แผ่นดินไหว

แบบฝึกหัด 3 พฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหว

วัตถุประสงค์การเรียนรู้

  • เพื่อเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความถี่ของการเกิดแผ่นดินไหวและขนาดแผ่นดินไหว
  • เพื่อเข้าใจวิธีการประเมินพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวจากฐานข้อมูลแผ่นดินไหว
  • เพื่อทราบพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวของแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวสำคัญในภูมิภาคอาเซียน

เนื้อหา

  • ความถี่-ขนาดแผ่นดินไหว (Frequency-Magnitude)
  • แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุด (Maximum Magnitude)
  • คาบอบุติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหว (Return Period)
  • โอกาสเกิดแผ่นดินไหว (Probability of Occurrence)

ในแต่ละพื้นที่ย่อยของแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวมีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวเฉพาะตัว ซึ่งสามารถประเมินได้จากฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่มีความสมบูรณ์และสื่อถึงพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวที่สัมพันธ์กับกระบวนการทางธรณีแปรสัณฐานอย่างแท้จริง โดยผลการประเมินแสดงอยู่ในรูปแบบของ 1) แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุด 2) คาบอบุติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหว และ 3) โอกาสเกิดแผ่นดินไหว

ขอให้เมามันส์ไปกับแรงสั่นของแผ่นดินไหวนะครับ ?

1) สร้างกราฟแสดงความสัมพันธ์ FMD จากฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่กำหนดให้ในตาราง และตอบคำถามต่อไปนี้

จำนวนแผ่นดินไหวสะสมของแผ่นดินไหวขนาด ≥ M บันทึกในช่วงปี 100 ปีกราฟแสดงความสัมพันธ์ FMD
ขนาดแผ่นดินไหว (Mw) จำนวนแผ่นดินไหว (N) 1.0 1584,893 2.0 1584,893 3.0 630,957 4.0 79,433 5.0 10,000 6.0 1,259 7.0 158 8.0 20

1.1) ค่า a ค่า b และค่า Mc มีค่าเท่าใด

1.2) แผ่นดินไหวขนาด 9.0 Mw มีโอกาสเกิดขึ้นหรือไม่ และมีคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวเท่าใด

2) อธิบายข้อจำกัดของการประเมินพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวโดยใช้สมการความสัมพันธ์ FMD (ศึกษาเพิ่มเติมจาก Youngs และ Coppersmith (1985))

คำสำคัญ: ความสัมพันธ์ระหว่างความถี่-ขนาดแผ่นดินไหวไม่เป็นเส้นตรง; มีโอกาสประเมินขนาดแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นได้เกิน 10.0 ; ข้อมูลธรณีวิทยาแผ่นดินไหว

3) กราฟแสดงโอกาส (หน่วย %) เกิดแผ่นดินไหวขนาดต่างๆ ในอีก 25 ปี 50 ปี และ 100 ปี ในจังหวัดลำปางและจังหวัดแพร่ ภาคเหนือของประเทศไทย (Pailoplee และ Charusiri, 2015a) ตอบคำถามต่อไปนี้

(ก) จังหวัดลำปาง(ข) จังหวัดแพร่

3.1) ขนาดแผ่นดินไหวที่มีโอกาสเกิด 40% ในอีก 25 ปี 50 ปี และ 100 ปี ของจังหวัดลำปาง

3.2) โอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0 Mw และ 6.0 Mw ในอีก 50 ปี ของจังหวัดแพร่

3.3) จากกราฟแสดงโอกาสเกิดแผ่นดินไหวของทั้ง 2 จังหวัดดังกล่าว จังหวัดใดมีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวสูงกว่า

แนวทางการตอบคำถาม

1) สร้างกราฟแสดงความสัมพันธ์ FMD จากฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่กำหนดให้ในตาราง และตอบคำถามต่อไปนี้

จำนวนแผ่นดินไหวสะสมของแผ่นดินไหวขนาด ≥ M บันทึกในช่วงปี 100 ปีกราฟแสดงความสัมพันธ์ FMD
ขนาดแผ่นดินไหว (Mw) จำนวนแผ่นดินไหว (N) 1.0 1584,893 2.0 1584,893 3.0 630,957 4.0 79,433 5.0 10,000 6.0 1,259 7.0 158 8.0 20

1.1) ค่า a ค่า b และค่า Mc มีค่าเท่าใด

a = 8.5 ค่า b = 0.90 และค่า Mc = 3.0

1.2) แผ่นดินไหวขนาด 9.0 Mw มีโอกาสเกิดขึ้นหรือไม่ และมีคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวเท่าใด

แผ่นดินไหวขนาด 9.0 Mw มีโอกาสเกิดขึ้นด้วยคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหว 33 ปี

2) อธิบายข้อจำกัดของการประเมินพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวโดยใช้สมการความสัมพันธ์ FMD (ศึกษาเพิ่มเติมจาก Youngs และ Coppersmith (1985))

ในทางปฏิบัติการประเมินพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวจากการวิเคราะห์สมการความสัมพันธ์ FMD ใช้ฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่ได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวเป็นหลัก แต่เนื่องจากในปัจจุบันมีการศึกษาด้านธรณีวิทยาแผ่นดินไหวมากขึ้น และจากผลการศึกษาบ่งชี้ว่าข้อมูลแผ่นดินไหวที่ได้จากการตรวจวัดด้วยเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวไม่แสดงพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวของแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวทั้งหมดอย่างแท้จริง เนื่องจาก

1) ในบางกรณีหลักฐานทางธรณีวิทยาแผ่นดินไหวบ่งชี้ว่าเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด ≥ 7.0 Mw โดยประมาณ แต่ไม่มีการบันทึกไว้จากทั้งบันทึกประวัติศาสตร์หรือจากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหว ทั้งนี้เนื่องจากโดยธรรมชาติแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มักจะมีคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวยาวนาน เช่น 1,000-10,000 ปี ซึ่งช่วงเวลาของข้อมูลแผ่นดินไหวที่บันทึกไว้ทางประวัติศาสตร์หรือข้อมูลแผ่นดินไหวจากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหว ไม่ครอบคลุมคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ดังกล่าว ทำให้การประเมินแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เป็นการพยากรณ์ไปข้างหน้า (extrapolation) ของข้อมูลแผ่นดินไหวเท่าที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหว ทำให้ในบางกรณีประเมินว่ามีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 10.0-15.0 ได้ (รูป ก) ซึ่งเป็นการประเมินสูงกว่าความเป็นจริงของพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวที่สัมพันธ์กับกระบวนการทางธรณีแปรสัณฐาน และ

2) จากการศึกษาด้านธรณีวิทยาแผ่นดินไหวในรายละเอียดพบว่าความถี่หรือคาบอุบัติซ้ำการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ (≥ 7.0 Mw โดยประมาณ) ไม่สอดคล้องกับสมการความสัมพันธ์ FMD (Gutenberg และ Richter, 1944) ดังนั้นการประเมินพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวโดยใช้สมการความสัมพันธ์ FMD เพียงอย่างเดียวจึงมีโอกาสคลาดเคลื่อนโดยเฉพาะในกรณีของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ดังนั้น Youngs และ Coppersmith (1985) จึงนำเสนอแบบจำลองและสมการความสัมพันธ์ในการประเมินพฤติกรรมหรือโอกาสเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละขนาด โดยใช้ฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวและบันทึกประวัติศาสตร์ร่วมกับข้อมูลธรณีวิทยาแผ่นดินไหว เช่น ข้อมูลอัตราเลื่อนตัวของรอยเลื่อนและพื้นที่ปริแตกของรอยเลื่อน เรียกว่า แบบจำลองแผ่นดินไหวลักษณะเฉพาะ (characteristic earthquake model) ดังแสดงในรูป ข ซึ่งมีความถูกต้องแม่นยำสูงเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลแผ่นดินไหวที่ได้บันทึกไว้

แบบจำลองการประเมินพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหว (ก) แบบจำลองจากสมการความสัมพันธ์ FMD (ข) แบบจำลองแผ่นดินไหวลักษณะเฉพาะ โดยใช้ฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวและข้อมูลธรณีวิทยาแผ่นดินไหว

คำสำคัญ: ความสัมพันธ์ระหว่างความถี่-ขนาดแผ่นดินไหวไม่เป็นเส้นตรง; มีโอกาสประเมินขนาดแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นได้เกิน 10.0 ; ข้อมูลธรณีวิทยาแผ่นดินไหว

3) กราฟแสดงโอกาส (หน่วย %) เกิดแผ่นดินไหวขนาดต่างๆ ในอีก 25 ปี 50 ปี และ 100 ปี ในจังหวัดลำปางและจังหวัดแพร่ ภาคเหนือของประเทศไทย (Pailoplee และ Charusiri, 2015a) ตอบคำถามต่อไปนี้

(ก) จังหวัดลำปาง(ข) จังหวัดแพร่

3.1) ขนาดแผ่นดินไหวที่มีโอกาส 40% ในอีก 25 ปี 50 ปี และ 100 ปี ของจังหวัดลำปาง

จังหวัดลำปางมีโอกาส 40% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุด 5.2 Mw 5.8 Mw และ 6.4 Mw ในอีก 25 ปี 50 ปี และ 100 ปี ตามลำดับ

3.2) โอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0 Mw และ 6.0 Mw ในอีก 50 ปี ของจังหวัดแพร่

ในอีก 50 ปี จังหวัดลำปางมีโอกาส 70% และ 16% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0 Mw และ 6.0 Mw

3.3) จากกราฟแสดงโอกาสเกิดแผ่นดินไหวของทั้ง 2 จังหวัดดังกล่าว จังหวัดใดมีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวสูงกว่า

จังหวัดลำปางมีพฤติกรรมการเกิดแผ่นดินไหวสูงกว่าจังหวัดแพร่

ค้นคว้าเพิ่มเติม

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: