สำรวจ

โบราณคดี ใต้ตอต้นตาล

เดินสำรวจแหล่งโบราณคดีมาก็หลายที่ ผู้เขียนก็เพิ่งเคยประสบ ลีลาการพบแหล่งโบราณคดีกันในแบบนี้ สืบเนื่องจากการค้นพบและนำเสนอ แหล่งที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนงานถลุงเหล็กโบราณ ในพื้นที่บ้านเขาดินใต้ อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์ (เพิ่มเติม : พบหอพักหนุ่มสาวโรงงาน ถลุงเหล็กโบราณ ที่บุรีรัมย์) เพื่อที่จะเพิ่มตัวละครในการร้อยเรื่องราว จึงมีการวางแผนสำรวจเพิ่มเติม ในพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งระหว่างการสุ่มสำรวจในละแวก ผู้เขียนพบต้นตาลล้ม 3 ต้น โดยบังเอิญ ซึ่งแว๊บแรกที่มองไป พบว่าที่โคนรากต้นตาล อุดมไปด้วยเศษภาชนะดินเผาจำนวนมาก มากแบบผิดปกติ

แหล่งที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนงานถลุงเหล็กโบราณ บริเวณ บ้านเขาดินใต้ อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์ (ภาพบน) ภาพถ่ายดาวเทียม พ.ศ. 2566 (ที่มา : Google Earth) (ภาพล่าง) ภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ. 2519 (ที่มา : กรมแผนที่ทหาร) เพิ่มเติม : พบหอพักหนุ่มสาวโรงงาน ถลุงเหล็กโบราณ ที่บุรีรัมย์
สภาพต้นตาลที่หักล้มอยู่ท้ายหมู่บ้านเขาดินใต้ ทางฝั่งตะวันตก เมื่อสังเกตก้อนดินที่ติดมากับรากหรือโคนต้นตาล พบว่าอุดมไปด้วยเศษภาชนะดินเผา

ใต้ตอต้นตาล

หลังจากนั่งละเมียด พินิจพิเคราะห์ตอต้นตาลอยู่ซักพัก พบว่าเศษภาชนะดินเผาส่วนใหญ่ มีความหลากหลาย ทั้งลวดลาย สไตล์หม้อ และขนาด มีทั้งฝาผอบ ทั้งชิ้นส่วนหม้อไหที่แตกหัก รวมไปถึงเศษอิฐเผาสีส้มจำนวนมาก ที่กึ่งกระจุกกึ่งกระจายอยู่ภายในรากต้นตาล

เมื่อผนวกกับประสบการณ์ที่ผ่านๆ มา การแปลความทางโบราณคดีจึงเริ่มต้นแบบง่ายๆ ที่ว่า หากเป็นพื้นที่อยู่อาศัยภาชนะดินเผาน่าจะกระจัดกระจายอย่างเบาบาง ในพื้นที่กว้างๆ ซึ่งในกรณีนี้ผู้เขียนประเมินว่า ภาชนะดินเผาที่พบกระจุกตัวหนาแน่น เกินกว่าที่จะเป็นเศษหม้อไห ที่แตกกระจายภายในบ้านเรือน แต่น่าจะเป็นแหล่งผลิตภาชนะดินเผา ซึ่งเมื่อประกอบรวมกับหลักฐานเศษอิฐสีส้มที่พบ ผู้เขียนคาดว่าน่าจะเป็นส่วนของเตา ที่ใช้เผาหม้อไห ในการผลิตภาชนะเครื่องปั้นในอดีต

บางส่วนบางมุมของเศษภาชนะดินเผา ที่ติดอยู่กับตอต้นตาล นอกจากนี้ยังพบเศษอิฐเผาสีส้ม โคเลโคเล ปนอยู่กับภาชนะดินเผา

ต้นตาลอยู่ไหน เตาเผาหม้อไหก็อยู่ที่นั่น

คำถามถัดมาที่น่าสนใจคือ ต้นตาลทั้ง 3 ต้นนี้ มาจากไหน ? เพราะหากเรารู้ว่าดั้งเดิม ต้นตาลยืนต้นอยู่ตรงไหน โรงงานผลิตหม้อไหก็น่าจะอยู่ตรงนั้น ส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนประเมินไม่ได้ในช่วงลงสนาม เพราะในละแวกนั่นเท่าที่ตาเห็น มีการปรับพื้นที่เพื่อใช้ในการอยู่อาศัยของคนปัจจุบันไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการขุดบ่อและทำสวนในละแวกนั้น ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงต้องไล่ตามหาตำแหน่งที่มาของต้นตาล จากภาพถ่ายดาวเทียมแบบบ้านๆ ในแอพ Google Earth ซึ่งท่ามกลางสวนยางพาราที่หนาแน่น (สีเขียวอ่อนในภาพ) จากแสงเงาที่สูงชะลูด ที่เห็นได้ในภาพถ่ายดาวเทียม ปี พ.ศ. 2566 ผู้เขียนจึงสรุปว่า ก่อนหน้านี้มีต้นตาล 3-5 ต้น อยู่ตรงนั้นนั่นแหละ ไม่ได้เคลื่อนย้ายมาจากที่ไหน

ภาพถ่ายดาวเทียม พ.ศ. 2566 จาก Google Earth แสดง (บน) สภาพพื้นที่และตำแหน่งของต้นตาล (วงกลมสีเหลือง) หรือตำแหน่งเตาเผาโบราณในอดีต (กลาง) ภาพตำแหน่งเดิมที่ซูมเข้าไปใกล้ๆ เพื่อให้เห็นแสงเงาที่สูงชะลูด ประกอบการเดาว่าน่าจะเป็นเงาของต้นตาล หรือตำแหน่งเตาในอดีต (ล่าง) ผลการประมวลระดับความสูงของพื้นที่ แสดงเส้นชั้นความสูง (contour) ที่ 185 เมตร และ 190 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล (เส้นสีเหลือง) บ่งชี้ลักษณะภูมิประเทศแบบ ริม เนินเตี้ย (hill) ติด ที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain)

จากตำแหน่งดั้งเดิมของต้นตาลที่พบ เมื่อนำมาประมวลร่วมกับข้อมูลภูมิประเทศที่แสดงระดับสูง-ต่ำ จากรูปด้านล่าง เส้นสีเหลือง คือ เส้นชั้นความสูง (contour) ที่ระดับ 185 เมตร และ 190 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล บ่งชี้ว่าต้นตาลหรือแหล่งเตาเผาโบราณ เดิมวางตัวอยู่บริเวณริมเนินเตี้ยๆ ติดกับ ที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) ของธารน้ำขนาดย่อม ในพื้นที่ ชวนมโนนึกภาพในอดีตวันนั้นว่า คนโบราณน่าจะมีเจตนาอยู่อาศัยหรือใช้พื้นที่บริเวณริม กรือชายขอบพื้นที่สูง ที่ติดกับที่ราบเรียบน้ำท่วมถึง ซึ่งช่วยหลบเลี่ยงภาวะน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก แต่ก็อยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำลำคลอง เพื่ออาศัยอาบน้ำอาบท่าหรือกินดื่ม

ซึ่งจากสไตล์การชอบอยู่ริมเนินติดที่ราบ ที่ได้จากตำแหน่งเตานี้ ผู้เขียนเดาต่อว่า หากเดินลัดเลาะไปตามเส้นชั้นความสูง 185 เมตร ก็มีโอกาสสูง ที่จะพบร่องรอยกิจกรรมของคนโบราณอยู่ เอาไว้มีโอกาส จะแวะไปเดินสำรวจอีกครั้ง ถ้าพบอะไรเพิ่มเติม จะมาเล่าให้ฟังกันอีกทีนะครับ

อายุเตา = อายุชุมชน

จากการเทียบเคียงเศษภาชนะดินเผาที่ติดอยู่ตามรากต้นตาล ด้วยสายตา พบว่ามีความละม้ายคล้ายกันกับสไตล์ภาชนะดินเผา ที่ผลิตจาก กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาโบราณในพื้นที่ อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์ ที่มักเกาะกลุ่มกันอยู่ตามลุ่มน้ำเสว ห่างออกไปทางตอนใต้ จากตอต้นตาลประมาณ 10 กิโลเมตร ซึ่งกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 16-19 (ประมาณ 700-1,000 ปี มาแล้ว) ดังนั้นจึงเชื่อว่า เตาเครื่องปั้นดินเผาใต้ต่อต้นตาล ที่บ้านเขาดินใต้ ก็น่าจะมีอายุเท่าๆ กัน

เครื่องปั้นดินเผา อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์ นิยมเคลือบด้วยสีน้ำตาล ตกแต่งด้วยการขูดขีดเป็นลวดลายต่างๆ และปั้นเป็นรูปสัตว์ เช่น นก ช้าง ไก่ เป็นต้น (ที่มา : อาจารย์วรณัย พงศาชลากร)
สภาพภูมิประเทศบริเวณภูเขาพนมรุ้ง และพื้นที่ข้างเคียง เส้นม่วง – ลุ่มน้ำลำปะเทีย, เส้นเหลือง – ลุ่มน้ำคลองปูน, เส้นแดง – ลุ่มน้ำเสว, สี่เหลี่ยมขาว – โบราณสถาณและประสาทสำคัญ เช่น พนมรุ้ง เมืองต่ำ และบ้านมีไฟต่างๆ, สี่เหลี่ยมเหลือง – ปราสาทขนาดเล็ก, วงกลมเขียว – แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา อ. บ้านกรวด, วงกลมแดง – แหล่งถลุงเหล็ก อ. บ้านกรวด, พื้นที่สีดำบนเขาพนมดงรัก – แหล่งตัดหินทราย บ้านสายตรี 3 อ. บ้านกรวด, เส้นสีดำแนวเส้นทางการขนหินจากแหล่งตัดหินไปสู่เขาพนมรุ้ง ผ่านเข้าคอก และปราสาทเมืองต่ำ

ประกอบกับการพบเนินจากการทับถมกันของ เศษตระกัน หรือ ขี้แร่ (slag) ที่เหลือจากการถลุงเหล็ก อยู่ประชิด ติดอยู่กับตอต้นตาลนี้ ซึ่ง อิสราวรรณ อยู่ป้อม (2553) กำหนดอายุกิจกรรมถลุงเหล็กดังกล่าว ว่าเคยผลิตอยู่ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 18 (ประมาณ 800 ปี มาแล้ว) ผู้เขียนจึงแปลความว่า ในห้วเวลาประมาณ 700-1,000 ปีก่อน พื้นที่บ้านเขาดินใต้ มีการประกอบกิจการ ทั้งผลิตหม้อไหและถลุงเหล็ก ไปพร้อมๆ กัน บ่งชี้ว่าพื้นที่แห่งนี้น่าจะมีความเจริญ และมีประชาชนอาศัยอยู่พอสมควร

และนี่ก็คือเรื่องราวสั้นๆ ทางโบราณคดี ที่ถูกร้อยเรียงมาจากหลักฐานตั้งต้น “ตอต้นตาล” แห่งบ้านเขาดินใต้ อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์

เพิ่มเติม : มีนิคมอุตสาหกรรมเหล็กร้าง แอบอยู่กลางป่าชายขอบบุรีรัมย์

(ภาพบน) สภาพพื้นที่บริเวณเนินตะกรันเหล็ก บ้านเขาดินใต้ ที่เกิดจากการทับถมของกองขี้แร่ อันเนื่องมาจากการถลุงเหล็ก (ภาพล่างซ้าย) หน้าตาเตาถลุงเหล็ก ที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดี ในพื้นที่เนินตระกัน (ที่มา : อิสราวรรณ อยู่ป้อม, 2553) (ภาพล่างขวา) ตัวอย่างของตระกันเหล็ก ที่ได้จากการถลุง (ที่มา : สุทธิกานต์ คำศิริ, 2565) เพิ่มเติม : พบหอพักหนุ่มสาวโรงงาน ถลุงเหล็กโบราณ ที่บุรีรัมย์

. . .
บทความล่าสุด : www.mitrearth.org
เยี่ยมชม facebook : มิตรเอิร์ธ – mitrearth

Share: