
ภาพปก : www.fridayvacation.com
หินสามวาฬ – ตกลง บึงกาฬมีวาฬกี่ตัว ? แล้วใครปั้นวาฬ ?
หินสามวาฬ ภูสิงห์ บึงกาฬ ต. โคกก่อง อ. เมืองบึงกาฬ จ. บึงกาฬ https://goo.gl/maps/sU42QRRt9aRvmKx98
หินสามวาฬ เป็นสถานที่โด่งดังของจังหวัดบึงกาฬในปัจจุบัน ด้วยภูมิทัศน์ที่สวยงามบนเทือกเขาสูง ที่สามารถมองเห็นแม่น้ำโขงแบบพาโนราม่าได้ชัดเจนแบบสุดลูกหูลูกตา อีกทั้งยังมีมุมถ่ายรูปสวยๆ เอื้อให้นาย-นางแบบขึ้นไปโบกมือโบกไม้ ถ่ายรูปบนหลังวาฬได้อย่างอลังฯ หินสามวาฬ จึงขึ้นแท่น 1 ในสถานที่ท่องเที่ยวอันซีนต้องห้ามพลาดของประเทศไทย ได้อย่างไม่ยากเย็น ในทางภูมิศาสตร์ หินสามวาฬเป็นส่วนหนึ่งของแนวเทือกเขาที่วางตัวทอดยาวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งคนในแถบนั้นเรียกว่า #ภูสิงห์
พบฝูงวาฬกลางป่าภูสิงห์ – ซึ่งถ้ามองเฉพาะภาพถ่ายที่เผยแพร่ออกมาตามสื่อต่างๆ หลายคนอาจจะคิดว่า แถบบึงกาฬน่าจะมีวาฬ พ่อ-แม่-ลูก อยู่แค่ 3 ตัว ที่กำลังว่ายโจนทะยานไปไหนซักที่ แต่ถ้าได้มองมุมสูงจากภาพถ่ายดาวเทียม ดูดีๆ ก็จะพบว่ามีวาฬที่แหวกว่ายอยู่ใน (มหาสมุทร) ภูสิงห์ อีกเป็นร้อยๆ ตัว โดยว่ายล่วงหน้าวาฬทั้ง 3 ตัว ไปทางตะวันออกเฉียงใต้
นี่ก็วาฬอีกฝูง ที่ว่ายอยู่บนภูสิงห์ – ในแง่ของกระบวนการทางธรณีวิทยา หากพิจารณาจากภาพถ่ายดาวเทียมประเมินว่าหินสามวาฬรวมทั้งวาฬตัวอื่นๆ นั้นเกิดจากแนว #รอยแตก (fracture) ของหินทรายอย่างเป็นระบบ วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดทั้วพื้น ซึ่งก็สอดคล้องกับการวางตัวของภูสิงห์ รวมทั้งแนวเทือกเขาต่างๆ ที่ทอดยาวอยู่ในประเทศลาว การเกิดแนวรอยแตกอย่างเป็นระบบแบบนี้ส่งผลให้กระบวนการผุพังบริเวณขอบรอยแตกของหินผุได้ง่ายขึ้น มีการลบเหลี่ยมมุมของหิน จนทำให้หินในแต่ละบล็อกมีความโค้งมนมากขึ้น เหมือนกับแท่งหินมนๆ หรือตัวของหวานที่ทอดยาววางตัวตามแนวรอยแตกเหล่านั้น
แนวการวางตัวของภูสิงห์กับแนวอื่นๆ – ณ ที่นี้ จึงไม่เคยมีวาฬมาเสียชีวิตและแข็งตัวกลายเป็นหิน แต่สิ่งที่พบเห็นคือการรังสรรค์ทางธรณีวิทยาของธรรมชาติซึ่งประกอบไปด้วย 1) แรงทางธรณีแปรสัณฐานที่ทำให้เกิดแนวรอยแตกเป็นบริเวณกว้าง บวกกับ 2) กระบวนการผุพังที่ช่วยลบคมรอยแตกให้มนขึ้น

ผ่าน บึงกาฬ อย่าลืมแวะไปหา วาฬ กันนะครับ 😀
รอยแยก (fracture) หมายถึง โครงสร้างทางธรณีวิทยาที่มีแรงเค้นทางธรณีแปรสัณฐานเข้ามากระทำกับวัสดุหรือหินที่มีคุณสมบัติแบบแข็งเปราะ ทำให้เกิดการปริแตกของหินโดยไม่มีการเคลื่อนที่ของหินระหว่างรอยแตก บางครั้งหินเกิดเป็นรอยแยกขนาดเล็ก หรือ รอยแตก (joint) ซึ่งเกิดการแตกอย่างเป็นระบบ เรียกว่า ระบบรอยแตก (joint set) โดยรอยแตกเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากแรงบีบอัดที่ไม่เท่ากันในด้านต่างๆ ของหิน ทำให้หินเกิดรอยแตกในระนาบที่ตั้งฉากกับแนวแรงที่กระทำสูงที่สุด


เพิ่มเติม : รอยแยกและรอยเลื่อนของหิน
แถม : หินนาคา ภูลังกา กับธรณีวิทยาน่ารู้
https://www.itravelroom.com/content/8537/10-สถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับหินในไทย-ที่ธรรมชาติรังสรรค์อย่างลงตัว
. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth