วิจัย

EP. 4 : ลีลาการเขียนรูปเล่ม

การเขียนรายงานวิจัย (research writing) หรือ วิทยานิพนธ์ (thesis) เป็นอีกหนึ่งบทบาทที่นักวิจัยจะต้องทำหลังจากทำวิจัยเสร็จสิ้น โดยเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยออกมาในรูปแบบของตัวหนังสือ ซึ่งก็ไม่รู้ว่านักวิจัยท่านอื่นทำกันยังไง แต่สำหรับพี่ ก็มีลีลาในการเขียนเล่มเฉพาะตัว ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ เล่มโอเค เนื้อหาไม่หลุดโลก น้องๆ ที่สนใจลองเอาไปใช้กันดู เผื่อจะถูกจริต

ก่อนอื่น พี่ขอให้น้องเอานิ้วออกจากแป้น (ใครแอบพิมพ์ ขอให้เป็นหมัน) เพราะสไตล์ของพี่ การลงมือเขียนตัวหนังสือ จะเป็นขั้นตอนสุดท้ายสุดๆ เราจะไม่เขียนเนื้อหา จนกว่าทุกอย่างจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ขั้นตอนแรกเราเริ่มต้นจาก 1) สร้างแฟ้มเก็บงาน (folder) ให้เป็นระเบียบเสียก่อน พี่จะสร้างแฟ้มแยกไว้เป็นบทบท โดยแต่ละบทข้างในจะมีแฟ้มย่อยเป็นแฟ้มรูปภาพ ชื่อ Figure เมื่อทำเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไป พี่จะเปิดไฟล์ Word ขึ้นมาแล้วเริ่มขั้นตอนที่ 2) สร้างสตอรี่ หรือ สารบัญ (content) จะทรมานยังไง พี่ก็จะพยายามนึกและเขียนสารบัญให้ครบ ให้นิ่ง และสมบูรณ์ที่สุด ไม่งั้นจะไม่ทำอะไรต่อ ซึ่งโดยปกติพี่จะออกแบบ สารบัญให้ไม่เกิน 6-7 บท (หรือให้คิดว่าเป็นตอน ในบทละคร) โดยในแต่ละตอน พี่จะไม่ล้วงลึกเกิน 2 ขยัก เช่น บทที่ 1 มี 1.1. และ 1.1.1. ลึกกว่านี้ เวิ่น อย่างมาก ก็เป็น i) ii) iii) …

จริงๆ การทำ สารบัญ (content) ให้เสร็จก่อนที่จะเริ่มทำอะไรเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะสารบัญ จะเป็นเหมือนหมุดหมายไม่ให้เราเขียนไปเรื่อยๆ จนหลุดโลก สารบัญเปรียบเหมือนกับจุด หรือเส้นประ ในหนังสือหัดคัด ก.ไก่ สมัยอนุบาล ที่ช่วยให้เราคัดตัวหนังสือได้สวย เพียงแค่น้องลากตามเส้น การเขียนเล่มก็เช่นกัน มันเหมือนกับเราต้องเดินทางไกล ดังนั้น check point หรือจุดเส้นประในแต่ละจังหวะสำคัญที่สุด


ข้อควรทราบ 1) ถ้าเป็นเล่มภาษาอังกฤษ หัวข้อ บท ตัวใหญ่ทุกตัว (CHAPTER I) ส่วนหัวข้อถัดไป ตัวใหญ่ทุกคำ (1.1. Theme and Background) ถัดไปอีก ตัวใหญ่คำแรก (Theme and background)

ข้อควรทราบ 2) เมื่อน้องมีหัวข้อ 1.1. น้องจะต้องมีอย่างน้อย 1.2. เพราะถ้ามีแค่ 1.1. ไม่ควรตั้งเป็นหัวข้อย่อย

หลังจากออกแบบฉากและตอนของบทละครได้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ขั้นตอนต่อไปที่จะต้องทำคือ 3) สร้างตัวละคร โดยที่ ตัวละครในการเขียนรายงานการวิจัย จะมีแค่ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ รูป ตาราง และ สมการ จำไว้นะน้องๆ หัวเด็จตีนขาดยังไง มีวัสดุผลผลิตจากงานวิจัยแบบไหน สุดท้ายหากจะทำมาเข้าเล่มรายงานวิจัย น้องต้องจำแนกให้ได้ว่า เป็นรูป เป็นตาราง หรือเป็นสมการ มีได้แค่นี้ อย่างอื่นห้ามมี ในกรณีของรูป ถ้าในรูปหนึ่งมีหลายรูปย่อย น้องจะต้องกำหนดให้มีเป็นรูปย่อย ก ข ค ง ในรายงานภาษาไทยหรือ a b c d ในรายงานภาษาอังกฤษเสมอ ไม่งั้นไม่มีสิทธิ์ทำเป็นรูปย่อย

1) ถาม : กราฟ คืออะไร ? ตอบ : กราฟ คือ รูป
2) ถาม : ไฟล์รูปที่ครอปตารางมาเป็นอะไร ? ตอบ : เป็นตาราง แค่น้องขี้เกียจพิมพ์ใหม่
3) ถาม : รูปเดิมเป็นขาวดำ เรามาทำเป็นสี เราใช้คำว่า “ปรับปรุงจาก…” หรือ “modified from…” ได้ไหม ตอบ : ไม่ได้ ต้องอ้างชื่อคนทำเต็มๆ เพราะการปรับปรุง ต้องหมายถึง ปรับปรุงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ที่มีอยู่ในรูป ไม่ใช่เปลี่ยนสีเติมกิน อย่างนั้นเขาเรียกว่าก๊อปปี้แล้วไปดัดแปลงปิดบังอำพราง

ขั้นตอนถัดมา 4) สร้างคำอธิบายตัวละคร น้องจะต้องตั้งชื่อหรือคำอธิบายรูปและตารางให้ครบทั้งหมด โดยที่ตัวละครที่สร้างมาทุกตัว เราต้องเรียกเข้าฉากด้วยทั้งหมดไม่ตอนใดก็ตอนหนึ่งระหว่างเขียนบทละคร ห้ามตกหล่น ตัวอย่างวิธีเรียก เช่น ……… (รูป 1-2 และ รูป 7) หรือ ……… (รูป 1ก-ค และ รูป 2ฮ) หรือแบบนี้ก็ได้ ……… ดังแสดงใน รูป 1

ซึ่งเมื่อเตรียมทุกอย่างเรียบร้อยหมดแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายของการเขียนเล่มวิจัย คือเริ่มที่จะจรดปากกา เขียนเนื้อหาหรือเคาะแป้นพิมพ์เริ่มเรื่อง โดยเทคนิคง่ายๆ ที่พี่อยากจะบอกก็คือ ไม่ต้องไปคิดมากว่าจะเขียนอะไรดี ในแต่ละหัวข้อ ให้น้องทำใจร่มๆ เคาะบรรทัดมาใต้หัวข้อที่น้องจะเขียน แล้วเขียนบรรยายรูปหรือตารางหรือสมการที่อยู่ข้างใต้นั้นก็พออธิบายไปเรื่อยๆ ตามที่น้องเห็น อธิบายหมดแล้วก็จบ

ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเล่ม จะทำให้ รายงานผลการวิจัยหรือ วิทยานิพนธ์ ของน้องดูน่ารักน่าเอ็นดู

อีกหนึ่งเทคนิคที่พี่ยึดเป็นหลักเกณฑ์ไว้เสมอ และอยากให้น้องทำตามคือ โปรดเขียนจากจุดเริ่มต้น แล้วค่อยๆ เดินไปเรื่อยๆ จนถึงประโยคสุดท้าย โดยที่ต้องกลั้นใจ สัญญากับตัวเองว่า จะไม่กลับมาอ่านเนื้อหาที่เราเขียนอีก จนกว่าจะเขียนจบทั้งหมด หลังจากนั้นถึงค่อยมาอ่านทบทวน ซึ่งการทำแบบนี้ จะช่วยลดภาวะการหลอนระหว่างเขียนได้เป็นอย่างดี ถ้าน้องทำได้ การเขียนเล่มจะเสร็จเร็ว ค่อยๆ เขียน เขียนไม่ออกก็ไม่ต้องข้าม เสียเวลาแค่ไหน ต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมอีก ยังไงก็จะไม่ข้าม นั่งมันอยู่ตรงนั้นแหละ รอจนเขียนออก แล้วค่อยไปต่อเรื่องถัดไป ไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก หนักก็นอน จนกระทั่งถึงบรรทัดสุดท้าย น้องจะได้รู้ว่า มันสมบูรณ์เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วจะอ่านทวนอีกกี่รอบ พี่ก็ขอให้น้องอ่านจากต้นจนจบ มันจะทำให้ทุกตัวอักษรได้รับการใส่ใจและดูแลเท่าๆ กัน

เดินให้สุด เป็นเที่ยวๆ ไป ไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง ทำให้ทุกตัวอักษรของเล่มมีความยุติธรรมที่จะได้ผ่านตาน้อง ด้วยจำนวนครั้งเท่าๆ กัน

หลักคร่าวๆ ของการเขียนเล่มสไตล์พี่ ก็จะมีประมาณนี้ ในหัวข้อถัดไปด้านล่าง จะเป็นตัวอย่างของสารบัญที่ควรจะมีในการเขียนเล่มวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ ซึ่งหัวข้อต่างๆ เหล่านี้เกิดจากการคัดกรอง ปรับปรุงจากต้นฉบับที่พี่เคยเห็น หวังว่าจะเป็นแนวทาง เป็นประโยชน์ ต่อการเขียนเล่มวิจัยของน้องไม่มากก็น้อย

ส่วนประกอบของเล่ม

1. ส่วนประกอบตอนต้น

  • ปกนอก มีชื่อเรื่อง ชื่อผู้วิจัย และหน่วยงานสังกัดผู้วิจัย
  • ปกในหรือใบปะหน้า (ใบเซ็นต์อนุมัติของกรรมการ)
  • บทคัดย่อ (Abstract) (ไทย-อังกฤษ)
  • กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgement)
  • สารบัญ (Content)
  • สารบัญภาพ (List of Figure)
  • สารบัญตาราง (List of Table)

2. ส่วนเนื้อหา

  • บทที่ 1 บทนำ
    1. ที่มาและความสำคัญของปัญหา (Background)
    2. งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (Literature Review)
    3. วัตถุประสงค์การวิจัย (Objective)
    4. พื้นที่ศึกษา (Study Area) (ถ้ามี)
    5. ขอบเขตการวิจัย (Scope of Study)
    6. ประโยชน์ที่คาดจะได้รับ (Expected Result)
    7. นิยามศัพท์เฉพาะ (Definition) (ถ้ามี)
    8. โครงสร้างรายงาน (Framework) (ถ้าอยากมี)
  • บทที่ 2 ทฤษฎีและวิธีการวิจัย (Theory and Methodology)
    1. แนวคิด (Concept)
    2. วิธีการวิจัย (Methodology)
    3. เครื่องมือศึกษา (Equipment) (ถ้ามี)
  • บทที่ a เนื้อหา 1 (Geology)
  • บทที่ b เนื้อหา 2 (Remote Sensing)
  • บทที่ c เนื้อหา 3 (Field Investigation)
  • บทที่ d เนื้อหา 4 (Laboratory)
  • บทที่ 4 ผลการวิเคราะห์ (Result)
  • บทที่ 5 อภิปรายผล (Discussion)
  • บทที่ 6 สรุปผลและข้อเสนอแนะ (Conclusion and Recommendation)

3. ส่วนประกอบตอนท้าย

  • บรรณานุกรม
  • ภาคผนวก (ถ้ามี)
  • ประวัติผู้วิจัย

>>> หลักการเขียนส่วนประกอบตอนต้น

1) ชื่อเรื่อง – กระชับแต่สมบูรณ์ ไม่ควรยาวเกิน 2 บรรทัด ควรขึ้นต้นด้วยคำนาม หรือใส่คำว่า “การ” ข้างหน้าหากขึ้นต้นด้วยคำกริยา

2) บทคัดย่อ – ไม่ควรเกิน 1 หน้ากระดาษ แต่มีสาระสำคัญครบ มีเกริ่น วัตถุประสงค์ รายละเอียด การเก็บข้อมูล วิธีการทดลอง ผล และสรุป (โดยย่อทั้งหมด) ไม่ควรมีการอ้างอิงในบทคัดย่อ ท้ายบทคัดย่อ ควรมี คำสำคัญ (key word) 3-5 คำ

3) กิตติกรรมประกาศ – ไม่ควร เกิน 1 หน้ากระดาษ ระบุชื่อผู้ที่ช่วยเหลือ หรือให้ความร่วมมือ ให้ครบ พึงระวังกรณีมีชื่อผู้ตรวจ ผู้มีชื่อเสียง ไม่ควรใส่เพราะเหมือนเบ่งใส่กรรมการท่านอื่น หรือถ้าเป็นที่รัก มีคนช่วยเหลือเยอะ ก็อาจใช้คำว่า “ไม่สามารถเอ่ยนาม” หรือ “ทุกๆ ท่านที่ไม่ได้กล่าวในที่นี้”

4) สารบัญต่างๆ – เขียนให้ตรงและครบตามหัวข้อภายในเล่ม ระบุเลขหน้าให้ตรงกับเนื้อหาภายในเล่ม

>>> หลักการการเขียนส่วนเนื้อหา

1) ที่มาและความสำคัญของปัญหา – ไม่ควรเขียนเกิน 1 หน้ากระดาษ A4 เนื้อหาควรบอกปัญหาวิจัย และวิธีหรือเทคนิคที่จะนำมาใช้แก้ไข พร้อมทั้งผลที่คาดว่าจะได้รับ

2) งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง – รวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่ต้องการศึกษา นำมาเรียบเรียง สรุป วิเคราะห์ สังเคราะห์ โดยเขียนขึ้นใหม่ตามความคิดของนักวิจัย สรุปว่าข้อมูลที่ได้นำมาประยุกต์ให้เข้ากับเรื่องที่ทำการศึกษาได้อย่างไร

3) วัตถุประสงค์การวิจัย – เขียนเป็นข้อ เพราะเขาทำกันมาอย่างนี้ ตัดออกบ้าง งานเราไม่ได้สร้างโลก เวลาคิดก็นึกถึงผลผลิตด้วย ว่าจะมีผลออกมาเป็นรูปธรรมไหม

4) พื้นที่ศึกษา (ถ้ามี) – บอกกรอบพื้นที่ในเชิงพิกัด เช่น ละติจูด ลองจิจูด และบอกกรอบพื้นที่ในเชิงภูมิศาสตร์ เช่น ครอบคลุมพื้นที่จังหวัด และพื้นที่ข้างเคียงบางส่วน (adjacent area, neighborhood area)

5) ขอบเขตการวิจัย – ควรระบุให้ชัดเจนถึงขอบเขตหรือข้อจำกัดในด้านต่างๆของการทำวิจัย ไม่ว่าจะเป็นจำนวนตัวอย่าง จำนวนผลการวิเคราะห์ รวมทั้งจำนวนพื้นที่ เป็นต้น

6) การเขียนนิยามศัพท์เฉพาะ – คำที่ใช้ในความหมายต่างจากความหมายทั่วไปควรนิยามด้วย ศัพท์ที่จะเป็นตัวละครในการตรวจวัด ต้องนิยามให้ละเอียด

7) อภิปรายผลและสรุปผล – อภิปรายเฉพาะประเด็นเด่นๆ กรณีที่ผลการวิจัยเป็นไปตามสมมุติฐาน ก็เขียนว่าสอดคล้องกับงานวิจัยของใครหรือแนวคิดทฤษฎีอะไร กรณีที่ผลการวิจัยไม่เป็นไปตามสมมุติฐาน ต้องเขียนแสดงเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มีสาเหตุหรือปัจจัยอะไรบ้าง สรุปให้สรุปเป็นข้อๆ ส่วนใหญ่จะมีแค่หน้าเดียว

8) ข้อเสนอแนะ – เขียนเป็นข้อ ๆ ข้อเสนอแนะการนำไปใช้ต้องมาจากผลการวิจัยเท่านั้น ต้องชัดเจน เป็นรูปธรรม มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติจริง

>>> การเขียนส่วนประกอบตอนท้าย

1) บรรณานุกรม – ถ้ามีมากทั้งเก่าและใหม่ให้ตัดเก่าออกบ้าง ตรวจให้ครบต้องเท่ากับที่เคยอ้างอิงไว้ในเล่ม ใช้รูปแบบให้เหมือนกันตลอดทั้งเล่ม

2) ภาคผนวก (ถ้ามี) – นำสาระส่วนที่เกี่ยวข้องซึ่งมีรายละเอียดมากมาใส่ ถ้ามีสาระหลายส่วนควรแยกเป็นภาคๆ กรณีที่สาระมีมากเกินก็อาจแยกออกเป็นเล่มต่างหาก

3) บรรณานุกรม – อ้างอิงให้ ครบถ้วน ตามความจริง และตามสมควร ควรเลือกที่ทันสมัยภายใน 5 ปี แต่ถ้าเป็นงาน classic จริง ยิ่งแก่จะยิ่งเก๋า อ้างอิงโดยใช้รูปแบบเดียวกันทั้งเล่ม การอ้างอิงระหว่างทางในเล่ม จะต้องสัมพันธ์กับการเขียนบรรณานุกรมท้ายเล่มการอ้างอิงทำได้หลายแบบ เช่น

อ้างอิงภาษาไทย

ผู้แต่งแบบเขาเล่าเราเล่าเรื่องของเขา
1 คนโอซาว่า (2554) กล่าวว่า…xxxxx (โอซาว่า, 2554)
2 คนโอซาว่า และ อาโออิ (2554) กล่าวว่า…xxxxx (โอซาว่า และ อาโออิ, 2554)
3 คนขึ้นโอซาว่า และคณะ (2554) กล่าวว่า…xxxxx (โอซาว่า และคณะ, 2554)

อ้างอิงภาษาฝรั่ง

ผู้แต่งแบบเขาเล่าเราเล่าเรื่องของเขา
1 คนOsawa (2012) said…xxxx (Osawa, 2012)
2 คนOsawa and Aoi (2012) said…xxxx (Osawa and Aoi, 2012)
3 คนขึ้นOsawa et al. (2012) said…xxx (Osawa et al., 2012)
เขียนเล่มยังไง ให้เสร็จเร็ว – ไม่มีเดี๋ยว ไม่ข้ามผ่าน และจะไม่มาเดินซ้ำที่เดิม ที่เหลือ ไม่พายเรือวนอ่าง ถ้าอ่านซ้ำแล้วผิดน้อยกว่า 10% ให้พอ ปล่อยให้กระจกสะท้อนบ้าง ปล่อยให้ผู้ตรวจทานได้ทำหน้าทีบ้าง สุดท้าย… ในมุมมองของพี่ พี่ขอพูดซ้ำอีกทีว่า
ความสมบูรณ์แบบ คือกับดักที่อันตรายที่สุดใน การทำวิจัย

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: