สำรวจ

ขุนสมุทรจีน : ภาพจำทะเลกินบก

ภาพปก : กิติคุณ วิวัฒนธนกิจ

วัดขุนสมุทรจีน หรือ วัดขุนสมุทราวาส ตั้งอยู่ที่ ต. แหลมฟ้าผ่า อ. พระสมุทรเจดีย์ จ. สมุทรปราการ ซึ่งตามประวัติ วัดสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2510 ด้วยความที่ในวันสร้างวัด วัดตั้งอยู่ปากอ่าวริมทะเล แต่สภาพปัจจุบันของวัด ที่วันนี้กลายเป็นเหมือนเกาะกลางน้ำ ทำให้ ขุนสมุทรจีน เป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นตำหรับวาทะกรรมที่ว่า ทะเลรุกแผ่นดิน ชายฝั่งกำลังถูกกัดเซาะ

(ก) ภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ. 2507 (ที่มา : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) (ข) ภาพมุมสูงปัจจุบัน บริเวณวัดขุนสมุทรจีน แสดงให้เห็นว่าพื้นที่แถบนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วง 60 ปี ที่ผ่านมา (ค) ภาพโบสถ์วัดขุนสมุทรจีนในอดีต ช่วงที่น้ำทะเลรุกเข้ามา และยังไม่มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างป้องกัน (ที่มา : MGR online) และ (ง) ภาพปัจจุบันของโบสถ์วัดขุนสมุทรจีน มีระดับทางเท้าปัจจุบันสูงกว่าครึ่งของประตูโบสถ์ (ที่มา : travelthaiblog)

ในวงวิชาการมีการถกกันอย่างเมามันส์ ถึงต้นเหตุของเรื่องนี้ ตามมาด้วยคีย์เวิร์ดชวนจิตตกหลายๆ คำ ที่หลุดออกมาสู่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น โลกร้อน น้ำทะเลสูงขึ้น ชายฝั่งถูกกัดเซาะ หรือแม้กระทั่ง กรุงเทพฯ กำลังจะจม ฯลฯ เกิดการดูแคลนโครงสร้างปกป้องริมทะเลแบบต่างๆ ที่นำเข้าไปทดลองใช้ในพื้นที่ ลามไปถึงมีชุดความคิดที่ว่า เพราะเขื่อนไง ดักตะกอนเอาไว้ กลายเป็นกลิ่นอายยี๊อ่อนๆ ที่เขื่อนตกเป็นจำเลย เฉยเลย

แต่ในมุมธรณีวิทยา หลายเหตุ (เพราะเขื่อนไง) หลายคำเตือน (ชายฝั่งถูกกัดเซาะ) ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่อย่างที่คิด เพราะหากลองใช้หลักธรณีวิทยามาร่วมทำความเข้าใจ สิ่งที่เห็นคล้ายกับจะเป็นเพียงกลไก ที่ไหลไปตามครรลองของธรรมชาติ ซึ่งถ้าหากเปิดประตูอ้าแขนรับ วิถีที่กำลังดำเนินไปในพื้นที่ เราอาจจะปล่อยวางได้ ทำใจลง บทความนี้จึงอยากจะแชร์ไอเดียทางธรณีวิทยา เกี่ยวกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและกำลังจะดำเนินต่อไป ในพื้นที่ขุนสมุทรจีน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ ในการทำความเข้าใจและทำใจยอมรับ ความเป็นไปของธรรมชาติในพื้นที่นี้ ลองดูกันนะครับ 🙂

1) ชายฝั่งถูกกัดเซาะ ?

ด้วยนิยามทาง ธรณีวิทยาชายฝั่ง (coastal geology) 1) ฝั่ง (coast) หมายถึง พื้นที่บนบก ที่น้ำทะเลไม่เคยเลียถึง ไม่ว่าจะมีปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง หรือน้ำหนุนในช่วงปลายปี โดยขอบหรือแนวเส้นระหว่างส่วนที่เคยและไม่เคยได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเล เรียกว่า 2) ชายฝั่ง (coast line) ซึ่งถ้าแนวชายฝั่งนี้ มีการขยับกินเข้าไปในฝั่ง ถือเป็นเรื่องซีเรียส เพราะเป็นพิบัติภัย ที่เรียกว่า การกัดเซาะชายฝั่ง (coastal erosion)

การ์ตูนแสดงการแบ่งเขตต่างๆ แถบชายฝั่งทะเล

ส่วนริมทะเลที่เห็นคลื่นซัดแตกฟองซู่ๆ เรียกว่า 3) ชายหาด (shoreline) โดยพื้นที่ที่อยู่ระหว่าง ชายฝั่ง และ ชายหาด เราเรียกว่า 4) หาด (shore) ซึ่งในทางธรณีวิทยา หาด (shore) เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพราะกระแสน้ำทะเลมีสิทธิ์ ที่จะหอบตะกอนตรงโน้นไปกองตรงนั้น หรือกวาดดินตรงนั้นไปกองตรงนี้ ก็สุดแล้วแต่พี่เขาจะปรารถนา

เพิ่มเติม : ฝั่ง . หาด . ชายฝั่ง . ชายหาด ต่างกันยังไง

จากภาพ แสดงแผนที่ที่ราบลุ่มภาคกลางของไทย ในสมัยทวารวดี หรือเมื่อ 1,000-1,500 ปีก่อน แนวขอบสีแดง หมายถึง ชายฝั่ง (coast line) ส่วนแนวเส้นขั้นระหว่างเขต III-IV คือ ชายหาด (shoreline) ซึ่งพื้นที่ระหว่างขอบแดงและแนวเส้นขั้น III-IV คือส่วนของ หาด (shore)

แผนที่ที่ราบลุ่มภาคกลางของไทย แสดงการกระจายตัวของเมืองโบราณสำคัญสมัยทวารวดี (วงกลมสีขาว) ขอบสีแดง คือ ระดับความสูง 4 เมตร โดยประมาณ จากระดับน้ำทะเลปัจจุบัน I-IV คือ การแบ่งสภาพแวดล้อมโบราณหรือภูมิศาสตร์พืชพันธุ์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 7-15 ศึกษาและนำเสนอโดย Hutangkura (2014) ซึ่ง I = ที่ราบน้ำท่วมตามฤดูกาล II = พื้นที่เปลี่ยนผ่านระหว่างนิเวศน้ำเค็ม-น้ำจืด III = หาดเลนและผืนป่าชายเลน และ IV = ส่วนทะเลตื้นของอ่าวทวาราวดี

ดังนั้นในทางธรณีวิทยาชายฝั่ง การหายไปของพื้นที่ริมทะเลอย่างขุนสมุทรจีน จึงไม่แปลกที่จะเกิดขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ภัยพิบัติ การกัดเซาะชายฝั่ง (coastal erosion) เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียง พลวัตของหาด (dynamic of shore) ที่ดำเนินไปตามวิถี และการเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ ก็ควรต้องทำใจ รับสภาพกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

2) ไม่เรียกกัดเซาะก็ได้ แต่ดินหายไป ?

ขุนสมุทรจีน เป็นสภาพแวดล้อมการสะสมตัวของตะกอนธารน้ำบริเวณปากอ่าว ที่เรียกว่า ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (delta) เหมือนกับในหลายๆ พื้นที่ของโลก เช่น ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ในเวียดนามและกัมพูชา ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้แม่น้ำไนล์ ในอียิปต์ และดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแม่น้ำอิรวดี ในพม่า เป็นต้น

หาดเลนและดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ

ในทาง ตะกอนวิทยา (sedimentology) ตะกอนแต่ละขนาดเลือกที่จะสะสมตัวในบางพื้นที่เฉพาะ ตะกอนขนาดใหญ่อย่าง กรวด (gravel) มักตกอยู่แถบต้นน้ำ เช่น ภายในร่องเขาหรือหน้าเขา ส่วนตะกอนขนาด ดิน (clay) หรือ โคลน (mud) ท้ายที่สุดจะถูกพัดพาไปตกสะสมตัวในทะเลหรือมหาสมุทร และในกรณีของพื้นที่ริมทะเลหรือ ชายหาด (shoreline) ธรรมชาติได้สร้างสรรค์และคัดเลือกให้แล้วว่าจะเป็นที่อยู่ของตะกอนขนาด ทราย (sand) อย่างที่เราเห็นหาดทรายโดยทั่วไปอย่างชินตา ดังนั้นบริเวณ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ซึ่งตะกอนส่วนใหญ่เป็นดินและโคลน การเดินทางของตะกอนจึงยังไม่สิ้นสุด เพราะถ้าเลือกได้ ทั้งดินและโคลนไม่เหมาะและก็ไม่อยากอยู่ริมทะเล แต่อยากจะไปต่อสู่ท้องทะเลหรือมหาสมุทร ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ดินโคลนแถบขุนสมุทรจีนจะถูกชะล้าง และแขวนลอยไปกับน้ำทะเลได้ง่าย

เพิ่มเติม : บนโลกใบนี้ เศษตะกอนไปตกอยู่ตรงไหนได้บ้าง

แบบจำลองการคัดขนาดตะกอนในบริเวณต่างๆ ตามธารน้ำ ต้นน้ำ ตะกอนมีขนาดใหญ่ ความกลมมนน้อย และการคัดขนาดไม่ดี ส่วน ปลายน้ำ ตะกอนมีขนาดเล็ก ความกลมมนสูง และมีการคัดขนาดดีเยี่ยม

3) พื้นที่ทรุด ?

การทรุดตัว (subsidence) มีสาเหตุทั้งจากธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ และเกิดขึ้นได้ทั้งเร็วและช้า แบบเร็วก็เช่นการเกิด หลุมยุบ (sink hole) ซึ่งเป็นการทรุดตัวเนื่องจากการถล่มของโพรงใต้ดินอย่างทันทีทันใด แต่จะไม่ใช่สาเหตุการทรุดตัวของขุนสมุทรจีน เพราะพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง ไม่มีกระบวนการทางธรณีวิทยา ที่ทำให้เกิดหลุมเกิดโพรงอยู่ใต้ดิน

นอกจากนี้ การทรุดตัวของพื้นดินยังสามารถเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไปได้เช่นกัน อันเนื่องมาจาก การอัดตัวของตะกอน (soil compaction) โดยตะกอนขนาดโคลนเมื่อมีน้ำเป็นองค์ประกอบจะเกาะกันอย่างหลวมๆ แต่เมื่อมีการนำน้ำออกไป โคลนถูกกดทับจากน้ำหนักของตัวเอง ทำให้โคลนนั้นทรุดลงอย่างช้าๆ

แบบจำลองการอัดแน่นและการเชื่อมประสานหินตะกอนเนื้อเม็ด 

ที่ราบลุ่มภาคกลาง เกิดจากการสะสมตัวของตะกอนขนาดดินและโคลน ทับถมกันอย่างหลวมๆ แบบ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (delta) และมีชั้นน้ำใต้ดินอุ้มและพยุงมวลตะกอนเอาไว้ในสภาวะปกติ ซึ่งตามประวัติ ก่อนปี พ.ศ. 2526 (40 ปีก่อน) พื้นที่แถบนี้มีการสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้อย่างต่อเนื่อง เกิดการอัดแน่นของตะกอนมากขึ้นเนื่องจากน้ำพยุงหายไป ทำให้พื้นที่ทรุดตัวแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ระหว่าง 10 -100 เซ็นติเมตร ซึ่งกระบวนการนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งในสาเหตุ ที่ทำให้ระดับพื้นที่ขุนสมุทรจีนยุบตัวลง เช่นกัน

อัตราการทรุดตัวของพื้นดินในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล (บน) การทรุดตัวเชิงพื้นที่ (ล่าง) อัตราการทรุดตัวเชิงเวลา (ที่มา : https://www.rtsd.mi.th)

เพิ่มเติม : กรุงเทพฯ จมน้ำ : แน่ใจหรือ ว่าเราจะมีโอกาสเห็น

4) ตะกอนไม่มา เพราะถูกเขื่อนดัก ?

จริงเท็จแค่ไหนไม่ทราบ แต่ผู้เขียนก็เคยได้ยินวาทะกรรมที่ว่า จริงๆ แล้วขุนสมุทรจีนไม่ได้ถูกกัดเซาะ แต่เป็นเพียงเพราะมวลตะกอนถูกดักไม่ให้ไหลลงมาสู่ที่ราบภาคกลางตอนล่างเหมือนเดิมในอดีต ทั้งนี้ก็เพราะ มีการสร้างเขื่อนกั้นทางน้ำ ในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ซึ่งก็ ถูกครึ่ง-ไม่ถูกครึ่ง ในความเห็นของผู้เขียน ใช่ !!! ขุนสมุทรจีนไม่ได้ถูกกัดเซาะ และก็เพราะตะกอนก็ไม่ได้ลงมาสะสมตัวมากเท่าเดิมจริงๆ แต่ตะกอนก็ไม่ได้ถูกดักไว้เพราะ เขื่อน ในความเห็นของผู้เขียน

วัดขุนสมุทรจีนในวันนี้ (ภาพ : กิติคุณ วิวัฒนธนกิจ)

เหตุที่เห็นต่าง ว่าเขื่อนไม่ใช่ต้นเหตุของตะกอนที่ไม่มาทับถม ก็เพราะตะกอนที่สะสมตัวริมทะเลภาคกลางเป็นตะกอนขนาดโคลน และในแง่ กระบวนการทางน้ำ (river process) โดยธรรมชาติโคลนจะไม่ไหลมาตามร่องน้ำหรือแม่น้ำสายหลัก แต่โคลนจะค่อยๆ เดินทางลงมาโดยผ่านกระบวนการ น้ำหลาก หรือ น้ำท่วมทุ่ง ในทุกๆ ปี ซึ่งทำให้โคลนฟุ้งตามที่ราบน้ำท่วมถึงและขยับลงมาท้ายน้ำเรื่อยๆ เมื่อถูกน้ำท่วม

การฟุ้ง-แขวนลอย ของตะกอนขนาดโคลน ในช่วงฤดูน้ำหลากและสะสมตัวตาม ที่ราบน้ำท่วมถึง (flood plain) หรือที่ราบลุ่มภาคกลางของไทย

อีกหนึ่งข้อสังเกตชวนคิด คือ ในพื้นที่แถบภาคกลางตอนล่าง เกษตรกรมีวัฒนธรรมการตักหน้าดินในที่นาไปขายในช่วงที่ร้อนเงิน หรืออยากใช้เงินก้อน ซึ่งเมื่อปล่อยทิ้งไว้ซัก 3-4 ปีตะกอนดินโคลนก็จะมาทับถม เป็นที่นาเหมือนเดิม นั่นหมายความว่า ตะกอนขนาดโคลนไม่ได้ไปกับร่องน้ำ แต่จะฟุ้งมาพร้อมกับฤดูน้ำหลาก และ เขื่อนที่กั้นร่องน้ำ จึงไม่ใช่จำเลยหลัก แล้วอะไรคือตัวการที่ทำให้ตะกอนไหลลงมาริมทะเลน้อยกว่าเดิม คำตอบที่ได้ในทางภูมิศาสตร์และธรณีวิทยา คือ ตัวเมืองกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถนนที่วางตัวในแนวตะวันตก-ตะวันออก เป็นตัวการขวางโคลนไม่ให้ไหลลงไปเล่นทะเลในฤดูน้ำหลาก พูดให้เห็นภาพก่อนจบประเด็นนี้คือ ทุกครั้งที่เราป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ นั่นหมายความว่า ตะกอนจะไม่ไหลลงไปสู่ริมทะเลภาคกลาง รวมทั้งขุนสมุทรจีน

เขื่อนประเทศไทย

5) มีแนวทางป้องกันไหม ?

จากปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ริมทะเลทั่วโลก ทำให้ในแวดวงวิศวกรรม มีการคิดค้นวิธีป้องกันริมทะเลหลากหลายรูปแบบ ตามธรรมชาติของปัญหาหรือลีลาการกัดเซาะในแต่ละพื้นที่ เช่น 1) กำแพงกันคลื่น (seawall) 2) คันดักทราย (groin) 3) เขื่อนกันทรายและคลื่น (jetty) และ 4) เขื่อนกันคลื่น (breakwater)

หลากหลายรูปแบบโครงสร้างทางวิศวกรรม ที่ถูกออกแบบมาเพื่อพยายามป้องกันการกัดเซาะริมทะเล

เพิ่มเติม : การป้องกันชายฝั่ง

แน่นอนว่าโครงสร้างพวกนี้ เราค่อนข้างจะชินตา เพราะภาครัฐพยายามสร้างและนำเสนอว่าโครงสร้างแบบนี้มีประสิทธิผล แต่ผลลัพท์เชิงประจักษ์ในปัจจุบัน พบว่าหลายพื้นที่ประสบความล้มเหลว และยิ่งเป็นพื้นที่หาดโคลนหรือหาดเลนอย่างขุนสมุทรจีน การใช้โครงสร้างหนักแบบนี้ ดูท่าไม่น่าจะดีด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ 1) โครงสร้างพวกนี้ใช้กับการดักตะกอนทรายที่มากับคลื่นทะเล แต่ขุนสมุทรจีนเป็นเลนที่ฟุ้งมากับน้ำ ดักโคลนไม่ได้ และ 2) มีโอกาสสูงที่จะเสียเงินเปล่า เพราะด้วยน้ำหนักของหินที่นำมากอง สุดท้ายก็จะจมลงไปใต้โคลน

เขื่อนกันคลื่น

ดังนั้นในพื้นที่ขุนสมุทรจีน การบรรเทาปัญหาหรือความเดือดร้อนให้มีสถานการณ์ดีขึ้น ผู้เขียนมองว่า การป้องกันโดยไม่เกี่ยวกับโครงสร้าง (nonstructural strategies) น่าจะเป็นทางออกที่ดีและเหมาะสม เช่น การบังคับใช้กฎหมายการใช้ที่ดิน การให้ความรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับกะบวนการทางชายฝั่งกับคนในพื้นที่ และกันพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดการกัดเซาะ หรืออาจใช้วัสดุป้องกันจากธรรมชาติ เช่น การสร้างแนวป้องกันคลื่นจากไม้ไผ่ ซึ่งมีข้อดีคือมีน้ำหนักเบาไม่กดทับพื้นที่ หรือแม้กระทั่งการปลูกป่าชายเลน เพื่อให้เป็นแนวสลายคลื่น เป็นต้น

การป้องกันการกัดเซาะโดยใช้ธรรมชาติ กรณีศึกษาบ้านขุนสมุทรจีน
Share: