อลมแห้งที่เหลือ พัดจากยอดเขาลงมาตามลาดเขาอีกฝั่ง (ซึ่งเราจะคุ้นกับการเรียกว่า พื้นที่เขตเงาฝน (rain shadow zone)) อุณภูมิของลมจะเพิ่มสูงขึ้นตาม อัตราอะเดียบาติค (adiabatic lapse rate) ลมชีนุกจึงเป็นลมร้อนและแห้ง ความแรงลมอยู่ในขั้นปานกลางถึงแรงจัด

พื้นที่ที่มักเกิดลมชีนุก ได้แก่ แถบเทือกเขาร๊อคกี้ (Rocky) ฝั่งตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา ทอดยาวขึ้นไปจนถึงฝั่งตะวันตกของประเทศแคนนาดา ซึ่งเรียกว่า ลมชีนุก (Chinook wind) ส่วนในกรณีของลมที่เกิดแบบนี้ในแถบฝั่งยุโรป เช่น แถบเทือกเขาแอลป์ (Alps) จะเรียกว่า ลมเฟิห์น (Forhn wind) หรือหากเกิดใน แถบอาเจนตินา หลัง แถบเทือกเขาแอนดีส (Andes) เรียกว่า ลมซอนดา (Zonda wind)

บางครั้งลมจำพวกนี้เกิดขึ้นในพื้นที่หนาวหรือพื้นที่ที่มีธารน้ำแข็งปกคลุมอยู่ แต่เนื่องจากเป็นลมที่มีมวลอากาศที่ร้อน จึงสามารถละลายน้ำแข็งหรือทำให้หิมะละลายได้ จนฝรั่งบางคนเรียกว่า ตัวกินหิมะ (snow eater)

หลักการเกิดลมชีนุก แถบเทือกเขาร๊อคกี้ (Rocky) ฝั่งตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา

4) ลมซานตาแอนนา

ลมซานตาแอนนา (Santa Anna wind) ลมนี้เกิดขึ้นในเขตความกดอากาศสูงบริเวณ ที่แอ่งราบและเขาสูง (basin and range) ฝั่งตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เรียกเป็นชื่อเฉพาะว่า เกรตเบซิน (Great Basin) โดยลมจะพัดจากทางตะวันออก หรือตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยความเร็วสูง พาดผ่านแนวเทือกเขาและหุบเขาต่างๆ รวมทั้งทะเลทรายที่แห้งแล้ง ภายในพื้นที่ ลมซานตาแอนนา จึงเป็นลมร้อนและแห้ง ซึ่งเมื่อพัดผ่านบริเวณใดจะก่อให้เกิด ความเสียหายแก่พืชผลบริเวณนั้น

พื้นที่แอ่งราบและเขาสูง (basin and range) ฝั่งตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมักได้รับผลกระทบจากลมที่พัดเข้ามาทำให้เกิดลมซานตาแอนนาที่แห้งและร้อน

5) ลมทะเลทราย

ลมทะเลทราย (Desert Winds) เป็นลมท้องถิ่นเกิดขึ้นในบริเวณทะเลทราย เวลาเกิดจะมาพร้อมกับพายุฝุ่นหรือพายุทราย

พายุทรายในมุมองต่างๆ
แผนที่แสดงการกระจายตัวของ ดินลมหอบ (loess) และลักษณะเฉพาะของดินลมหอบ ที่มักถูกพัดพาไปกลับลมทะเลทราย

ลมประจำถิ่นในประเทศไทย

ลมที่คนไทยรู้จักกันมาตั้งแต่โบราณ และใช้เรียกชื่อกันอยู่ตามชนบททั่วไป มีดังนี้

ฤดูหนาว

  • ลมว่าว ลมเย็นที่พัดจากทางเหนือมาตามลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปยังทิศใต้ พัดระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน (ต้นฤดูหนาว) บางที่เรียก ลมข้าวเบา เพราะเป็นเวลาเก็บเกี่ยวข้าวเบาได้พอดี
  • ลมตะเภา หรือ ลมสำเภา พัดจากอ่าวไทยขึ้นเหนือไปตามที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน (ปลายฤดูหนาว-ต้นฤดูร้อน) ลมตะเภาจะพัดแรงในเวลากลางวันเนื่องจากพัดมาสมทบกับลมทะเล ส่วนกลางคืนจะพัดอ่อน เพราะมีลมบกต้าน

หลายคนมักเข้าใจผิดว่าลมตะเภาเป็นลมว่าว เพราะในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนที่ลมตะเภากำลังพัดนั้น วัฒนธรรมของคนไทยนิยมเล่นว่าว

ฤดูร้อน

  • ลมอุกา พัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทิศตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน (ต้นฤดูร้อน)
  • ลมบ้าหมู เป็นลมหมุนเป็นวงขึ้นไปในอากาศ เกิดบนบก โดยมีผงฝุ่นและเศษสิ่งของต่างๆ ปลิวหมุนขึ้นไปด้วย มักเกิดในฤดูร้อน
  • ลมงวงช้าง นาคเล่นน้ำ คล้ายกับลมบ้าหมู แต่มีขนาดใหญ่กว่าและเกิดในทะเล เป็นลมหมุนวนเหมือนงวงช้างห้อยลงมาจากเมฆฝน ลงมาจรดหรือแตะผิวน้ำทะเล ทางอุตุนิยมวิทยา เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า วอเตอร์สเป๊าท์ (water spout)

ฤดูฝน

  • ลมพัทยา พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปตะวันออกเฉียงเหนือ ในเดือนพฤษภาคม (ต้นฤดูฝน) ซึ่งก็คือลมเดียวกันกับช่วงเริ่มต้น ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
  • ลมตะโก้ พัดจากตะวันตกเฉียงเหนือไปตะวันออกเฉียงใต้ ในเดือนตุลาคม (ปลายฤดูฝน)
  • ลมสลาตัน ลมเพชรหึง พัดจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงปลายฤดูฝน (ฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้)
สรุปทิศทางลมประจำถิ่นในประเทศไทย

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: